วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการร่างกฎหมาย 1

ปกรณ์ นิลประพันธ์[*]

                   ผู้เขียนรู้สึกเบื่อหน่ายทุกครั้งที่ได้ยินบรรดาผู้มีหน้าที่หรือชอบทำงานร่างกฎหมายทั้งที่ไม่เคยมีทักษะในการร่างกฎหมายกันเลย พูดถึงคำว่า “แบบกฎหมาย” กันพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะเมื่อมีใครถามขึ้นมาว่าเหตุใดจึงใช้คำนั้นคำนี้ในกฎหมาย และกูรูทั้งหลายตอบแบบกำปั้นทุบดินว่ามันเป็น “แบบกฎหมาย”

                  เมื่อผู้ซึ่งไม่เชี่ยวชาญถามต่อไปว่าทำไมมันจึงเป็น “แบบ” ท่านผู้เชี่ยวชาญก็จะอธิบายอย่างขึงขังต่อไปว่าคำนี้มีเขียนในกฎหมายนั้นกฎหมายนี้ หรือไม่ก็มีกฎหมายจำนวนมากที่เขียนอย่างนี้หรือใช้ถ้อยคำที่ว่านี้ มันจึงเป็นแบบ ผู้ซึ่งไม่เชี่ยวชาญอยู่แล้วจึงจมอยู่กับความพิศวงงงงวยของความลึกลับในศาสตร์และศิลป์ของการร่างกฎหมายต่อไป และหลายครั้งที่มีการนำไปกล่าวอ้างต่อว่า “ก็มันเป็นแบบ” เพราะผู้เชี่ยวชาญเขาบอกมาว่าอย่างนั้น

               เชื่อไหมครับว่าในบางครั้งที่กฎหมายใช้ถ้อยคำในเรื่องทำนองเดียวกันต่างกัน ผู้เชี่ยวชาญบางท่านถึงกับเสนอให้นับจำนวนเลยทีเดียวว่ากฎหมายใช้ถ้อยคำใดมากกว่ากัน แล้วเสนอต่อไปว่าให้ใช้ถ้อยคำที่ปรากฏในกฎหมายจำนวนมากกว่านั้นเป็น “แบบ” ที่นักร่างกฎหมายทุกคนต้องยึดถือต่อไป

                   ด้วยความเคารพ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับคำตอบเช่นว่านี้เท่าใดนักเพราะรู้สึกว่าเป็นคำตอบที่ไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย ฟังแล้วหงุดหงิด พักหลังนี้รู้สึกว่ามีคนทั่ว ๆ ไปที่หงุดหงิดกับคำตอบทุบดินเช่นนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เขาก็เริ่มไม่เชื่อมั่นในองค์ความรู้ของผู้ตอบและลุกลามมายังสถาบันต้นสังกัดอยู่เนือง ๆ ถ้าไม่แก้ไขประเดี๋ยวก็จะไปกันใหญ่ หรือหากใช้ภาษาฝรั่งแบบพัทยา อู่ตะเภา หรืออุดรเมื่อสมัยผู้เขียนยังเป็นละอ่อนอยู่นั้น ก็ต้องพูดว่า “Go so big”

                   โดยส่วนตัว ผู้เขียนได้รับการสั่งสอนว่าคำว่า “แบบ” (Form) นั้นเขาใช้กับ “โครงสร้าง” (Structure) ของร่างกฎหมาย ไม่ใช้กับถ้อยคำสำนวนอันเป็นส่วนเนื้อหา (Substance) ของกฎหมาย

                   แบบกฎหมายตามที่ท่านผู้ใหญ่กรุณาอบรมผู้เขียน เช่น แบบคณะกรรมการ หมายความว่า ถ้ากฎหมายวางกลไกให้ใช้ระบบคณะกรรมการแล้ว หมวดคณะกรรมการนี้ควรประกอบด้วยบทบัญญัติใดบ้างที่เป็นโครงสร้าง ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีบทบัญญัติที่ให้มีหรือจัดตั้งคณะกรรมการ องค์ประกอบของคณะกรรมการ เลขานุการของคณะกรรมการ การได้มาและการแต่งตั้งคณะกรรมการ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง องค์ประชุมและการประชุมคณะกรรมการ การลงมติ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ ค่าตอบแทนกรรมการและคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้งขึ้น หน่วยธุรการ (Secretariat unit) ของคณะกรรมการ เป็นต้น

                   สำหรับเนื้อหา (Substance) ของบทบัญญัติแต่ละมาตรานั้น ท่านผู้ใหญ่ไม่เคยสอนผู้เขียนสักทีว่ามีแบบ ท่านสอนผู้เขียนอยู่เสมอมาจนกระทั่งปัจจุบันว่าการใช้ถ้อยคำในกฎหมายนั้นเป็น “ลีลาการเขียน” (Style) ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทหรือเหตุผลของแต่ละมาตราของกฎหมายแต่ละฉบับ ว่าเหตุใดเขาจึงใช้ลีลานั้นในการเขียน จึงต้องไปค้นรายงานการประชุมแต่ละมาตราเพื่อหาเหตุผลว่าทำไมเขาถึงเขียนอย่างนั้นหรือใช้ถ้อยคำนั้นในการเขียนกฎหมาย ไม่ใช่นั่งเทียนคิดเองเออเอง  อย่างไรก็ดี ท่านผู้ใหญ่สอนว่าถ้ากฎหมายที่จะร่างขึ้นใหม่นั้นมีโครงสร้างทำนองเดียวกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เดิม เป็นเรื่องปกติที่ผู้ร่างกฎหมายจะใช้ลีลาการเขียนในทำนองเดียวกันกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากถ้อยคำสำนวนที่ว่านั้นเป็นที่เข้าใจแพร่หลายกันในหมู่ผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติกฎหมายอยู่แล้ว จะได้ไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นหลักตายตัวว่าถ้ามีโครงสร้างเหมือนกันแล้ว จะต้องใช้ลีลาการเขียนอย่างเดิมเสมอไป

                   ผู้เขียนเป็นเด็กดื้อที่ไม่ค่อยเชื่อใครง่าย ๆ จึงไปลองศึกษาเกี่ยวกับตำราการร่างกฎหมายของต่างประเทศก็พบว่าตรงกันกับหลักการที่ท่านผู้ใหญ่ได้กรุณาอบรมผู้เขียนมาโดยตลอดว่า Form กับ Style นั้นแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น ในเรื่องลีลาการเขียน (Style) หรือการใช้ถ้อยคำสำนวนในการเขียนกฎหมายนั้น ตำราการร่างกฎหมายที่ผู้เขียนยึดถือมาโดยตลอด คือ Legislative Drafting ของ G. C. Thronton อธิบายว่าต้องง่ายต่อความเข้าใจ (Simplicity) โดยควรใช้คำหรือความที่เป็นที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วเพื่อการสื่อสารที่ตรงกันและง่ายต่อการทำความเข้าใจ (more easily communicated and understood) นอกจากนี้ ควรใช้คำหรือความที่ตรงกับสิ่งที่ผู้ร่างกฎหมายต้องการ (Precision)

                   ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าเหตุที่นักร่างกฎหมายชอบยกขึ้นอ้างบ่อย ๆ ว่าถ้อยคำสำนวนของกฎหมายนี้เป็นแบบ จึงน่าจะมาจากการที่กูรูด้านการร่างกฎหมายของเรามีความสับสนระหว่าง Form กับ Style นั่นเอง

                   ผู้เขียนมีข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่านอกจากผู้ร่างกฎหมายต้องแยก Form กับ Style ให้ได้แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้สังคมเชื่อมั่นในตัวนักร่างกฎหมายก็คือผู้ร่างกฎหมายต้องมี “ความเข้าใจในสิ่งที่เขียน” ด้วย

                   เรื่องที่ผู้เขียนพบบ่อย ๆ ได้แก่การใช้คำว่า “ทะเบียน” (registration) ในกฎหมาย เชื่อไหมครับว่าผู้เขียนพบนักร่างกฎหมายจำนวนมากที่ไม่สามารถอธิบายความเป็นมาเป็นไป ค่าบังคับ และผลกระทบของระบบทะเบียนได้ และใช้ชีวิตที่แสนจะมีค่าอย่างวุ่นวายและสิ้นเปลืองไปกับการประกอบคำ ว่าตกลงจะใช้คำว่า “ตีทะเบียน” “ขึ้นทะเบียน” “ลงทะเบียน” หรือ “จดทะเบียน” กันดี เขาเกรงว่าถ้าตีก็จะเจ็บ จะใช้ขึ้นก็อาจมีคนท้วงว่าทำไม่ไม่ใช้ลง จะจดทะเบียนก็ต้องใช้มือเขียนแต่เดี๋ยวนี้เขาใช้คอมพิวเตอร์กันแล้ว ฯลฯ ลองคิดดูครับว่าถ้าเป็นอย่างนี้แล้วสังคมจะศรัทธานักร่างกฎหมายแค่ไหน

                   จริง ๆ ทะเบียนไม่ใช่เพียง “ถ้อยคำ” ในกฎหมาย แต่เป็น “ระบบ” ที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อการควบคุม หรือรับรองความถูกต้องของบางสิ่งบางอย่าง โดยในระบบทะเบียนนี้ รัฐจะเป็นผู้รับจดทะเบียนและเป็นผู้รับรองความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลที่ปรากฏในทะเบียนที่รัฐเก็บไว้ และมีนายทะเบียนเป็นผู้ดำเนินการแทนรัฐ

