วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

หลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น


รูปแบบของรัฐ

·       ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

รูปแบบการปกครอง

·       ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ที่มาและผู้ใช้อำนาจอธิปไตย

·       อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

หลักการใช้อำนาจอธิปไตย

·       องค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

หลักความเสมอภาคของประชาชนชาวไทย

·       ปวงชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน

หลักความเป็นกฎหมายสูงสูดของรัฐธรรมนูญ

·       รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น ใช้บังคับมิได้

สถาบันพระมหากษัตริย์

·       ไม่เปลี่ยนแปลง – เพียงเพิ่มหลักการให้สอดคล้อง รธน. ชั่วคราว ว่า -
การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำต่อพระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ และในระหว่างที่ยังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ ให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็น
ไปพลางก่อนได้

หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

·       เปลี่ยนวิธีการรับรองและคุ้มครองใหม่ จากเดิมที่รับรองและคุ้มครองเฉพาะสิทธิและเสรีภาพเฉพาะที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น – เป็นว่า นอกจากสิทธิและเสรีภาพสำคัญ ๆ ที่มีบทบัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมาย บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำได้และได้รับ
การคุ้มครอง
เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้กว้างขวางมากขึ้น ตามแนวมาตรา 5 ของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ของฝรั่งเศส อันเป็นหลักสากล (ใหม่) ไม่ต้องเขียนจาระไนแบบเดิม ๆ ซึ่งการเขียนแบบเดิมนั้นจะมีผลในทางลบต่อประชาชน
โดยหากผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนสิทธิหรือเสรีภาพอะไรไว้ เวลาศาลตีความก็จะยึดเฉพาะสิทธิและเสรีภาพที่มีเขียนไว้เท่านั้น ถ้าไม่เขียนไว้ก็จะวินิจฉัยว่าไม่มีสิทธิหรือเสรีภาพเช่นนั้นซึ่งไม่ใช่ความประสงค์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการรับประกันสิทธิและเสรีภาพทุกประการของประชาชน ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
·       กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลให้ชัดเจนว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพต้อง (1) ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อ
ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ (2) ไม่กระทบกระเทือนหรือ
เป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและประชาชน และ (3)
ไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น – ไม่ใช่ใช้สิทธิเสรีภาพกันอย่าง
ไม่มีขอบเขต ไม่คำนึงถึงประเทศชาติ สังคม และผู้อื่นเหมือนที่ผ่าน ๆ มา
·       กำหนดให้รัฐจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนได้เฉพาะกรณี
ที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น และกฎหมายที่จะตราขึ้นต้องจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขไว้เป็นการเฉพาะ
ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ กฎหมายนั้นต้อง (1) ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และ (2) จะกระทบกระเทือนต่อศักดิ์ศรี
ความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ – ซึ่งตามหลักสากลนั้น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือ
inherited dignity หมายถึง “บรรดาสิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์มีติดตัวมาแต่กำเนิด” – ไม่ใช่ศักดิ์ศรีที่หมายถึงเกียรติศักดิ์ตามความหมายในพจนานุกรม – ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญนี้รับรองสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ไว้เป็นหมวดหนึ่งต่างหาก  ดังนั้น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงยังคงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ได้หายไปไหน
·       สำหรับหลักการตรากฎหมายนั้น กำหนดให้กฎหมายต้องมีผลใช้บังคับ
เป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย
·       ประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่ได้รับรองไว้ในปฏิญญาสากล
ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคี

หน้าที่ของปวงชนชาวไทย 10 ประการ

·       พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
·       ป้องกันประเทศ และรักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ รวมตลอดทั้งสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
·       ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
·       เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ
·       รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ
·       เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใด
ที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม (ใหม่)
·       ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ
·       ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์ และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (ใหม่)
·       เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ
·       ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ (ใหม่)

กำหนดให้มี “หน้าที่ของรัฐ” ขึ้น (ใหม่)

          ประกอบด้วย (1) หน้าที่พื้นฐาน และ (2) หน้าที่ในการทำให้สิทธิของประชาชนเป็นสิ่งที่ “จับต้องได้” ไม่ใช่เขียนให้เป็นสิทธิของประชาชนลอย ๆ เหมือนที่ผ่าน ๆ มา

           1. หน้าที่พื้นฐาน
·       รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย ความมั่นคงแห่งชาติ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
·       รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

