วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Divergence ของคนในสังคมไม่น่าจะมาจาก Generation gap อย่างเดียว โดยปกรณ์ นิลประพันธ์

 เมื่อก่อนจำได้ว่าเมื่อตอนที่การสื่อสารของบ้านเรากำลังเปลี่ยนจากยุค 2G เป็น 3G มีโฆษณาชิ้นหนึ่งบอกว่าเทคโนโลยี 3G 4G 5G และอีกหลาย  G จะทำให้ผู้คนเข้าใกล้ (convergence) กันมากขึ้น 


แต่จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ผู้เขียนเห็นว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ผู้คนถ่างออกจากกัน (Divergence) มากกว่าเข้าใกล้กันอย่างที่เคยคิดโฆษณากันไว้


โฆษณาไม่ผิดหรอกครับ เพราะการสื่อสารที่ดีขึ้นทำให้เราติดต่อกันได้สะดวกในราคาต่ำอย่างที่พูดไว้จริง  และทำให้รุ่นใหญ่อย่างผู้เขียนสามารถตามหาเพื่อนเก่าแก่ที่แยกย้ายกันไปตามกรรมของแต่ละคนเมื่อเรียนจบชั้นประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย เมื่อหลายสิบปีก่อนได้อย่างง่ายดาย


คงจำได้นะครับว่าเมื่อก่อนมือถือจะหน้าตาเหมือนกันหมดทั้งรูปร่างหน้าตาและโปรแกรมต่าง  วางรวม  กันไม่รู้ของใครเป็นของใคร เสียงเรียกเข้าดังทีทุกคนตบกระเป๋าโดยพร้อมเพรียง ของเราหรือเปล่านะ จนต้องไปหาสติกเกอร์มาติดบ้างเปลี่ยนเคสบ้าง เพื่อสร้างเอกลักษณ์ ต่อมาก็เริ่มพัฒนาให้ปรับแต่งหน้าจอได้บ้างเริ่มเปลี่ยนเสียงเรียกเข้าและเสียงรอสายได้บ้างก็เก๋ขึ้น มาถึงตอนนี้มีแต่โครงมือถือเท่านั้นที่เหมือนกัน ทุกอย่าง customize ได้หมดตามความชอบส่วนตัว มีแอปพลิเคชั่นต่าง  ออกมาให้ใช้มากมายมหาศาล


ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้เองทำให้แต่ละคนมี “โลกส่วนตัว” ขึ้นอีกคนละใบหรืออาจจะหลายใบ เพราะเราสามารถ customize ฟีเจอร์ต่าง  ได้อย่างที่เราต้องการ บางคนมีอุปกรณ์สื่อสารหลายชิ้น ก็มีโลกหลายใบหน่อย เพราะจะตั้งค่าต่าง  ไว้ไม่เหมือนกัน ลำบากจำด้วย


โลกส่วนตัวที่ว่านี้ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่มีจริตต่างกันไป โซเชี่ยลเน็ตเวอร์คนี่ยิ่งสามารถตอบสนองจริตของแต่ละคนได้ง่ายเพราะเขาใช้ alghorithm ที่ทำให้เราสามารถเลือกเสพย์เรื่องหรือข้อมูลที่เราชอบหรือสนใจ ซึ่งก็ไม่ผิดหรอกครับ เพราะใครเล่าจะเสพย์เรื่องหรือข้อมูลที่ตัวเองไม่สนใจ และเจ้า alghorithm นี่ก็แสนจะฉลาดและฉลาดขึ้นทุกวัน เพราะรู้ใจด้วยว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มันก็จะสรรหาเรื่องหรือข้อมูลที่เราชอบมา “ป้อน” เราอยู่ตลอดเวลา


ข้อไม่ดีของเรื่องนี้ก็คือว่ามันทำให้เราแทบจะไม่ได้รับฟังข้อมูลหรือความคิดเห็นที่แตกต่าง อันนี้นี่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของประชาธิปไตยเอาเสียเลย เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ทุกคนในสังคมต้องหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกันด้วยเหตุผล และร่วมกันตัดสินใจโดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคล อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯท่านหนึ่งถึงกับออกปากว่าสิ่งที่ท่านไม่ชอบในระบอบประชาธิปไตยคือมันบังคับให้ท่านต้องฟังในเรื่องที่ท่านไม่อยากฟัง แต่ท่านก็เห็นว่าข้อดีของมันก็คือการฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจะทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่าง  ละเอียดรอบคอบมากขึ้น