                   ทะเบียนนั้นมีสองแบบคือ Inscription กับ Transcription แบบแรกเป็นการควบคุมหรือรับรองทรัพย์บางชนิด เช่น ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ที่สำคัญบางประเภทและกฎหมายกำหนดให้มีทะเบียนเฉพาะกาล สัตว์ เป็นต้น แบบนี้จะมีการระบุรูปพรรณสัณฐานของตัวทรัพย์ในสมุดทะเบียนชัดเจน และมีการตีหรือประทับเลขทะเบียนไว้ที่ตัวทรัพย์ด้วย Inscription นี้มีรากมาจากการจารหรือจารึก (inscribe) ข้อความต่าง ๆ ที่ฐานของอนุสาวรีย์หรือรูปปั้นต่าง ๆ ของประเทศตะวันตก ส่วน Transcription มักใช้กับการควบคุมหรือรับรองความมีอยู่ จำนวน หรือสถานะของบุคคล เช่น Transcript ที่มหาวิทยาลัยออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ทะเบียนบ้านที่ออกให้แก่เจ้าบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเป็นทะเบียนแบบใด เมื่อได้จดทะเบียนแล้ว นายทะเบียนจะออกเอกสารคู่ฉบับให้ไว้แก่เจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ขอรับการรับรอง แล้วแต่กรณี ด้วยเพื่อนำไปใช้อ้างกับบุคคลที่สามว่าตนมีสิทธิในทรัพย์สินหรือเพื่อรับรองสถานะของตน เช่น โฉนดที่ดิน ทะเบียนเรือ ทะเบียนสัตว์พาหนะ transcript ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ เป็นต้น แต่ความถูกต้องของข้อมูลนั้น จะถือว่าข้อมูลที่ปรากฏในสมุดทะเบียนที่รัฐเก็บรักษาไว้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริง หากมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดแตกต่างไปจากที่ปรากฏในสมุดทะเบียน เจ้าของทรัพย์หรือบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลต้องขอให้นายทะเบียนดำเนินการแก้ไขข้อมูลในสมุดทะเบียนด้วย นายทะเบียนจะแก้ไขข้อมูลเองโดยพลการมิได้

                   เมื่อการใช้ระบบทะเบียนทำให้รัฐต้องรับผิดชอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลที่มีการจดทะเบียน จึงต้องมีระบบการตรวจสอบข้อมูลและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ โดยละเอียดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่สุด ต้องใช้เจ้าหน้าที่สนับสนุนนายทะเบียน ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลหลายขั้นตอน ต้องมีสถานที่จัดเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียน ต้องใช้เวลานานพอสมควรในการดำเนินการ ฯลฯ นี่ยังไม่รวมภาระที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนในการดำเนินการเกี่ยวกับระบบทะเบียนนะครับ

                   ว่ากันตามจริง ผู้เขียนเห็นว่านักร่างกฎหมายควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ว่าการควบคุมหรือกำกับการดำเนินกิจกรรมที่เราพิจารณากันอยู่นี้ควรใช้ระบบทะเบียนจริง ๆ หรือไม่ โดยคำนึงถึง Cost-benefit relationship และ Cost-effectiveness relationship ของระบบทะเบียนกับทางเลือกอื่น มากกว่าจะไปวุ่นวายกับการผสมคำว่า
จะ "จด" “ขึ้น” “ลง” หรือ "ตี" ทะเบียนกันดี

                   เห็นหรือยังครับว่า “ความเข้าใจในสิ่งที่เขียน” กับความชัดเจนในเรื่อง Form และ Style การเขียนกฎหมาย สำคัญกับความเชื่อมั่นในตัวนักร่างกฎหมายอย่างไร.   






[*]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 2556

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ: พิจารณาในมิติของความร่วมมือระหว่างประเทศ (Sex offender register in the context of international cooperation)

นางสาววารีรัตน์  รัตนวิบูลย์สม[๑]

๑. บทนำ

                    อาชญากรรมทางเพศเป็นอาชญากรรมที่คุกคามความปลอดภัยของประชาชนมาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ อาชญากรรมทางเพศได้ทวีความรุนแรงและความถี่ขึ้นดังที่สังเกตได้จากข่าวอาชญากรรมทางเพศ เช่น ข่มขืน หรืออนาจาร และการคุกคามทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์เกือบทุกวัน จนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความหวาดกลัวในการใช้ชีวิตประจำวัน ปัญหานี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเราแต่เป็นปัญหาที่ลุกลามไปทั่วโลก แต่ประเทศตะวันตกตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรมทางเพศและได้พัฒนามาตรการต่าง ๆ ขึ้นเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมดังกล่าว เช่น การเยียวยาและปรับปรุงความประพฤติของนักโทษในเรือนจำ การแจ้งเตือนภัยแก่สังคม การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ เป็นต้น

                    มาตรการตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมีส่วนช่วยลดปริมาณการก่ออาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคมได้ แต่มาตรการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ

             การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศเป็นระบบที่บันทึกข้อมูลรายละเอียดส่วนบุคคลพร้อมประวัติทางอาชญากรรมของผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ผู้ที่ถูกคาดโทษ หรือผู้ที่ถูกปล่อยตัวเมื่อพ้นโทษในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศแล้ว รัฐบาลของหลายประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรการนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหวของผู้กระทำผิดทางเพศได้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเดินทางไปยังประเทศใดหรือสถานที่ใดก็ตามอันเป็นการลดความเสี่ยงที่ผู้กระทำผิดทางเพศจะกระทำผิดทางเพศซ้ำอีก เนื่องจากความเคลื่อนไหวของผู้กระทำผิดจะอยู่ภายใต้การสอดส่องดูแลจากเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา อีกทั้งการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศจะช่วยให้มีการแบ่งปันหรือแจ้งข้อมูลระหว่างกันในกลุ่มประเทศที่ผู้กระทำผิดเดินทางไปพำนักอาศัยและช่วยให้ประเทศที่ผู้กระทำผิดทางเพศย้ายมาพักอาศัยอยู่นั้นได้เตรียมตัวบอกกล่าวหรือเตือนภัยแก่พลเมืองของตนเองได้ล่วงหน้า เหตุผลที่การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศจะช่วยให้หน่วยงานของรัฐได้รับทราบติดตามความเคลื่อนไหวของผู้กระทำผิดได้เนื่องจากในการขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่นั้น ผู้กระทำผิดต้องแจ้งข้อมูลส่วนตัวของตนเอง เช่น ชื่อสกุล ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด หรือสถานที่พักอาศัยอยู่ในปัจจุบัน[๒] รายละเอียดของอาชญากรทางเพศที่ขึ้นทะเบียนไว้นอกจากจะปรากฏข้อมูลส่วนตัวยังปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับชนิดหรือประเภทของอาชญากรรมทางเพศที่ผู้กระทำผิดได้กระทำลงไปทั้งนี้เพื่อเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบทั่วกัน[๓]

                    แม้ระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศอาจบรรเทาปัญหาการกระทำความผิดทางเพศในประเทศได้ แต่หากพิจารณามิติระหว่างประเทศ ระบบนี้ยังต้องการความร่วมมือกันในทางระหว่างประเทศเกี่ยวกับการจัดระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำความผิดทางเพศซึ่งทำได้ยากเพราะแต่ละประเทศต่างมีระบบกฎหมายเป็นของตนเองและกำหนดเกณฑ์ความผิดทางเพศที่แตกต่างกัน เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่อายุต่ำกว่า ๑๗ ปี ถูกต้องตามกฎหมายของสหราชอาณาจักรแต่ผิดตามกฎหมายทางเพศของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เป็นต้น ซึ่งทำให้นาย Gary Glitter ที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในประเทศอังกฤษแต่เดินทางเข้าประเทศเวียดนามและประเทศไทยได้โดยอิสระ เป็นต้น[๔] ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งอันเนื่องมาจากการนำระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาคือ ความเหมาะสมในการคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณชนกับการเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้กระทำผิดทางเพศ เพราะแม้ว่าผู้กระทำผิดทางเพศจะก่ออาชญากรรมทางเพศที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตหรือร่างกายของผู้เสียหายก็ตาม แต่การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศในบางกรณีอาจมีผลเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้กระทำผิดได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นในกรณีที่ผู้กระทำผิดทางเพศถูกบังคับตามกฎหมายให้ต้องขึ้นทะเบียนประวัติของตนเองโดยให้มีผลตลอดชีวิตของผู้กระทำผิดแม้ในภายหลังผู้กระทำผิดจะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำแต่ชื่อและประวัติอาชญากรรมของผู้กระทำผิดยังคงปรากฏอยู่ในทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศไปตลอดชีวิต ทำให้การกลับคืนสู่สังคมของผู้กระทำผิดเป็นไปได้ยากและคนในสังคมก็ไม่อาจไว้วางใจในพฤติกรรมของผู้กระทำผิดนั้นตราบใดที่ชื่อและประวัติอาชญากรรมของผู้นั้นยังคงปรากฏอยู่