          2. หน้าที่ทำให้สิทธิของประชาชน “เป็นจริง”
·       รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษาก่อนวัยเรียนสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง และเมื่อถึงวัยที่ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ ทั้งมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย และในการจัดการศึกษาทุกระดับนั้น รัฐต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ และสามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดและศักยภาพของผู้เรียนซึ่งแตกต่างกัน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้จริง ไม่ใช่เรียนเพื่อ “ใบปริญญา” และให้เป็นผู้ซึ่งสามารถสร้างสังคมผาสุก และตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างเท่าทัน
·       รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง - ไม่ใช่เพียงทั่วถึง แต่ไม่มีคุณภาพ – ที่กล่าวอ้างว่าสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขหายไปนั้นจึงเป็นการบิดเบือนโดยจงใจ
·       รัฐมีหน้าที่ต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ต้องคิดยาว ๆ ถึงลูกหลาน ไม่ใช่หวังผลระยะสั้นตามที่ทำ ๆ กันมา
·       รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยมีหน้าที่ต้องสอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน และหลักการกระจายอำนาจ (สิทธิมีส่วนร่วมของประชาชนเดิม)
·       ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าในทางใด รัฐมีหน้าที่ต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และถ้าเกิดผลกระทบขึ้น รัฐต้องเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า ประชาชนและชุมชนยังคงมีสิทธิที่จะดำเนินการเองและมีส่วนร่วมกับรัฐเหมือนเดิม – ไม่ได้หายไปไหน
·       ในการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ ถ้าการนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข วิถีชีวิตหรือสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องนั้น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วย ตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ประชาชนและชุมชนจึงยังคงมีสิทธิที่จะดำเนินการเองและมีส่วนร่วมกับรัฐเหมือนเดิม – ไม่ได้หายไปไหน
·       รัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการ และมีหน้าที่ต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวโดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติตามหลัก Open Government Doctrine เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และป้องกันการทุจริต ประชาชนและชุมชนยังคงมีสิทธิที่จะดำเนินการเองและมีส่วนร่วมกับรัฐเหมือนเดิม – ไม่ได้หายไปไหน
·       รัฐมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรของดาวเทียมอันเป็นทรัพยากรของชาติ ให้เป็นประโยชน์ของชาติและประชาชน โดยการจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่หรือสิทธิในวงโคจรตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์ด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ
·       รัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและต้องส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
เพราะประชาชนทุกคนเป็นผู้บริโภค
·       รัฐมีหน้าที่ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐ มีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ไม่สร้างภาระรุงรังหนักหนาสาหัสแก่ลูกหลานในอนาคต ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
·       รัฐมีหน้าที่ต้องใช้มาตรการและกลไกเพื่อขจัดการทุจริตและประพฤติ
มิชอบในวงราชการทุกรูปแบบ

          ขอให้เข้าใจตรงกันก่อนนะว่า “หน้าที่” ไม่ใช่ “อำนาจ” อย่างที่มีใครพูด ๆ กัน เพราะหน้าที่เป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” แต่ถ้า “อำนาจ” จะทำหรือไม่ทำก็ได้ – การพูดว่า
ตัดสิทธิประชาชนไปเป็นอำนาจรัฐ – จึงเป็นการพูดที่บิดเบือน – ไม่ทราบว่าจงใจบิดเบือน หรือไม่รู้ว่าหน้าที่กับอำนาจนั้นแตกต่างกัน กันแน่
          ถ้ารัฐ “ไม่ทำหน้าที่” ข้างต้น ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง หรือจะไปร้อง ปปช. ว่าผู้เกี่ยวข้องจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็ได้

แนวนโยบายแห่งรัฐ

          ยังคงแนวนโยบายแห่งรัฐไว้เพื่อช่วยรักษาไว้ซึ่งความต่อเนื่องกันโดยสม่ำเสมอ
ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่อ
เป็นแนวทางให้รัฐดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ
ที่สำคัญคือ
·       จัดให้มี “ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นแนวทางเป็นเป้าหมายการพัฒนาของประเทศที่ชัดเจนเหมือนประเทศอื่น ๆ เขา โดยยุทธศาสตร์ชาตินี้กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และยุทธศาสตร์ (Strategy) เรื่องที่ทุก ๆ คนในชาติ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องร่วมมือดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนของชาติในระยะยาว เช่น ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปีข้างหน้า โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นสากล ไม่ใช่กำหนดตัวชี้วัดเอาเอง เช่น ต้องทำให้คนไทยทุกคนมีรายได้ต่อหัวของประชากรไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของรายได้ต่อหัวของประชากรของประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปี เป็นต้น ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต่างรัฐบาลต่างทำ ต่างหน่วยงานต่างทำ เปะปะไปมาเหมือนที่ผ่าน ๆ มา และที่สำคัญที่สุดคือประชาชนต้องเห็นดีเห็นงามไปกับยุทธศาสตร์ชาติ และต้องร่วมมือกันกับรัฐเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
และยุทธศาสตร์ชาตินี้จะได้เป็นกรอบในการจัดทำแผนงานโครงการต่าง ๆ ของทุกรัฐบาลและทุกหน่วยงาน ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน มีการกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และตัวชี้วัดความสัมฤทธิ์ผลที่ชัดเจนและเป็นสากลด้วย เช่น ใช้ลำดับของประเทศในดัชนีของ
WEF หรือ IMD เป็นตัวชี้วัด เพราะเป็นสากล ไม่ใช้ดัชนีหรือตัวชี้วัดแบบไทย ๆ  เป็นต้น และไม่ใช่มีเพียงวิสัยทัศน์ที่เป็นนามธรรมแต่จับต้องไม่ได้อย่างที่ผ่าน ๆ มา โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และกฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการ
รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย
·       รัฐพึงส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศโดยถือหลักความเสมอภาค
ในการปฏิบัติต่อกัน และไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน
ให้ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ และคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติและของคนไทยในต่างประเทศ
·       รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ  และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร
·       รัฐพึงมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม
ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัดปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใด ๆ
·       รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และพึงเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายในคดีอาญา  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
·       อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น โดยในการคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมา
ช้านาน รัฐต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาในทุกกรณี และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วม
ในการดำเนินมาตรการหรือกลไกป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาดังกล่าวด้วย
·       จัดให้มีและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาศิลปวิทยาการให้เกิดความรู้
การพัฒนาการ และนวัตกรรม เพื่อความเข้มแข็งของสังคมและเสริมสร้างความสามารถของคนในชาติ
·       อนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และพึงจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
·       ส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน  ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย
·       เสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของสังคม รวมตลอดทั้งส่งเสริมและพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีจิตใจเข้มแข็ง รวมตลอดทั้งส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาให้ไปสู่ความเป็นเลิศและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
·       ให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้
ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว
·       จัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย
โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้
·       ส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานโดยเหมาะสมกับศักยภาพและวัย และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยในการทำงาน โดยได้รับสวัสดิการ รายได้ และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงานหรือยามชรานั่นเอง
·       จัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน (Inclusive Growth) อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่เป็นสากล สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ
·       ไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ
·       พัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินและงานของรัฐอย่างอื่น รวมตลอดทั้งการบริการประชาชน ให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และไม่เลือกปฏิบัติ ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good governance)
·       การบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
·       จัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพที่ไม่จำเป็นโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