การเสพย์เฉพาะเรื่องหรือข้อมูลที่เราชอบอย่างเดียวนี่ทำให้เกิดอคติ (Bias) ได้ง่ายมาก  เพราะข้อมูลที่ชอบก็จะมีรูปแบบและเนื้อหาซ้ำ  หรือคล้าย  กันอยู่ตลอดเวลา แทบไม่แตกต่างจากการ propaganda ในยุคสงครามเย็น กรอกหูทุกวัน เผลอ จะเชื่อเอาโดยไม่รู้ตัว ทีนี้ถ้ามีใครแหลมเข้ามาแสดงความเห็นต่างในเรื่องที่เราชอบ ก็มีทางที่จะทำอยู่สองสามทาง ถ้าไม่ตอบโต้กลับไปแรง  (เพราะต่างไม่รู้จักมักจี่กันหรือ delete ข้อความนั่นทิ้งไปไม่ให้รกหูรกตา หนักหน่อยด่าตอบเสร็จก็unfollow หรือ unfriend มันไปเสีย จะได้ไม่มีข้อความแสลงใจเข้ามารบกวนโสตประสาทอีก คือปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างไปเลย ซึ่งพฤติกรรมนี้จะกลายไปเป็นการสร้าง “กลุ่มความคิดสุดโต่ง” ขึ้นได้ง่าย  ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก


เรียกว่า alghorithm สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งความคิดและพฤติกรรมของคน จากเดิมที่ยังต้องฟังเรื่องหรือความเห็นที่แตกต่างบ้างจากวิทยุ AM หรือ FM หรือทีวี ที่นั่งล้อมวงฟังกันในอดีต เป็นฟังเฉพาะเรื่องที่ตัวเองชอบหรือสนใจจากอุปกรณ์ส่วนตัวของตนเองที่ราคาถูกเหลือเชื่อ


ดังนั้น ในยุคดิจิทัลนี้ คนซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเดียวกันจึง divergence ออกจากกันมากขึ้นเรื่อย  และนับวันกลุ่มของความเห็นที่แตกต่างนี้จะหลากหลายมากขึ้น เพราะเจ้า alghorithm มันฉลาดขึ้นทุกที  จึงแยกคนเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยตามจริตของแต่ละคนได้ง่ายมาก อีกหน่อยจะเป็น Metaverse แล้วคงจะหนักหนากว่านี้เพราะโลกเสมือนมันตอบสนองความพึงพอใจหรือความสุขส่วนบุคคลที่โลกในความเป็นจริงไม่สามารถมีได้  และถ้าใช้มันมากเข้า ก็น่าจะมีอาการเหมือนคนติดยาเสพติด ไม่สนใจโลกจริง ติดอยู่ในโลกเสมือนที่จะทำอะไรก็ได้ “ตามใจฉัน” สำนึกต่อส่วนรวมจะขาดหายไป


เดี๋ยวนี้ไปไหนต่อไหนจะเห็นมนุษย์แต่ละคนก้มหน้าก้มตาถูไถอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองกันอย่างเมามันในทุกที่ทุกโอกาส ผู้เขียนเห็นหลายครอบครัวไปกินข้าวกันตามร้าน แต่ต่างคนต่างมีโลกส่วนตัว ไม่คุยกันเอง คุยกับใครอยู่ก็ไม่รู้ เงียบกริบเชียว ไม่เหมือนเมื่อตอนที่ยังไม่ล้ำสมัย เสียงคุยกันในร้านอาหารนี่จ้อกแจ๊กจอแจกันทีเดียว


การที่ผู้คนถ่างออกจากกันหรือ Divergence นี้ ผู้สันทัดกรณีจำนวนมากพยายามอธิบายโดยใช้ Generation gap แบ่งกลุ่มคนเป็นเจ็นนั้นเจ็นนี้ และอธิบายว่าแต่ละเจ็นอยู่ใน context ที่แตกต่างกัน จึงมีทัศนคติและแนวคิดที่แตกต่างกัน และเป็นรากฐานของความไม่เข้าใจกัน 


ด้วยความเคารพ ผู้เขียนมิได้คัดค้านแนวคิดนี้ เพียงแต่ต้องการนำเสนอว่ามันอาจไม่ได้เกิดจาก Generation gap อันเป็นข้อสรุปแบบกว้าง  เท่านั้น ปัจจัยอย่างการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล alghorithm และ Social network ก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป ถ่างออกจากกันมากขึ้น แม้กระทั่งใน Generation เดียวกันหากมีความชอบแตกต่างกัน และเป็นรากฐานของการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง อันนำมาซึ่งความแตกแยกของผู้คนในสังคมเหมือนกับที่ทีวีในยุคทีวีเสรีเคยทำได้มาแล้วในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา แต่การใช้เทคโนโลยีและ social network โดยขาดความรับผิดชอบจะส่งผลลึกถึงในระดับปัจเจก และทุกช่วงวัย


ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ digital literacy ให้แก่ผู้คนในสังคม และความรู้เท่าทันผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว


เผื่อจะช่วยกันคิดแก้ไขต่อครับ.