                    ในบทความนี้ ผู้เขียนจะศึกษาถึงความพยายามส่งเสริมความร่วมมือในทางระหว่างประเทศทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศรวมทั้งวิเคราะห์ถึงการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนเปรียบเทียบกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้กระทำผิดทางเพศตามที่จะกล่าวต่อไป

๒. บทวิเคราะห์การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศในทวีปยุโรป

                    ในปัจจุบันนี้หลายประเทศได้นำระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมาใช้เพื่อป้องกันและลดจำนวนการเกิดอาชญากรรมทางเพศในสังคม จากการสำรวจประเทศทั้งหมดที่ใช้ระบบนี้ในขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น ๙ ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น อัฟริกาใต้ และเกาหลีใต้[๕] อย่างไรก็ดี บทความนี้จะศึกษาเฉพาะความร่วมมือในการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือซึ่งถือเป็นประเทศต้นกำเนิดของระบบนี้

                    ๒.๑ ภาพรวมของระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศในทวีปยุโรป

                    ความร่วมมือด้านอาชญากรรมทางเพศระหว่างประเทศในยุโรปได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๗๐ และพัฒนาความร่วมมือกันอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๙๐ ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันผู้กระทำผิดทางเพศหลบหนีข้ามแดนโดยปราศจากการติดตามและตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ[๖] ผลจากการส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว ทำให้บางประเทศในทวีปยุโรปได้นำระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมาบัญญัติรองรับไว้ในกฎหมายพร้อมกับส่งเสริมให้เป็นนโยบายหลักของประเทศในการปกป้องพลเมืองของตนจากอันตรายที่อาจเกิดจากอาชญากรทางเพศเหล่านี้ โดยกลุ่มบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองในลำดับต้นนั้น ได้แก่ กลุ่มเด็กหรือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

                    แนวความคิดในการนำระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมาใช้ในทวีปยุโรปนั้นได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายว่าด้วยเพศของสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า “Megan’s Law”[๗] ประเทศในยุโรปนำระบบนี้มาใช้บังคับทั้งกับผู้กระทำผิดทางเพศที่ถูกปล่อยตัวแล้วและที่ใกล้จะถึงกำหนดปล่อยตัวเพื่อลดความเสี่ยงที่นักโทษหรืออดีตนักโทษเหล่านี้จะหวนกลับมากระทำผิดซ้ำซาก แต่ก็ใช่ว่าทุกประเทศในยุโรปจะเห็นด้วยในการนำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย ประเทศยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ เช่น เยอรมนี อิตาลี และสเปน ยังคงคัดค้านการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศเนื่องจากกังวลกับระยะเวลาของการขึ้นทะเบียนในกรณีที่ทะเบียนประวัติอาชญากรรมนี้มีผลตลอดชีวิตของผู้กระทำผิดซึ่งอาจขัดกับกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[๘] และอาจทำให้คนในสังคมยังคงมีทัศนคติในแง่ลบต่อผู้ที่เคยกระทำผิดทางเพศแม้บุคคลเหล่านี้จะพ้นโทษมาแล้วแต่ก็ดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างยากลำบาก[๙]

                    ผู้เขียนพบว่าเกือบทุกประเทศกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศ แต่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งยวดในการยกระดับประสิทธิภาพของระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ แต่ละประเทศอาจกำหนดให้มีหน่วยงานภายในที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศหลายหน่วยงานหรืออาจมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียว เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศในทวีปยุโรปที่นำระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมาใช้ประกอบด้วย ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร

                    ประเทศฝรั่งเศสใช้ระบบฐานข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศที่เรียกว่า “The National Automated Sex Offenders Register” ฐานข้อมูลนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๕ เพื่อลดการกระทำผิดทางเพศซ้ำอีก[๑๐] รัฐบาลฝรั่งเศสประสงค์ที่จะใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนฝรั่งเศสจากการถูกละเมิดหรือคุกคามทางเพศ[๑๑] อย่างไรก็ดี รัฐบาลฝรั่งเศสก็มิได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศได้อย่างง่ายดายนัก คงให้แต่เฉพาะผู้ที่มีอำนาจทางตุลาการและเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่สามารถเข้าตรวจสอบข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศได้[๑๒] ข้อจำกัดนี้จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องความแพร่หลายของข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถล่วงรู้และเตรียมการป้องกันล่วงหน้าได้หากผู้กระทำผิดนี้ถูกปล่อยออกมาคลุกคลีอยู่กับคนในสังคมและจะกระทำผิดทางเพศซ้ำอีก ส่วนสาธารณรัฐไอร์แลนด์ก็ได้บัญญัติกฎหมายว่าด้วยผู้กระทำผิดทางเพศออกมาเช่นกัน เรียกว่า “Sex Offenders Act 2001” ซึ่งกำหนดให้ผู้กระทำผิดทางเพศตามพระราชบัญญัตินี้ต้องแจ้งข้อมูลของตนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[๑๓] รัฐบาลไอร์แลนด์คาดหวังไว้ว่านอกจากกฎหมายฉบับนี้จะช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการติดตามตรวจสอบผู้กระทำผิดทางเพศที่หลบหนีเข้าประเทศอื่นได้แล้วยังสามารถป้องกันผู้กระทำผิดทางเพศจากประเทศอื่นหลบหนีเข้าประเทศไอร์แลนด์ด้วยเช่นกัน แต่ที่น่าแปลกคือ แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศไว้แต่ระบบการขึ้นทะเบียนดังกล่าวกลับได้รับความนิยมใช้อย่างเป็นทางการภายในประเทศไอร์แลนด์[๑๔] ในขณะที่สหราชอาณาจักรซึ่งประกอบด้วยอังกฤษและเวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ก็มีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนของอาชญากรรมทางเพศที่เพิ่มขึ้นในหลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน กฎหมายบางฉบับของสหราชอาณาจักรได้กำหนดเงื่อนไขให้สามารถปล่อยตัวนักโทษออกมาได้ก่อนกำหนดหากเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและไม่มั่นใจว่านักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจะกระทำผิดทางเพศซ้ำอีกในภายหลังหรือไม่ และหน่วยงานของรัฐจะมีมาตรการป้องกันภัยอันตรายอันอาจเกิดขึ้นจากบุคคลเหล่านี้อย่างไร คนในสังคมจึงคาดหวังว่าระบบการติดตามตรวจสอบความประพฤติของนักโทษรวมถึงอดีตนักโทษที่มีประวัติการก่ออาชญากรรมทางเพศอยู่บ่อยครั้ง จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถกำกับดูแลพฤติกรรมและความเคลื่อนไหวของนักโทษได้ดียิ่งขึ้น

                    การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศในสหราชอาณาจักรเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๙๗[๑๕] Home Office ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบระบบดังกล่าวในสหราชอาณาจักรได้ให้เหตุผลในการจัดตั้งระบบนี้ขึ้นมาว่า ระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมิใช่เป็นระบบที่เพิ่มโทษแก่ผู้กระทำผิดทางเพศให้หนักขึ้นแต่เป็นมาตรการที่เน้นในการช่วยปกป้องคนในสังคมให้รอดพ้นจากอันตรายที่ผู้กระทำผิดทางเพศได้ก่อขึ้น[๑๖] อันที่จริงแล้วสหราชอาณาจักรได้เตรียมแผนการนำระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๖ แล้ว แต่เริ่มเป็นรูปธรรมในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ ด้วยการยกร่างกฎหมายว่าด้วยผู้กระทำผิดทางเพศขึ้น เรียกว่า “Sex Offenders Act 1997[๑๗] กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้กระทำผิดทางเพศต้องแจ้งข้อมูลส่วนตัวของตนต่อตำรวจรวมทั้งหากต่อมาผู้กระทำผิดย้ายถิ่นที่อยู่ก็ต้องแจ้งถิ่นที่อยู่ใหม่แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกครั้งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย[๑๘] ต่อมาก็ได้มีกฎหมายหลายฉบับออกมาที่เกี่ยวข้องกับการติดตามตรวจสอบผู้กระทำผิดทางเพศ แต่กฎหมายที่มีบทบาทอย่างมากและถูกบัญญัติออกมาในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ คือ Sexual Offences Act 2003 กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดห้ามผู้กระทำผิดทางเพศเข้าใกล้สถานที่ที่เด็กพักอาศัย[๑๙] ทั้งนี้ เพื่อปกป้องเด็กมิให้ต้องพลาดพลั้งตกเป็นเหยื่อของผู้กระทำผิดทางเพศได้อีก นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจตำรวจตรวจลายนิ้วมือหรือถ่ายรูปผู้กระทำผิดทางเพศไว้เพื่อตรวจสอบข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศให้ทันสมัยอยู่เสมอ[๒๐] รวมทั้งจัดตั้งฐานข้อมูลที่ชื่อว่า “ViSOR (Violent and Sex Offender Register)” ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบันทึกข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศนั้นเอง[๒๑]