ระบบเลือกตั้ง สส – กาบัตรเดียว

·       สส. เขต 350 คน/สส. บัญชีรายชื่อ 150 คน รวม 500 คน
·       วาระ 4 ปี
·       เลือกตั้งโดยตรงและลับ
·       ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาบัตรเดียว (ใหม่)
·       ที่ต้องให้มี สส. บัญชีรายชื่อเพราะ สส. เขตใช้ระบบใครได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง (First Passes the Post) ดังนั้น คะแนนของผู้ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งจำนวนมากจึงถูกทิ้งน้ำไป ซึ่งไม่เป็นธรรม เพราะในหลายกรณี คะแนนของผู้ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งทุกรายรวมกันแล้วกลับมากกว่าคะแนน
ผู้ได้รับเลือกตั้งเสียอีก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้มี สส. บัญชีรายชื่อขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ว่านี้
·       เพื่อความเป็นธรรม คะแนนเสียงทุกคะแนนจะถูกนำไปใช้ในการคำนวณจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่แต่ละพรรคพึงมี (แต่ไม่ใช่ทุกเสียงจะต้องได้ผู้แทน) โดยใช้วิธีบัญญัติไตรยางค์ธรรมดา หากพรรคใดได้ สส. เขตเกินจากจำนวน สส. ที่จะพึงมีแล้ว ให้ถือว่ามี สส. เท่านั้น - ไม่ได้รับ สส. บัญชีรายชื่ออีก - แต่ถ้าได้ สส. เขต น้อยกว่าจำนวน สส. ที่พึงมี ก็จะได้รับ สส. บัญชีรายชื่อจนครบจำนวน สส. ที่พึงมี ปัญหาคะแนนเสียงตกน้ำก็หายไป
·       ในระบบนี้ พรรคการเมืองต้องเฟ้นหาผู้สมัครที่ดีที่สุดในแต่ละเขตเพราะ
มีผลกระทบต่อคะแนนรวมที่แต่ละพรรคจะได้รับจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่คิดแบบเดิม ๆ ว่าถ้าไม่มีลุ้นในเขตใด จะส่งหมูเห็ดเป็ดไก่ที่ไหนไปสมัครก็ได้
อันเป็นการดูหมิ่นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และทำให้ผู้คนเบื่อการเมืองและการเลือกตั้ง และขาดความเชื่อมั่นและความศรัทธาในประชาธิปไตย
·       ยกเลิกการกาบัตรสองใบเพื่อความสะดวกแก่ประชาชน ไม่ใช่เพื่อเอื้อเฟื้อหรือกีดกันพรรคการเมืองใด แต่เป็นเพราะการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาที่ใช้บัตร 2 ใบ ชาวบ้านจำนวนมากสับสน กาผิดกาถูกจนมีบัตรเสีย
เป็นจำนวนมากเป็นล้านบัตร ซึ่งทำให้ผลการเลือกตั้งเบี่ยงเบนไป

คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. – ต้องเข้มเพื่ออนาคตของชาติ

          บุคคลดังต่อไปนี้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.
·       ติดยาเสพติดให้โทษ
·       เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
·       เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
·               เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
·       อยู่ระหว่างถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามคำพิพากษาหรือตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
·       ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
·       เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง
เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
·       เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
·       เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
·       เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนัน ในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เกณฑ์นี้ถือเป็นขั้นต่ำของคุณสมบัติผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน)
·       เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
·       เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
·       เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
·       เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลง
ยังไม่เกินสองปี
·       เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
·       เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
·       อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หน้าที่ สส

·       พิจารณาร่างกฎหมาย
·       ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
·       ปีหนึ่งมีประชุม 2 สมัย สมัยละไม่น้อยกว่า 120 วัน
·       สส. 1/5 สามารถเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ (เดิมเปิดอภิปรายทั้งคณะไม่ได้) แต่ให้ทำได้เพียงปีละครั้งเพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านเกเรใช้เป็นช่องทางในการป่วนการทำงานของรัฐบาล
·       สส. 1/10 สามารถเสนอญัตติเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการ
ลงมติได้ เพื่อเป็นช่องทางให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้
·       เพื่อให้รัฐสภาเป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างแท้จริง - ไม่ลงไปในถนนอีก - ถ้าผู้นำฝ่ายค้านเห็นว่ามีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้นำฝ่ายค้านจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้ ในกรณีนี้ คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุม แต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้ วิธีประชุมให้ประชุมลับ เพราะต้องการให้ฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายรับผิดชอบร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติ ไม่ใช่ใช้การถ่ายทอดสดเป็นเวทีหาเสียงและอภิปรายโจมตีกันไปมา (ใหม่)
·       ในเรื่องงบประมาณ สส. จะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการไม่ได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายได้ เว้นแต่รายการ (1) ส่งใช้ต้นเงินกู้ (2) ส่งใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ (3) ใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด
·       ห้าม สส. แปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้ตนมีส่วน
ในการใช้งบประมาณรายจ่าย (งบแปรญัตติ) ถ้ามีการกระทำดังกล่าว สส. 1/10 อาจเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ถ้าวินิจฉัยว่ามีการกระทำดังกล่าว ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวนั้นไม่มีผล และให้ สส. นั้นพ้นจากสมาชิกภาพ
นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น หากรัฐมนตรีกระทำการดังกล่าวเสียเอง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีผู้กระทำการหรือไม่ยับยั้งการกระทำนั้น (ใหม่)


ทำไมยังต้องมี สว

·       เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 สว ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็น
พี่เลี้ยงแก่ สส ที่มาจากการเลือกตั้งในพื้นที่ แต่เนื่องจากสมัยนั้นการศึกษาของประชาชนยังไม่ทั่วถึงและการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นรวดเร็วมาก สส ส่วนใหญ่จึงยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปกครอง
ในระบอบประชาธิปไตยและในการตรากฎหมาย จึงมีการสร้าง สว ขึ้นเพื่อเป็น “สภาพี่เลี้ยง” ของ สส โดยจะแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ
·       ต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ สว จาก สว แต่งตั้ง เป็น สว เลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อย่างเดียวกับ สส  การเลือกตั้ง สว โดยตรงนี้เอง
ที่ทำให้ สว ต้องอิงกับระบบการเมืองเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาได้ให้อำนาจแก่ สว ในการ “ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วย จึงมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จะเข้า “ครอบงำ” สว ดังที่เห็น ๆ กันอยู่ จึงยากเย็นนักที่ สว จะมีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
·       แม้หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ สว โดยใช้ระบบผสม กล่าวคือ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนส่วนหนึ่ง กับ สว
สรรหา อีกส่วนหนึ่ง ก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้น เพราะ สว เลือกตั้ง ยังคงอิงกับระบบการเมือง ส่วน สว สรรหานั้นขาดความยึดโยงกับประชาชน จึงไม่อาจแก้ไขความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของ สว ได้
·       คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า สว ยังคงมีความสำคัญสำหรับประเทศไทย แต่มิใช่ในฐานะสภาพี่เลี้ยงอย่างเดิม หากแต่เป็น “สภาเติมเต็ม” หรือ “สภาพลเมือง” โดยจะช่วยพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สส ให้รอบด้าน ตามหลักการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมในการตรากฎหมาย เพราะ สส เป็นตัวแทนพื้นที่และเป็นตัวแทนพรรค การพิจารณาร่างกฎหมายจึงยังขาดมุมมองของภาคส่วนอื่น
ที่หลากหลายของสังคมอันจะทำให้กฎหมายต่าง ๆ มีความรอบคอบ
รอบด้านมากขึ้น
·       นอกจากนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า การให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งนั้น ควรให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยเพราะจะมีผลเป็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี ของบุคคลด้วย อีกทั้งการให้อำนาจเช่นนั้นแก่ สว ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการแทรกแซง สว ในรูปแบบต่าง ๆ  ดังนั้น จึงมิได้กำหนดให้ สว มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป

ระบบการเลือก สว

·       สว 200 คน
·       เดิมใช้เลือกตั้งโดยตรงกับแต่งตั้งมีปัญหามาก เพราะที่มาจากการเลือกตั้งเกือบทั้งหมดจะอิงกับพรรคการเมืองเพราะต้องหาเสียง ต้องใช้หัวคะแนน การเมืองแทรกแซงได้ แต่ถ้ามาจากการแต่งตั้งก็ถูกกล่าวหาว่าขาดความ
ยึดโยงกับประชาชน
·       เปลี่ยนใหม่ ให้มาจากการเลือกกันเองของประชาชนพลเมืองผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือมีสถานะต่าง ๆ เช่น ผู้พิการ ฯลฯ หรือเคยทำงานในด้านต่าง ๆ จากทุกภาคส่วนที่หลากหลายของสังคม (All walks of life) (ใหม่)
·       เปิดกว้าง” ให้ประชาชนพลเมืองทุกคนซึ่งมีคุณสมบัติสมัครเข้ารับการเลือกได้โดยสะดวก เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนพลเมืองเข้ามา “มีส่วนร่วมโดยตรง” ในการใช้อำนาจอธิปไตย แล้วให้ผู้สมัครแต่ละด้านเลือกกันเองให้ได้ 200 คน โดยให้เลือกไขว้กลุ่มเพื่อป้องกันการฮั้วกัน (ใหม่)

หน้าที่ สว

·       ไม่ใช่สภาพี่เลี้ยงของ สส อย่างเดิม หากแต่เป็น “สภาเติมเต็ม” โดยจะช่วยพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สส ให้รอบด้าน เพราะเป็น
ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือเคยทำงานในด้านต่าง ๆ จากภาคส่วนที่หลากหลายของสังคม
·       เห็นชอบการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

ที่มา นรม.