                    ๒.๒ ความพยายามส่งเสริมความร่วมมือด้านอาชญากรรมทางเพศในทวีปยุโรป

                    ดังที่กล่าวไว้ว่าประเทศในทวีปยุโรปที่มีระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมีเพียงฝรั่งเศส สาธารณรัฐไอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ทั้งที่ในปี ค.ศ. ๑๙๙๘ สมัชชารัฐสภาคณะมนตรียุโรป (Parliamentary Assembly of the Council of Europe) ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปร่วมมือกันสร้างระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศร่วมกันเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันข้อมูลระดับชาติร่วมกันรวมทั้งเพื่อปกป้องคนในชาติของตนได้อย่างคล่องตัวและทันท่วงที[๒๒] อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายก็ยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับจัดตั้งระบบการขึ้นทะเบียนเนื่องจากเห็นว่าปัญหาหลักของการจัดตั้งระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ คือ ความแตกต่างด้านระบบกฎหมายและหลักการของกฎหมายทางเพศ[๒๓] ความไม่เสถียรในการกำหนดหลักการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศร่วมกันระหว่างประเทศนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้กระทำผิดทางเพศยังคงสามารถเดินทางหลบหนีหรือย้ายถิ่นที่อยู่ข้ามประเทศได้ เช่น กรณีของนาย Michel Fourniret ฆาตกรต่อเนื่องซึ่งได้เดินทางหลบหนีจากประเทศฝรั่งเศสไปทำงานในโรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศเบลเยี่ยมโดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของทั้งฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมไม่สามารถติดตามร่องรอยการเดินทางของนาย Michel ได้ จนท้ายที่สุดจึงสามารถจับกุมได้ด้วยข้อหาฆาตกรรมเด็ก[๒๔] คดีนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการขาดการแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศซึ่งจะทำให้โอกาสในการแจ้งเตือนหรือช่วยเหลือประชาชนของตนลดน้อยลงไป

          สหภาพยุโรปได้พยายามที่จะให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดให้มีระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศแต่ก็ถูกปฏิเสธข้อเสนอโดยประเทศสมาชิกอยู่หลายครั้งเนื่องจากประเทศสมาชิกเห็นว่าระบบกฎหมายอาญาและแนวความคิดที่แตกต่างกันในเรื่องความผิดทางเพศและการกำหนดตัวผู้กระทำผิดทางเพศเป็นสาเหตหลักที่ทำให้ประเทศสมาชิกไม่สามารถตกลงร่วมกันจัดตั้งระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศได้[๒๕] แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังคงต้องการให้มีความร่วมมือจัดตั้งระบบการขึ้นทะเบียนดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรม Madeleine McCann หนูน้อยชาวอังกฤษที่ถูกลักพาตัวไปขณะที่เธอและครอบครัวเดินทางไปพักร้อนอยู่ที่ประเทศโปรตุเกส คดีสะเทือนขวัญดังกล่าวนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือกันในการจัดตั้งระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ ต่อมา ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจึงพิจารณายกร่างกรอบการทำงานร่วมกันในการปรับปรุงแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอาญาระดับชาติและสร้างความร่วมมือในการจัดให้มีการขึ้นทะเบียนทางอาญาระดับชาติร่วมกัน[๒๖] รวมทั้งยกร่างแผนการจัดตั้ง European Criminal Records Information System (ECRIS) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประเทศสมาชิกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างฐานข้อมูลกลางร่วมกันด้วย[๒๗] แต่การยกร่างกรอบการทำงานและติดตั้งระบบฐานข้อมูลกลางก็เป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากประเทศสมาชิกยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกันและไม่ยอมเผยแพร่ข้อมูลระดับชาติของตนเอง จึงยังเป็นคำถามอยู่ว่าหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบจะสามารถหาวิธีการร่วมมือกันระหว่างประเทศในการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศได้อย่างไร

                    ๒.๓ ข้อจำกัดและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศในทวีปยุโรป

                    ๒.๓.๑ ข้อจำกัดของการจัดตั้งระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ

                   (๑) ความแตกต่างกันของระบบกฎหมายและความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของความผิดทางเพศ

                   นักวิจัยหลายท่านได้เห็นพ้องตรงกันว่าในปัจจุบันนี้คำว่า ความผิดทางเพศ สามารถถูกตีความหรือแปลความหมายออกได้เกือบถึง ๓๐ ความหมาย[๒๘] จึงไม่น่าประหลาดใจที่ว่าแต่ละประเทศอาจตีความชนิดหรือประเภทของความผิดทางเพศในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางเพศในประเทศหนึ่งก็อาจไม่ถือเป็นผู้กระทำผิดทางเพศในอีกประเทศหนึ่ง[๒๙] ฉะนั้น หากแต่ละประเทศต้องการที่จะจัดให้มีความร่วมมือร่วมกันระหว่างประเทศเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ ก็จำเป็นต้องหามาตรการที่เหมาะสมและยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของแต่ละประเทศให้มากที่สุด แต่ที่ผ่านมาผลสรุปคือ ประเทศในทวีปยุโรปก็ยังไม่สามารถหามาตรการดังที่กล่าวมาได้แม้ว่าจะมีการกรอบการทำงานที่ถูกยกร่างขึ้นมาในอดีตแต่ก็ยังไม่มีผลผูกพันให้ประเทศในทวีปยุโรปถือปฏิบัติกันอย่างพร้อมเพรียง เช่น Council Framework Decision (EU) 2009/315/JHA[๓๐] และ Council Decision (EU) 2009/316/JHA[๓๑]

                   (๒) ระยะเวลาที่ขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ

                   ระยะเวลาที่แต่ละประเทศกำหนดไว้ให้ผู้กระทำผิดทางเพศขึ้นทะเบียนข้อมูลส่วนบุคคลแตกต่างกันตามกฎหมายภายในของแต่ละประเทศนั้นเอง ประเด็นสำคัญที่ยังคงเป็นปัญหาของระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ คือ ระยะเวลาที่ไม่จำกัดของการขึ้นทะเบียนซึ่งมีผลทำให้ชื่อและประวัติของผู้กระทำผิดทางเพศติดตามผู้กระทำผู้นั้นไปตลอดชีวิต แม้ว่าในภายหลังบุคคลดังกล่าวอาจได้รับการปล่อยตัวออกมาเมื่อพ้นโทษแล้วก็ตาม กฎหมายหลายฉบับได้กำหนดระยะเวลาที่ไม่จำกัดของการขึ้นทะเบียนสำหรับผู้กระทำผิดทางเพศไว้ เช่น มาตรา ๘๒ (๑) แห่งพระราชบัญญัติความผิดทางเพศ ค.ศ. ๒๐๐๓ (Sexual Offences Act 2003) ของสหราชอาณาจักร กำหนดให้บุคคลใดที่ถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สามสิบเดือนขึ้นไปมีหน้าที่แจ้งข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยปราศจากระยะเวลาที่กำหนดแน่ชัด เช่นเดียวกับมาตรา ๘ (๓) (a) แห่งพระราชบัญญัติผู้กระทำผิดทางเพศ ค.ศ. ๒๐๐๑ ของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ที่ได้กำหนดให้บุคคลใดที่ถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือถูกลงโทษจำคุกมากกว่าสองปีขึ้นไปต้องแจ้งข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่มีระยะเวลาที่จำกัด นักวิชาการหลายท่านจึงตั้งข้อสังเกตว่า หากระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศไม่จำกัดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนแล้ว ระบบนี้อาจไม่สนองตอบต่อการคุ้มครองหรือปกป้องความปลอดภัยของสาธารณชนก็ได้เนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลและประวัติของผู้กระทำผิดยังคงอยู่ในทะเบียนตราบนานเท่านานแม้ว่าผู้กระทำผิดนั้นจะประพฤติตนเป็นคนดีแล้วภายหลังที่พ้นโทษออกมาแล้วก็ตาม แต่คนในสังคมก็ยังเชื่อว่าบุคคลดังกล่าวคงพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายทางเพศอยู่นั่นเอง ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศที่ไม่จำกัดนั้นจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จำเป็นแต่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบทลงโทษแทน ทั้งที่วัตถุประสงค์ของการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมุ่งหมายที่จะปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้พ้นจากภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากผู้กระทำผิดทางเพศ

                   ตัวอย่างคดีที่ผู้กระทำผิดทางเพศได้รับผลกระทบจากบทบัญญัติให้ขึ้นทะเบียนทางเพศโดยไม่จำกัดเวลานั้น ได้แก่ คดีความระหว่าง R (on the application of F and Thompson) v Secretary of State for the Home Department[๓๒] ศาลสูงสุด (Supreme Court) ของอังกฤษได้ตัดสินให้ผู้กระทำผิดทางเพศในคดีนี้ต้องขึ้นทะเบียนประวัติของตนเองไว้มีผลตลอดชีวิตของผู้กระทำผิดโดยไม่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบความจำเป็นในการขึ้นทะเบียนอีกแต่อย่างใด หลายฝ่ายมองว่าคำพิพากษาดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับอนุสัญญายุโรปว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนเพราะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้กระทำผิดทางเพศมากเกินไป แม้แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังเห็นว่าผู้กระทำผิดทางเพศควรที่จะมีสิทธิขอลบล้างชื่อและทะเบียนประวัติของตนจากระบบการขึ้นทะเบียนเมื่อได้พิสูจน์ให้เห็นว่าระยะเวลาที่ประชาชนอาจได้รับอันตรายจากตนนั้นหมดสิ้นลงแล้ว[๓๓] นักวิชาการหลายท่านก็ได้ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่าการติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของผู้กระทำผิดหรืออดีตผู้กระทำผิดทางเพศควรจำกัดไว้เฉพาะช่วงเวลาที่อาจเห็นว่าเป็นอันตรายแก่ความปลอดภัยของประชาชนเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงยังมีผู้กระทำผิดทางเพศอีกเป็นจำนวนมากที่เล็ดลอดจากการถูกขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศและก่อเหตุคุกคามทางเพศแก่ประชาชน ซึ่งกรณีนี้น่าจะเป็นอันตรายแก่ผู้บริสุทธิ์ยิ่งกว่าผู้ที่ต้องขึ้นทะเบียนตลอดชีวิตก็เป็นได้  ดังนั้น การพิจารณาระยะเวลาการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศควรคำนึงถึงหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือแนวโน้มอันตรายที่จะเกิดความเสี่ยงต่อสาธารณชน เป็นต้น

                   (๓) การปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย

                   ข้อจำกัดที่สำคัญอย่างหนึ่งของการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ คือ ตำรวจจะแน่ใจได้อย่างไรว่าข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศที่ขึ้นทะเบียนไว้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ทุกครั้งที่ผู้ขึ้นทะเบียนเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัย บุคคลนั้นย่อมมีหน้าที่แจ้งข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตนเอง[๓๔] มิใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะสืบเสาะหาข้อมูลดังกล่าวเองได้เพราะในทางปฏิบัติไม่มีผู้ใดจะทราบถึงข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศได้ดีกว่าตัวผู้กระทำผิดเอง[๓๕] ข้อมูลที่ทันสมัยย่อมมีประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะใช้แลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานของรัฐในแต่ละประเทศหรือใช้เผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ ยิ่งในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเก็บรักษาข้อมูลก็ยิ่งจำเป็นต้องตรวจสอบระบบฐานข้อมูลให้มีความทันสมัยเพื่อที่จะเป็นแหล่งข้อมูลให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงหรือตรวจสอบได้ เมื่อใดก็ตามที่ข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศที่ขึ้นทะเบียนไว้ไม่ถูกต้อง เมื่อนั้นสาธารณชนก็อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศจากผู้กระทำผิดได้เนื่องจากไม่ทราบล่วงหน้าว่าผู้กระทำผิดดังกล่าวได้ย้ายถิ่นฐานมาพักอาศัยใกล้บริเวณที่พักของตนเองแล้ว

                   อีกปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดของการปรับปรุงข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศให้ทันสมัยอยู่เสมอ คือ ประเทศในทวีปยุโรปมีระบบกฎหมายที่แตกต่างกันและมีหลักการกำหนดโทษความผิดเกี่ยวกับเพศตามกฎหมายอาญาที่แตกต่างกัน รวมทั้งบางประเทศไม่ได้นำระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมาปรับใช้ จึงทำให้ข้อมูลที่จะใช้แลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานของแต่ละประเทศอาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องหรือทันสมัย เพราะประเทศที่ไม่มีระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศก็อาจไม่ได้มีการจัดทำข้อมูลส่วนบุคคลหรือประวัติของผู้ที่กระทำผิดหรือเคยกระทำผิดทางเพศไว้ จึงไม่มีข้อมูลที่จะแจ้งแก่หน่วยงานของประเทศที่ผู้ขึ้นทะเบียนได้ย้ายถิ่นฐานไปพำนัก

                    ๒.๓.๒ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมาใช้

                    แม้ว่าแต่ละประเทศในยุโรปอาจมีระบบกฎหมายและหลักเกณฑ์การลงโทษในความผิดทางเพศที่แตกต่างกัน แต่ก็มิใช่ว่าประเทศในยุโรปจะไม่มีความพยายามที่จะหาวิธีการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศระหว่างกันเนื่องจากต่างก็เห็นถึงประโยชน์ของระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศอยู่บ้าง ได้แก่

                    (๑) การเฝ้าติดตามขบวนการจัดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เน้นการมีเพศสัมพันธ์

                    นักท่องเที่ยวที่เน้นการมีเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่มักประสงค์ที่จะซื้อบริการทางเพศจากเด็กหรือผู้เยาว์เป็นหลัก[๓๖] จำนวนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้าบริการทางเพศข้ามชาตินี้จึงมักเป็นผู้หญิงและเด็ก องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูนิเซฟ (United Nations Children’s Fund (UNICEF)) ประเมินไว้ว่า การค้าบริการทางเพศกับเด็กกำลังจะกลายเป็นปัญหาหลักของโลกในยุคปัจจุบันและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่มักจะมีอายุไม่เกิน ๑๒ ปี[๓๗]  ดังนั้น การนำระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมาบังคับใช้ในกระบวนยุติธรรมทางอาญาจึงมีส่วนช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้ประโยชน์จากทะเบียนประวัติของผู้กระทำผิดเพื่อติดตามตรวจสอบการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่หรือการเดินทางออกนอกประเทศของผู้กระทำผิดทางเพศได้ นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังกระตุ้นให้หน่วยงานท้องถิ่นในแต่ละประเทศร่วมมือกันในการถ่ายโอนข้อมูลที่ตนได้รับแจ้งจากผู้มีชื่อในทะเบียนไปยังหน่วยงานกลางหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศอื่นอันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนในแต่ละประเทศ[๓๘]

                    (๒) ทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศสามารถถูกใช้ประโยชน์ในฐานะเป็นผู้ช่วยของหน่วยงานระหว่างประเทศ

                    ในปัจจุบันมีหน่วยงานระหว่างประเทศขึ้นเพื่อทำหน้าที่ต่อต้านอาชญากรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรวมถึงอาชญากรรมทางเพศทุกรูปแบบในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน Europol หรือ Eurojust กรณี Europol นั้นถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลทางอาญาของยุโรปเพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ[๓๙]  ดังนั้น ภารกิจหลักของ Europol คือ ต้องปรับปรุงฐานข้อมูลให้ทันสมัยและเชื่อถือได้ ขณะที่ Eurojust ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งรวมทั้งการค้าที่ผิดกฎหมายทุกประเภทซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การค้ามนุษย์ข้ามชาติ[๔๐] ทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อหน่วยงานเหล่านี้ที่จะใช้ประกอบการดำเนินภารกิจของตนให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

๓. บทวิเคราะห์การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศในทวีปอเมริกาเหนือ

                    ๓.๑ ความพยายามส่งเสริมความร่วมมือด้านอาชญากรรมทางเพศในทวีปอเมริกาเหนือ

                    ๓.๑.๑ ประเทศสหรัฐอเมริกา

                    การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในทศวรรษที่ ๑๙๓๐ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณชน[๔๑] สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับระบบการขึ้นทะเบียนดังกล่าวเป็นอย่างมากเนื่องจากระบบนี้ช่วยลดความผิดทางเพศและช่วยยับยั้งมิให้ผู้กระทำผิดทางเพศกระทำผิดทางเพศซ้ำซากอีก ในระยะเริ่มแรกมีเพียงไม่กี่รัฐที่นำระบบนี้มาบังคับใช้ในรัฐของตนเอง แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกที่นำระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมาบังคับใช้ในปี ค.ศ. ๑๙๔๗[๔๒] ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ Jacob Wetterling Crimes Against Children and Sexually Violent Offender Registration Act หรือที่เรียกว่า Wetterling Act ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสอันมีผลให้มีการจัดตั้งระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศในระดับสหพันธรัฐโดยเน้นผู้กระทำผิดทางเพศที่มีประวัติอาชญากรรมทางเพศจำนวนมาก[๔๓]

                    นอกเหนือจาก Wetterling Act แล้ว สหรัฐอเมริกามีกฎหมายที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดให้ผู้กระทำผิดทางเพศแจ้งข้อมูลของตนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ คือ Megan’s Law กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ทุกรัฐในสหรัฐอเมริกาพัฒนาปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนในรัฐของตนเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างรัฐต่าง ๆ ภายในประเทศ ชื่อของ Megan’s Law มีที่มาจากคดีฆาตกรรม Megan Kanka ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศในรัฐ New Jersey คดีนี้ถือได้ว่าเป็นคดีที่ทำให้คนอเมริกันให้ความสำคัญกับระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศเป็นอย่างยิ่ง[๔๔] อย่างไรก็ดี Megan’s Law ได้ถูกผนวกรวมกับ Adam Walsh Child Protection and Safety Act ในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ โดยได้นำ Sex Offender Registration and Notification Act (SORNA) ที่กำหนดหลักเกณฑ์ทั้งเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศและการแจ้งเตือนภัยแก่สาธารณชนเข้าไว้ด้วยกันด้วย[๔๕]