·       ในการหาเสียง พรรคต้องแจ้งชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอเป็น นรม. ต่อ กกต. ด้วย พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ และในการหาเสียง ต้องประกาศให้ประชาชนทราบรายชื่อดังกล่าวด้วย (ใหม่)
·       รายชื่อที่เสนอ พรรคเป็นผู้คัดเลือกและเสนอ จะเสนอจากผู้เป็นหรือไม่เป็นสมาชิกพรรคก็ได้ และจะเป็น สส หรือไม่ก็ได้  เป็นเอกสิทธิ์ของพรรคที่จะตัดสินใจ และพรรคต้องรับผิดชอบต่อสมาชิกพรรคและประชาชนในการตัดสินใจนั้น (ใหม่) – ที่ผ่านมาประชาชนไม่มีสิทธิรู้หรอกว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี – คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงขยายให้ประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ด้วย เพราะเกรงว่าจะมีคุณโม่งหรือคุณแอบมาจากที่ไหนก็ไม่รู้มานเป็นนายกฯ – ถ้าพรรคเสนอคนนอก และประชาชนไม่ต้องการ
คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็อย่าไปเลือกพรรคนั้น – มีเท่านั้นเอง
·       ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี ทั้งต้องมีหนังสือยินยอมให้พรรคเสนอชื่อ – การยินยอมให้เสนอชื่อเกินหนึ่งพรรค การยินยอมนั้นเป็นโมฆะ (เพิ่มขึ้นใหม่)
·       สส. เป็นผู้เลือก นรม. จากรายชื่อในบัญชีของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็น สส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน สส. ทั้งหมด (อย่างน้อย 25 คน)

  
คุณสมบัติ นรม.

          1. นอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับ สส. ดังกล่าวข้างต้นแล้ว นรม. ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม “เพิ่มเติม” ดังต่อไปนี้ด้วย
·       มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
·       มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
·       สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
·       มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
·       ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง
·       ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
·       ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือเพราะเหตุแทรกแซงราชการมาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

          2. ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ศาลรัฐธรรมนูญเป็น
ผู้วินิจฉัย ซึ่งก็เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เดิมแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่

ครม.

·       นรม. 1 และ รมต. อื่นอีกไม่เกิน 35 คน
·       จะเป็น สส. หรือไม่ก็ได้
·       ครม. ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ
·       นโยบายของ ครม. ต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ
·       ในการบริหารราชการแผ่นดิน ครม. ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ด้วย (เพิ่มขึ้นใหม่)
                   (1) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม
                   (2) ใช้จ่ายเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
                   (3) ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
                   (4) สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก
·       รมต. ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการตามนโยบายของ ครม.
·       ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ ครม. เห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของ สส. และ สว.  นรม.จะขอให้ประธานรัฐสภาเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติก็ได้
·       ครม. อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใด ๆ อันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
·       ครม. พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เมื่อ
                   (1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
                   (2) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
                   (3) คณะรัฐมนตรีลาออก
                   (4) พ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการ
แปรญัตติงบประมาณ (ใหม่)
·       ครม. ที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (ครม. รักษาการ) ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (ใหม่)
                   (1) ในกรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะความเป็นรัฐมนตรีของ นรม. สิ้นสุดลงหรือ ครม. ลาออก และเป็นกรณีที่ไม่เกี่ยวกับการทุจริต ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ - แต่หากเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการทุจริต หรือพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแปรญัตติงบประมาณ - ครม. ที่พ้นจากตำแหน่งจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน โดยให้ปลัดกระทรวงคัดเลือกกันเองให้คนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี
                   (2) ในกรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
·       ครม. รักษาการ ต้อง
                    (1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพัน ครม. ชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี (เพิ่มขึ้นใหม่)
                   (2) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน
                   (3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน
                   (4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต. กำหนด
·       ครม. มีอำนาจตรา พรก. ตามหลักการเดิม แต่ พรก. เกี่ยวกับการเงินและภาษีอากรที่ต้องพิจารณาเป็นการด่วนและลับนั้น กระทำได้ทั้งในและนอกสมัยประชุม (เปลี่ยนแปลงใหม่)
·       ครม. ต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามหลักการเดิมของ รธน. 50
·       ในการทำหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา  ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
·       นอกจากนี้ ให้รัฐสภามีอำนาจตราข้อบังคับเพื่อกำหนดให้หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาเพิ่มเติมด้วยก็ได้เพื่อความโปร่งใสและแก้ปัญหาในทางปฏิบัติในปัจจุบัน โดยต้องระบุประเภทหรือขอบเขตของหนังสือสัญญาดังกล่าวให้ชัดแจ้ง และต้องกำหนดวิธีการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย (เพิ่มขึ้นใหม่)
·       พระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา การประกาศสงคราม ฯลฯ ยังคงเดิมทุกประการ