                    ๓.๑.๒ ประเทศแคนาดา

                    การขึ้นทะเบียนทางเพศในแคนาดาแบ่งออกเป็นสองระดับ คือ ระดับรัฐและสมาพันธรัฐ รัฐแรกที่เริ่มต้นใช้ระบบการขึ้นทะเบียนทางเพศ คือ รัฐออนแทริโอ (Ontario) อันเนื่องมาจากคดีฆาตกรรม Christopher Stephenson[๔๖] เด็กวัย ๑๑ ปี ที่ถูกลักพาตัวไปฆาตกรรมในปี ค.ศ. ๑๙๘๘ กฎหมายที่กำหนดเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศของแคนาดาชื่อว่า Christopher’s Law[๔๗] ในปี ค.ศ. ๒๐๐๔ สำนักทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศระดับชาติแคนาดา (Canadian National Sex Offender Registry) ได้เสนอให้มีกฎหมายว่าด้วยการขึ้นทะเบียนข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศซึ่งเรียกว่า Sex Offender Information Registration Act (SOIRA) เพื่อปราบปรามการกระทำผิดทางเพศและเพื่อป้องกันผู้บริสุทธิ์ในสังคม[๔๘] แต่สิ่งที่แตกต่างจากระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศในสหรัฐอเมริกาคือ สาธารณชนยังคงถูกจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศที่ขึ้นทะเบียน[๔๙]

                ๓.๒ ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการจัดตั้งระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา: เปรียบเทียบกับประเทศในยุโรป

                    ๓.๒.๑ อุปสรรคของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ

                    อุปสรรคในเรื่องการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสามารถเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ เนื่องจากการขอความร่วมมือจากหลายประเทศจำเป็นต้องอาศัยความสมัครใจจากทุกฝ่ายก่อน เช่นเดียวกับที่หน่วยงานระหว่างประเทศอย่าง Interpol กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ เนื่องจาก Interpol เป็นองค์การตำรวจสากลที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐไอร์แลนด์ หรือฝรั่งเศส เป็นต้น หน้าที่หลักของ Interpol คือ การเสริมสร้างความปลอดภัยแก่พลเมืองของประเทศต่าง ๆ ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องจัดตั้ง National Central Bureau (NCB) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากทั่วโลกโดยเฉพาะข้อมูลของผู้กระทำผิดข้ามชาติ[๕๐] แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความขัดแย้งในการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ เนื่องจากบางประเทศไม่สมัครใจที่จะส่งข้อมูลมาแบ่งปันไปยังประเทศอื่น เช่น นโยบายการแบ่งปันข้อมูลของประเทศแคนาดากับสหรัฐอเมริกาแตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐอเมริกายินดีที่จะเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้แก่สาธารณชนได้รับทราบรวมทั้งแบ่งปันข้อมูลไปยังประเทศอื่นได้อย่างอิสระ ตรงกันข้ามกับแคนาดาหรือแม้กระทั่งประเทศในทวีปยุโรปที่มีนโยบายเก็บรักษาข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศไว้ให้แก่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้น[๕๑] จึงทำให้การส่งเสริมความร่วมมือในทางระหว่างประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

                   ๓.๒.๒ การเปิดเผยข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศระหว่างประเทศ

                   เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรปรวมทั้งประเทศแคนาดาเอง สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศที่มีระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศและระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้ามีประสิทธิภาพมากที่สุด รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศ ทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของผู้กระทำผิดทางเพศได้อย่างใกล้ชิด ในขณะที่ประเทศแคนาดาไม่มีนโยบายเปิดเผยข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศสู่สาธารณชนอย่างเสรี จึงทำให้ประชาชนถูกจำกัดการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว เรื่องนโยบายการเปิดเผยข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศเป็นนโยบายที่แต่ละประเทศได้กำหนดขึ้นมาปฏิบัติกันภายในประเทศ จึงทำให้ในแต่ละประเทศมีนโยบายการเปิดเผยข้อมูลที่แตกต่างกันไป ดังในทวีปยุโรปก็เช่นกัน ฝรั่งเศสจำกัดสิทธิของประชาชนในการขอตรวจสอบข้อมูลของผู้กระทำผิด ส่วนสหราชอาณาจักรนั้น การเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับรู้อยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นรายกรณีไป เพราะคำนึงว่าข้อมูลที่ผู้กระทำผิดได้ขึ้นทะเบียนไว้ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจไม่จำเป็นต้องเปิดเผยทั้งหมดก็ได้ จึงอาจสรุปได้ว่า สิ่งสำคัญในการพิจารณาเปิดเผยข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศต้องพิจารณาถึงขอบเขตของข้อมูลที่จะเปิดเผยและคำนึงว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้กระทำผิดด้วยหรือไม่

                   ๓.๒.๓ ผลกระทบจากกฎหมายว่าด้วยการขึ้นทะเบียนและการเปิดเผยข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศ

                   ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า ในสหรัฐอเมริกามีนโยบายเปิดเผยข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศได้อย่างเสรี ทุกพื้นที่ในสหรัฐอเมริกาจึงได้ส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านทางสื่อต่าง ๆ เช่น อินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ส่วนในแคนาดานั้น แม้ส่วนใหญ่จะมีนโยบายไม่เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชนทั่วไปแต่ก็มีบางพื้นที่ที่เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านทางอินเตอร์เน็ตด้วย หลายฝ่ายอาจมองว่าการขึ้นทะเบียนและการเปิดเผยข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศจะช่วยยับยั้งมิให้ผู้กระทำผิดคิดที่จะกระทำผิดซ้ำอีกเพราะทั้งภาคสังคมและภาคหน่วยงานราชการกำลังติดตามความเคลื่อนไหวของตนอย่างใกล้ชิด แต่อีกด้านหนึ่งนั้นมองว่า การขึ้นทะเบียนและการเปิดเผยข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศก็ยังไม่สามารถช่วยลดอัตราการกระทำผิดทางเพศครั้งแรกของผู้กระทำผิดได้อยู่ดี แม้ว่าผู้กระทำผิดทางเพศที่ขึ้นทะเบียนอาจถูกจำกัดบริเวณมิให้เข้าใกล้สถานที่ที่มีเด็กอาศัยอยู่ เช่น โรงเรียนหรือสนามเด็กเล่นก็ตาม แต่ก็มิอาจป้องกันบุคคลใกล้ชิดของเด็ก เช่น คนในครอบครัวของเด็กเองล่วงละเมิดทางเพศแก่เด็กนั้น และจากความผิดทางเพศที่ถูกเผยแพร่ออกมาบ่อยครั้งก็พบได้ว่า ผู้กระทำผิดครั้งแรกส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นบิดาหรือเพื่อนบ้านของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศ

๔. ประเด็นการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศที่มีต่อสิทธิมนุษยชน

                    หลายครั้งที่เมื่อมีข่าวอาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับทั้งผู้หญิงและเด็ก ก็มักจะมีเสียงสะท้อนจากประชาชนส่วนใหญ่ว่า ควรมีมาตรการลงโทษให้สาสมกับความผิดที่ผู้กระทำผิดทางเพศได้ก่อไว้ มาตรการการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศก็เช่นเดียวกันที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนว่าควรใส่ข้อมูลของผู้กระทำผิดอย่างละเอียดและควรเปิดเผยสู่สาธารณชนให้รับทราบ แต่ถ้ามองในอีกด้านจะพบว่า ผู้ที่บังคับใช้มาตรการดังกล่าวนี้ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้กระทำผิดด้วยหรือไม่ อย่างไร ผู้เขียนจึงตั้งคำถามสองคำถาม คือ การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และทิศทางในอนาคตในทางระหว่างประเทศควรคงมาตรการการขึ้นทะเบียนไว้ต่อไปหรือควรยกเลิก

                    ๔.๑ การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

                    ตามมาตรา ๘ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป ค.ศ. ๑๙๕๐ (Article 8 of the European Convention on Human Rights (ECHR)) ได้บัญญัติรองรับสิทธิส่วนบุคคลและชีวิตครอบครัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนไว้[๕๒] นักวิชาการหลายท่านจึงเห็นว่า สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมีทั้งผู้ที่เป็นนักโทษหรือบุคคลทั่วไป แต่เมื่อนำระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมาใช้บังคับทำให้ผู้ที่กระทำผิดทางเพศย่อมถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางประการ เช่น เสรีภาพในการเดินทางหรือสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากชื่อและข้อมูลส่วนบุคคลของตนต้องถูกบันทึกไว้ในระบบทะเบียนและอาจถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนทั่วไป

                    คดีที่เป็นตัวอย่างความขัดแย้งระหว่างการขึ้นทะเบียนกับสิทธิมนุษยชน ได้แก่ คดี S. and Marper v the United Kingdom[๕๓] ประเด็นสำคัญของคดีนี้ คือ นาย S ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ส่วนคดีของนาย Marper ก็สิ้นสุดลงแล้วเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมทำลายหลักฐานลายนิ้วมือและผลการตรวจ DNA ของทั้งสองคนที่ปรากฏบนทะเบียน ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป หรือ European Court of Human Rights (ECtHR) ตัดสินว่า การเก็บหลักฐานทั้งสองชนิดของตำรวจเป็นการละเมิดมาตรา ๘ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรปฯ เนื่องจากคดีของคู่ความทั้งสองคนได้สิ้นสุดลงแล้ว ดังนั้น การเก็บหลักฐานของคู่ความดังกล่าวไว้และปรากฏสู่สาธารณชนย่อมเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคู่ความ

                    ถึงกระนั้นก็ตาม มิใช่ว่าศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปจะตัดสินในแนวทางเดียวกันเสมอไป เพราะเคยมีคดี Bouchacourt v France[๕๔] ซึ่งศาลตัดสินว่า ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของความผิดทางเพศที่จำเลยได้ก่อขึ้น การขึ้นทะเบียนดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนของจำเลย เพราะเมื่อจำเลยพ้นจากความรับผิดแล้วก็ยังสามารถที่จะอุทธรณ์ต่ออัยการเพื่อขอลบรายละเอียดของตนในทะเบียนนั้นออกไปได้ แต่ผลจากคำพิพากษานี้ ก็ยังคงมีคนส่วนใหญ่เห็นว่า การขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศตลอดชีวิตก็ยังไม่สมควรอยู่ดี โดยเฉพาะหากผู้กระทำผิดเป็นเยาวชนและได้รับการปล่อยตัวออกมา แม้ว่าจะถูกจำคุกตามเกณฑ์ที่กฎหมายบางประเทศถือว่าต้องขึ้นทะเบียนประวัติของตนเองตลอดชีวิตก็ตาม เพราะผลจากการขึ้นทะเบียนนั้นจะเป็นตราบาปติดตัวเยาวชนผู้นั้นมิให้ดำเนินชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไปในภายหลังออกจากเรือนจำแล้ว[๕๕]  ดังนั้น เพื่อที่จะตอบคำถามตามหัวข้อนี้ หากการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนก็คงไม่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนของผู้กระทำผิดเนื่องจากเป็นมาตรการบังคับที่สมควรแก่ความผิดที่ก่ออยู่แล้ว แต่หากระยะเวลาการขึ้นทะเบียนมีผลตลอดชีวิตของผู้กระทำผิดหรือไม่จำกัดระยะเวลาที่แน่นอน ก็เสมือนหนึ่งว่าเข้าข่ายขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนของผู้กระทำผิดนั้นได้ การกำหนดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศจึงสมควรคำนึงถึงปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบด้วย ได้แก่ ความรุนแรงของความผิดทางเพศ อายุของผู้กระทำผิด และพฤติกรรมของผู้กระทำผิดทั้งที่อยู่ในเรือนจำและเมื่อพ้นโทษแล้ว

                    ๔.๒ ทิศทางในอนาคตในทางระหว่างประเทศควรคงมาตรการการขึ้นทะเบียนไว้ต่อไปหรือควรยกเลิก

                    ๔.๒.๑ เหตุผลที่ควรคงระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ

                   (๑) ประโยชน์ในการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้กระทำผิด

                   คงมิอาจปฏิเสธได้ว่าการเผยแพร่ข้อมูลหรือประวัติอาชญากรรมทางเพศของผู้กระทำผิดสู่สาธารณชนมีส่วนช่วยให้ประชาชนตระหนักและตื่นตัวในการป้องกันความปลอดภัยของคนในครอบครัวได้ล่วงหน้า แต่ก็ยังมีบางฝ่ายกังวลถึงการควบคุมดูแลปริมาณและคุณภาพของข้อมูลที่ถูกนำออกเผยแพร่ เนื่องจากหากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลยให้ข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่โดยมิได้กลั่นกรองแล้ว อาจสร้างความหวาดกลัวเกินเหตุให้แก่ประชาชนได้ ในเรื่องประโยชน์ของการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศนี้ ทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเห็นพ้องตรงกันว่า จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐและภาคประชาชนรับทราบความเคลื่อนไหวและการเดินทางข้ามประเทศของผู้กระทำผิดได้อย่างแน่ชัดและทำให้ทราบถึงแหล่งที่พักอาศัยของผู้กระทำผิดด้วยไม่ว่าผู้นั้นจะย้ายไปที่ใดก็ตาม

                   (๒) การป้องกันการกระทำความผิดทางเพศซ้ำซาก

                   จริงอยู่ที่ว่าการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศอาจไม่ได้ช่วยป้องกันการก่อเหตุครั้งแรกของผู้กระทำ แต่ก็มีส่วนสำคัญในการยับยั้งการกระทำผิดซ้ำของผู้กระทำผิดได้ เพราะมีคดีทางเพศจำนวนมากที่ปรากฏว่า ผู้กระทำผิดได้มีประวัติอาชญากรรมทางเพศติดตัวมาหลายคดีและก่อเหตุซ้ำ ๆ กันอยู่เรื่อย ๆ ระบบการขึ้นทะเบียนจึงเป็นเครื่องเตือนใจแก่สังคมได้ว่าควรจะต้องระมัดระวังและป้องกันตนเองและครอบครัวให้ห่างไกลจากผู้ที่มีแนวโน้มจะกระทำผิดทางเพศ การมีส่วนร่วมของสังคมในการเฝ้าสังเกตการณ์พฤติกรรมของผู้ที่มีแนวโน้มจะกระทำผิดดังกล่าวย่อมเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยป้องกันภัยทางเพศเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งได้เป็นอย่างดี

                   ๔.๒.๒ เหตุผลที่ควรยกเลิกระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ

                   (๑) ละเมิดสิทธิมนุษยชน

                   คงจะมีประเด็นเรื่องระยะเวลาของการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศที่ยังไม่ยุติในหมู่นักวิชาการว่าสมควรกำหนดไว้หรือไม่ เนื่องจากระยะเวลาให้ทะเบียนประวัติอาชญากรรมมีผลตลอดชีวิตของผู้กระทำผิดนั้นนานเกินสมควรและอาจจำกัดการกลับคืนสู่สังคมของผู้กระทำผิดภายหลังที่ผู้นั้นพ้นโทษแล้ว  อย่างไรก็ดี ก็ยังมีบางฝ่ายเห็นว่า ควรคงระยะเวลาการขึ้นทะเบียนตลอดชีวิตของผู้กระทำผิดไว้เฉพาะผู้ที่กระทำผิดซ้ำซากและผู้กระทำผิดทางเพศที่ร้ายแรง[๕๖] แต่หากจะกำหนดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนตลอดชีวิตของผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชน ก็ควรจะให้ยกเลิกระบบการขึ้นทะเบียนดังกล่าวออกไป ในเรื่องนี้ได้เคยมีข้อพิพาทเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา คือ กรณีที่นาย Jacob C.[๕๗] ถูกลงโทษจำคุกสามปีสำหรับความผิดทางเพศที่ตนได้ก่อขึ้นขณะที่ตนอายุเพียง ๑๑ ปี แต่จนกระทั่งถึงปัจจุบันนาย Jacob อายุ ๒๙ ปีแล้ว แต่ชื่อของเขายังคงปรากฏอยู่ในทะเบียนอาชญากรรมทางเพศ ผลของทะเบียนประวัติดังกล่าวทำให้ชีวิตภายหลังออกจากเรือนจำของนาย Jacob ไม่เป็นปกติสุขเมื่อภริยาของเขาได้ล่วงรู้เรื่องดังกล่าวจึงขอหย่ากับเขา จึงทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยออกมาต่อต้านระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศมิให้มีต่อไปในสังคมอีก

                   (๒) การสูญเสียโอกาสทางสังคม

                   แน่นอนว่าเมื่อผู้ใดมีชื่อและประวัติปรากฏในทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศแล้ว โอกาสที่สังคมจะให้อภัยหรือยอมให้เข้าร่วมงานเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ผู้มีชื่อในทะเบียนจะทำงานร่วมกับผู้หญิงหรือเด็ก เช่น เป็นครูในสถานศึกษา ก็ยิ่งเป็นไปได้ยากแม้ว่าเขาจะได้รับการปรับปรุงความประพฤติหรือเยียวยาทางจิตใจในขณะที่ถูกขังคุกมาแล้วก็ตาม

                   (๓) ความถูกต้องของข้อมูล

                   เป็นที่น่าตกใจเมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบการบันทึกข้อมูลผู้กระทำผิดทางเพศในแคนาดาได้เคยเปิดเผยว่า ชื่อของผู้กระทำผิดทางเพศที่ปรากฏในทะเบียนไม่สอดคล้องกับจำนวนที่แท้จริงของผู้กระทำผิดทางเพศ[๕๘] จึงเป็นบทเรียนแก่หน่วยงานทุกประเทศว่า ไม่สามารถพึ่งพาหรือไว้ใจเทคโนโลยีที่บันทึกข้อมูลได้อย่างเดียว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบความถูกต้องและความทันสมัยของข้อมูลอยู่เสมอ และหากข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปไม่ถูกต้องแล้ว ก็มีแต่จะเกิดผลเสียทั้งต่อผู้กระทำผิดเองและต่อสาธารณชน ถ้าแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ก็ไม่สมควรที่จะคงระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศไว้อีกต่อไปเช่นกัน

๕. บทสรุปและข้อเสนอแนะ

                    จากที่กล่าวมาทั้งหมดเพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงภาพรวมของระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ ทั้งในด้านบวกและด้านลบ รวมทั้งความพยายามเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศของหน่วยงานต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ แม้ในความเป็นจริง มีเพียงไม่กี่ประเทศที่นำระบบการขึ้นทะเบียนนี้มาใช้ แต่ที่น่าสนใจ คือ ระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ เปรียบเสมือนฐานข้อมูลที่บันทึกประวัติส่วนตัวและข้อมูลอาชญากรรมของผู้กระทำผิดทางเพศเพื่อกระตุ้นความระมัดระวังและการติดตามความเคลื่อนไหวของผู้กระทำผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนให้รับรู้ล่วงหน้าได้ อีกทั้งระบบนี้มิใช่มาตรการเพิ่มการลงโทษแก่นักโทษหรือผู้ที่กระทำผิดทางเพศ แต่เป็นมาตรการอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งอาจช่วยเสริมเติมความสมบูรณ์ให้แก่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของแต่ละประเทศได้