ศาลรัฐธรรมนูญ

·       จำนวน 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
·       มาจากศาลฎีกา 3 คน ศาลปกครองสูงสุด 2 คน ศาสตราจารย์สาขานิติศาสตร์ 1 คน ศาสตราจารย์สาขารัฐศาสตร์/รัฐประศาสนศาสตร์ 1 คน ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินระดับอธิบดีขึ้นไป 2 คน
·       วาระ 9 ปี
·        หน้าที่หลัก (1) วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมาย (2) วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ (ใหม่) (3) วินิจฉัยการกระทำอันเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ (4) วินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ สส และ สว และการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรี (5) วินิจฉัยการกระทำอันเป็นการแปรญัติติกฎหมายงบประมาณที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ (6) วินิฉัยว่าร่างกฎหมายที่เสนอใหม่มีหลักการซ้ำกับร่างกฎหมายที่ถูกยับยั้งหรือไม่ (7) วินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาใดเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางหรือไม่ (ใหม่) (8) วินิจฉัยว่าบุคคลใดถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรรมนูญคุ้มครองไว้หรือไม่
·       หน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระนั้น เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นอีกทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤติรัฐธรรมนูญ (ใหม่)
·       กำหนดกระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน โดยให้เป็นไปตามตัวอักษร (Literal Rule) หรือตามความมุ่งหมาย (Golden Rule) ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแก่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ใหม่)
·       ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ - ถูกตรวจสอบโดย ปปช. เหมือนกับองค์กรอื่น ๆ – โดยถ้ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้หน้าที่และอำนาจโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้ ปปช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อวินิจฉัย (ใหม่)

องค์กรอิสระ

·       ก่อนปี 2540 รัฐธรรมนูญไทยไม่มีองค์กรอิสระมาก่อน แต่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ประชาชนชาวไทยชูธงเขียวสนับสนุนกันทั้งประเทศ ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระขึ้น และรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผ่านการประชามติก็รับรองความีอยู่และหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระสืบมา กล่าวได้ว่า องค์กรอิสระเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ตามความต้องการของประชาชน จึงยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่สิ่งใหม่ และไม่ใช่ว่าไม่มีความยึดโยงกับประชาชนตามที่มีการกล่าวอ้าง
·       องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อดำเนินการหรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และร่วมกันกำหนด “มาตรฐานทางจริยธรรม” ที่จะนำไปใช้บังคับแก่ สส. สว. และ ครม. ด้วย (ใหม่)
·       การใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระต้องเป็นไปโดยเที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ (ใหม่)
·       มาจากการสรรหาหรือคัดเลือก แล้วแต่กรณี
·       ในการสรรหาจะมีคณะกรรมการสรรหามีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน (คล้ายกับ รธน. 50 )
·       ผู้ได้รับการสรรหาต้อง (1) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (2) มีความรับผิดชอบสูง (3) มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ (กล้าตัดสินใจ) และ (4) มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม (Role model) (ใหม่)
·       ถ้าองค์กรอิสระแห่งใดไต่สวนกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนแล้วพบว่า
มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการกระทำนั้นอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระแห่งอื่นด้วย ให้องค์กรอิสระนั้นส่งเรื่องให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ไปพร้อม ๆ กัน
(ใหม่)
·       องค์กรอิสระแต่ละแห่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการโดยเฉพาะ
โดยให้มีผู้บังคับบัญชาสูงสุดคนหนึ่งซึ่งแต่งตั้งโดยความเห็นชอบขององค์กรอิสระแต่ละแห่ง เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารงานของหน่วยงานนั้น
(ใหม่)

  
กกต.

·       จำนวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
·       มาจากการสรรหา 5 คน มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน
·       วาระ 7 ปี
·       มีหน้าที่จัดหรือดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้ง สส และการเลือก สว ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จัดหรือดำเนินการให้มีการจัดการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย
·       ก่อนการเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัคร สส หรือ สว คนใดมีพฤติการณ์ที่อาจทำให้การเลือกตั้งหรือการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้มีอำนาจสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นการชั่วคราว และให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือการเลือกในครั้งนั้น รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย (ใหม่)
·       ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งหรือการเลือก ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้งหรือการเลือก หรือมีการกระทำที่อาจทำให้การเลือกตั้งหรือการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้มีอำนาจสั่งระงับการเลือกตั้งหรือการเลือกในเขตหรือหน่วยเลือกตั้งที่ปรากฏเหตุดังกล่าว และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตหรือหน่วยเลือกตั้งนั้น (ใหม่)
·       สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม (ใหม่)
·       ผู้ใดกระทำการอันมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อมีคำสั่งเพิกถอน “สิทธิเลือกตั้ง” ของผู้นั้นชั่วคราว – แต่ถ้าปรากฏว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือก หรือ สส หรือ สว รายใดมีพฤติการณ์ดังกล่าว ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง (ถ้าเป็น สส หรือ สว อยู่) และให้ตัด “สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” ของผู้นั้นตลอดชีวิต และให้เพิกถอน “สิทธิเลือกตั้ง” ของผู้นั้นตามระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร เพื่อลงโทษผู้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการเลือกตั้งอันเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย (ใหม่)
·       มีอำนาจสั่งงดการลงคะแนนหรืองดการออกเสียงประชามติในหน่วยเลือกตั้งที่ กกต. พบเห็นว่าอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือการออกเสียงประชามติไม่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย (ใหม่)
·       ต้องทำงานเชิงรุก
·       ต้องประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อมีผู้ได้รับเลือกแบบแบ่งเขตถึงร้อยละ 95 เพื่อให้เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ ไม่ใช่ประกาศกระปริบกระปรอยแบบเดิม ๆ

ผู้ตรวจการแผ่นดิน

·       จำนวนไม่เกิน 3 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
·       มาจากการสรรหา
·       วาระ 6 ปี
·       หน้าที่ (1) สืบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือนอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น
·       หน้าที่ (2) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน
·       ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่า (1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ (2) กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดย
ไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 

ปปช.

·       จำนวน 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
·       มาจากการสรรหา
·       วาระ 9 ปี
·       มีหน้าที่ทำนองเดียวกับ ปปช. ปัจจุบัน
·       กำหนดเวลาดำเนินการกรณีไต่สวนข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ขอขยายเวลาครั้งละไม่เกิน 4 เดือน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 2 ปี เพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น (ใหม่)
·       ปปช. จะมอบอำนาจให้ กรรมการ ปปช. เจ้าหน้าที่ ปปช. หรือ ปปท. ไต่สวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานแทนได้เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น (ใหม่)
·       กรณีใดมีมูลความผิดอาญา ให้ ปปช. ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าศาลพิพากษาว่าผิดจริง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ทรัพย์สินที่ได้มาหรือที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้น ให้ริบเสียทั้งสิ้น (ใหม่)
·       กรณีใดไม่มีมูลความผิดอาญา แต่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา
มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
อย่างร้ายแรง ให้ ปปช. เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต (ใหม่)
·       ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในทุกกรณี (ใหม่)
·       ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องต่อศาลใด เมื่อศาลรับเรื่องไว้พิจารณาหรือประทับ
รับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ถ้าต่อมาผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาล ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ (ใหม่)
·       การปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ถ้าเป็นกรณีที่ที่ทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้นมีมูลค่าสูงอย่างมีนัยสำคัญ ให้ ปปช. ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ใหม่)
·       ปปช ก็ต้องถูกตรวจสอบได้ – โดยต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเหมือนกับองค์กรอิสระและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น
·       นอกจากนี้ สส. สว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1/5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือประชาชน
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาต่อประธานรัฐสภาว่า กรรมการ ปปช. ผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ
ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้หน้าที่และอำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
·       หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่
ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องต่อประธานศาลฎีกาเพื่อขอให้
ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตั้ง “คณะผู้ไต่สวนอิสระ” จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อไต่สวน
หาข้อเท็จจริง
·       ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมเสนอความเห็นภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
·       ถ้าคณะผู้ไต่สวนอิสระเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา ให้มีคำสั่งยุติเรื่อง คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด
·       แต่ถ้าคณะผู้ไต่สวนอิสระเห็นว่า กรรมการ ปปช. ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่ง ในกรณีเช่นนี้ ให้องค์คณะของศาลฎีกาประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนเก้าคน
·       เมื่อศาลฎีการับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
·       ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องพิพากษาพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหา และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาเป็นเวลาสิบปีด้วย
·       ในกรณีที่กรรมการ ปปช ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และมีกรรมการ ปปช. เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการ ปปช. ทำหน้าที่แทน

คตง.

·       จำนวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
·       มาจากการสรรหา
·       วาระ 6 ปี
·       มีหน้าที่วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินและกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ให้คำปรึกษา แนะนำ และเสนอแนะให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน และวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานของรัฐที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน
·       ให้มี ผวก. ตรวจเงินแผ่นดินซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยได้รับการเสนอชื่อจาก คตง. ทำหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินตามนโยบายและหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดย ผวก. ต้องรับผิดชอบต่อ คตง. ในการปฏิบัติหน้าที่
·       หน่วยรับตรวจสามารถอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินได้ โดยยื่นต่อ คตง.
·       ถ้า ผวก. ตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินใดไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังหรือส่อไปในทางทุจริตและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ให้แจ่ง คตง. เพื่อพิจารณา ถ้า คตง. เห็นด้วย ให้ประชุมร่วมกับ กกต. และ ปปช. เพื่อพิจารณา ถ้าเห็นพ้องต้องกันก็อาจเตือนไปยังรัฐบาลได้ เพื่อช่วยกันดูแลมิให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง – ไม่ใช่ให้จ้องจับผิดกัน - ซึ่งรัฐบาลจะทำตามคำเตือนหรือไม่ก็ได้   

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

·       7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
·       มาจากการสรรหา
·       ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนต้องมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย
·       มีหน้าที่ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลร้ายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง
·       หน้าที่จัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการป้องกันแก้ไขและเยียวยาต่อไป
·       หน้าที่เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
·       หน้าที่ชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม
·       หน้าที่สร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ความตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน
·       ไม่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการแต่งตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักการปารีส (Paris Principles) ว่าด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับชาติ

ศาล และองค์กรอัยการ

·       หลักการเดิม เขียนให้สั้นลง
·       แยกศาลรัฐธรรมนูญเป็นหมวดใหม่ หมวดศาลคงมีเพียงศาลยุติธรรม    ศาลปกครอง และศาลทหาร
·       รับรองว่าผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งต้องให้เป็นไปโดยรวดเร็ว
เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง
·       วางหลักประกันความเป็นอิสระว่า การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับ
ผู้พิพากษาหรือตุลาการต้องมีความเป็นอิสระ และดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการตามที่กฎหมายบัญญัติ
·       รับรองความมีอยู่และความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอัยการ และเพื่อให้พนักงานอัยการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์และการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง มีอิสระในการสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรมเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน  

มาตรการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์

          1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้ เว้นแต่ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน และมิให้ใช้บังคับในกรณีที่ สส หรือ สว รับหรือดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา หรือกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกิจการของสภา หรือกรรมการตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
·       ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
·        ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
·        ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ
·       ไม่กระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซง การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ

          2. กรณีตาม 1. ใช้แก่คู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา และบุคคลอื่นซึ่งมิใช่คู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภานั้น ที่ดำเนินการในลักษณะผู้ถูกใช้ ผู้ร่วมดำเนินการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาให้กระทำการตามมาตรานี้ด้วย

          3. สส และ สว ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น สส หรือ สว กระทำการ
ใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้
·       การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
·       กระทำการในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นการดำเนินการในกิจการของรัฐสภา
·       การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

          4. กรณีตาม 1. และ 2. ใช้บังคับแก่รัฐมนตรีด้วย เว้นแต่
·       การดำรงตำแหน่งหรือการดำเนินการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่หรืออำนาจของรัฐมนตรี
·       การกระทำตามหน้าที่และอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ

          5. นอกจากกรณีตาม 4. รัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบตามที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรม
          6. รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด ถ้าประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าว ให้แจ้งประธาน ปปช. ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้โอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว ให้แก่นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การปกครองส่วนท้องถิ่น

·       กำหนดให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นตามวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กฎหมายบัญญัติ
·       การจัดตั้ง อปท รูปแบบใดให้คำนึงถึงความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกัน
·       อปท มีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ใช่คิดถึงการหารายได้อย่างเดียว
·       รัฐต้องดำเนินการให้ อปท. มีรายได้ของตนเองให้สามารถจัดทำบริการสาธารณะได้อย่างเพียงพอ
·       การจัดทำบริการสาธารณะใดที่สมควรให้เป็นหน้าที่โดยเฉพาะของ อปท แต่ละรูปแบบ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติโดยสอดคล้องกับรายได้ของท้องถิ่น ซึ่งต้องกำหนดขั้นตอนในการกระจายอำนาจของส่วนราชการให้แก่ท้องถิ่นด้วย
·       อปท ต้องมีอิสระในการบริหาร การจัดบริการสาธารณะ และการเงินและการคลัง
·       การกำกับดูแล อปท ให้ทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริต และการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
·       สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง
·       ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น หรือวิธีอื่นตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แต่วิธีอื่นดังกล่าวต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย (เพิ่มขึ้นใหม่)
·       ในการดำเนินงาน อปท สภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูลและดำเนินการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ (เพิ่มขึ้นใหม่)
·       ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน อปท ยังคงมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การแก้ไขเพิ่มเติม รธน

·       ห้ามแก้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
·       รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน
·       การรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (ใหม่)
·       การพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย
·       การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และในจำนวนนี้ต้องมี สส จากพรรคการเมืองทุกพรรค
ที่มีสมาชิกอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าสิบคน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวน สส ของแต่ละพรรค และ สส ของพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าพรรคละ
สิบคนถ้ารวมกันทุกพรรคแล้วมีจำนวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ
ทุกพรรคดังกล่าว และมี สว เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1/3 ของจำนวน สว ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ กล่าวคือ ทุกฝ่ายต้องเห็นดีเห็นงามกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้เสียงข้างมากลากไปอย่างเดียว แต่ไม่จำต้องเห็นด้วย
ทุกคน – โดยกลไกนี้รัฐธรรมนูญไม่ใช่แก้ยากหรือแก้ไม่ได้ – เพราะถ้าเป็นเรื่องดีงามที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ก็คงเห็นดีเห็นงามให้แก้กัน – แต่ถ้าแก้เพื่อประโยชน์ของพรรคพวกละก็ เห็นที่จะยากตามที่พูด ๆ กันนั่นแหละ
·       เมื่อมีการลงมติวาระ 3 แล้ว ให้รอไว้ 15 วันแล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
·       ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 หมวด 2 หรือหมวด 15 หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจหรือหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามอำนาจหรือหน้าที่ได้ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงให้ดำเนินการต่อไป
·       ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย สส หรือ สว หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1/10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญได้  และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้ (ใหม่)

สรุปบทเฉพาะกาลเบื้องต้น

·       บทเฉพาะกาลเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับชั่วคราวในช่วงระหว่างที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่จนถึงวันที่มีรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้แล้วเท่านั้น
·       รองรับสถานะขององค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ว่ายังคงอยู่ต่อไปและปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้
·       ในส่วนการปฏิรูปการศึกษา ได้กำหนดให้ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีร่วมกันดำเนินการและผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาของชาติให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ของรัฐ โดยเร็ว โดยจะต้องจัดทำแนวทางการปฏิรูปให้แล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
·       ส่วนการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายนั้น ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง โยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพ และภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตนภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
·       รับรองความมีอยู่และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อในระหว่างที่ยังไม่มีรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้เคยรับรองไว้แล้ว



  

คณะผู้จัดทำ

นายอัชพร จารุจินดา
นายปกรณ์ นิลประพันธ์
นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง
นายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร
นายวราห์ เห่งพุ่ม