                    อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังเห็นว่า ระบบการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศ มีข้อบกพร่องบางประการที่สมควรปรับปรุง ได้แก่ ประการที่หนึ่ง รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเผยแพร่ข้อมูลของผู้กระทำผิดทางเพศให้แก่ประชาชนได้รับทราบแต่สมควรกลั่นกรองข้อมูลให้มีความถูกต้องและทันสมัยมากที่สุดรวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวของตนเพื่อที่จะได้เป็นแนวทางแก่ประชาชนในการเตรียมตัวหรือระมัดระวังตนอย่างถูกวิธี มิใช่เป็นการเพิ่มความหวาดระแวงจนไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยกระทำผิดแต่ยังมีชื่ออยู่ในทะเบียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในสังคม ประการที่สอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบหรือทบทวนความเหมาะสมในการกำหนดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนผู้กระทำผิดทางเพศอย่างเหมาะสม ควรพิจารณาถึงชนิดหรือประเภทของอาชญากรรมทางเพศที่ผู้กระทำผิดได้ก่อขึ้น พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้กระทำผิด ความเสี่ยงของภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากผู้กระทำผิด ประวัติอาชญากรรมทางเพศของผู้กระทำผิด รวมถึงอายุของผู้กระทำผิด อย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อมิให้เกิดกรณีที่ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นไปในขณะนั้น และเพื่อป้องกันปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้กระทำผิด

                  



[๑]นบ.(จุฬาฯ) นม.(จุฬาฯ) นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ ฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2556)
[๒]Anne-Marie McAlinden, The Shaming of Sexual Offenders: Risk, Retribution and Reintegration (Hart Publishing 2007) 74-75.
[๓]Joseph Ferrandino, ‘Beyond the perception and the obvious: What sex offender registries really tell us and why’ (2012) 27 Social Work in Public Health 392, 397.
[๔]Tom Pettifor, ‘Paedophile Gary Glitter free to travel abroad as ban is lifted’ The Daily Mirror (26 November 2011) <http://www.mirror.co.uk/news/uk-news/paedophile-gary-glitter-free-to-travel-93789> accessed 23 June 2013.
[๕]Autumn Long, ‘Sex Offender Laws of the United Kingdom and the United States: Flawed Systems and Needed Reforms’ (2009) 18 Transnational Law & Contemporary Problems 145, 146.
[๖]Bill Hebenton and Terry Thomas, ‘Capacity Building Against Transnational Crime: European Measures to Combat Sexual Offenders’ (1999) 7 European Journal of Crime, Criminal Law and Criminal Justice 150, 153.
[๗]Roxanne Lieb, ‘Social Policy and Sexual Offenders: Contrasting United States and European Policies’ (2000) 8 European Journal on Criminal Policy and Research 423, 423.
[๘]Anne-Marie McAlinden, ‘The governance of sexual offending across Europe: Penal policies, political economies and the institutionalization of risk’ (2012) 14(2) Punishment & Society 166, 174.
[๙]Michael Petrunik and Linda Deutschmann, ‘The Exclusion–Inclusion Spectrum in State and Community Response to Sex Offenders in Anglo-American and European Jurisdictions’ (2008) 52(5) International Journal of Offender Therapy and Comparative Criminology 499, 504.
[๑๐]Terry Thomas, The Registration and Monitoring of Sex Offenders: A comparative study (Routledge 2011) 83.
[๑๑]Caroline Wyatt, ‘Global measures against sex offenders’ BBC News (19 January 2006) <http://news.bbc.co.uk/1/hi/uk_politics/4627232.stm> accessed 2 July 2013.
[๑๒]Terry Thomas (2011), อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 10, หน้า 83.
[๑๓]Sex Offenders Act 2001
[๑๔]Citizens Information, ‘Sex Offenders Register’ (17 September 2010) <http://www.citizensinformation.ie/en/justice/criminal_law/criminal_trial/sex_offenders_register.html> accessed 29 June 2013.
[๑๕]Terry Thomas, ‘The Sex Offender Register: Some Observations on the Time Periods for Registration’ (2009) 48(3) The Howard Journal 257, 227.
[๑๖]Terry Thomas, ‘When public protection becomes punishment? The UK use of civil measures to contain the sex offender’ (2004) 10 European Journal on Criminal Policy and Research 337, 339.
[๑๗]เรื่องเดียวกัน
[๑๘]Sex Offenders Act 1997, s 1 and s 2.
[๑๙]Anne-Marie McAlinden (2012), อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 8, หน้า 173
[๒๐]Sexual Offences Act 2003, part 2.
[๒๑]Cathy Cobley, ‘The legislative framework’ in Amanda Matravers (ed), Sex offenders in the community: Managing and reducing the risks (Willan Publishing 2003) 55.
[๒๒]Bill Hebenton and Terry Thomas (1999), อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 6, หน้า 158
[๒๓]เรื่องเดียวกัน
[๒๔]National Society for the Prevention of Cruelty to Children (NSPCC), ‘A European Response: The EU and child sexual abuse’ <http://www.nspcc.org.uk/inform/policyandpublicaffairs/europe/briefings/eu_and_childsexualabuse_wdf61904.pdf> accessed 2 July 2013.
[๒๕]Karne Newburn, ‘The Prospect of An International Sex Offender Registry:Why An International System Modeled After United States Sex Offender Laws Is Not An Effective Solution To Stop Child Sexual Abuse’ (2011) 28(3) Wisconsin International Law Journal 547, 574.
[๒๖]Council Framework Decision (EU) 2009/315/JHA on the organisation and content of the exchange of information extracted from the criminal record between Member States [26 February 2009] L 93/23.
[๒๗]เรื่องเดียวกัน
[๒๘]Karne Newburn (2011), อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 25, หน้า 572
[๒๙]Parliament Assembly, ‘Reinforcing measures against sex offenders’ (4 May 2010) <http://assembly.coe.int/ASP/Doc/XrefViewHTML.asp?FileId=12426&Language=EN> accessed 22 June 2013.
[๓๐]Council Framework Decision (EU) 2009/315/JHA, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 26
[๓๑]Council Decision (EU) 2009/316/JHA on the establishment of the European Criminal Records Information System (ECRIS) in application of Article 11 of Framework Decision [6 April 2009] L 93/33
[๓๒]R (on the application of F and Thompson) v Secretary of State for the Home Department UKSC 17, [2010] EWCA Civ 792, [2009], para 4 and 58.
[๓๓]The Guardian News online, ‘Sex offenders to get right of appeal against lifetime registration’ (16 February 2011) <http://www.guardian.co.uk/law/2011/feb/16/sex-offenders-right-of-appeal-lifetime-registration> accessed 5 July 2013.
[๓๔]Sally Lipscombe, ‘Registration and management of sex offenders under the Sexual Offences Act 2003’ (2012) <http://www.parliament.uk/briefing-papers/SN05267> accessed 6 July 2013.
[๓๕]Abril R. Bedarf, ‘Examining Sex Offender Community Notification Laws’ (1995) 83(3) California Law Review 885, 902.
[๓๖]Geneva Brown, ‘Women and Children Last: The Prosecution of Sex Traffickers as Sex Offenders and the Need for a Sex Trafficker Registry’ (2011) 31(1) Boston College Third World Law Journal 1, 7.
[๓๗]UNICEF, ‘Profiting from Abuse: An Investigation into Sexual Exploitation of Our Children’ (2001) <http://www.unicef.org/emerg/files/profiting.pdf> accessed 7 July 2013.
[๓๘]Terry Thomas (2011), อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 10, หน้า 106
[๓๙]EUROPOL, ‘Europols Priorities’ <https://www.europol.europa.eu/content/page/europol%E2%80%99s-priorities-145> accessed 8 July 2013.
[๔๐]EUROJUST, ‘Strategic project on “Eurojust’s action against trafficking in human beings”: Final report and action plan’ (2012) <http://www.eurojust.europa.eu/doclibrary/Eurojust-framework/Casework/Eurojust%20action%20against%20trafficking%20in%20human%20beings%20%28October%202012%29/THB-report-2012-10-18-EN.pdf> accessed 8 July 2013.
[๔๑]Scott Matson, ‘Sex Offender Registration: Policy Overview and Comprehensive Practices’ (1999) The Center for Sex Offender Management (CSOM) <http://www.csom.org/pubs/sexreg.pdf> accessed 9 July 2013.
[๔๒]เรื่องเดียวกัน
[๔๓]เรื่องเดียวกัน
[๔๔]J.J. Prescott and Jonah E. Rockoff, ‘Do Sex Offender Registration and Notification Laws Affect Criminal Behavior?’ (2011) 54 Journal of Law and Economics 161, 162.
[๔๕]Office of Sex Offender Sentencing, Monitoring, Apprehending, Registering, and Tracking (SMART), ‘SORNA’ (Office of Justice Programs) <http://www.ojp.usdoj.gov/smart/sorna.htm> accessed 10 July 2013.
[๔๖]The Ministry of Community Safety and Correctional Services, ‘Policing Services: Ontario Sex Offender Registry’ (2 May 2012) <http://www.mcscs.jus.gov.on.ca/english/police_serv/sor/sor.html> accessed 12 July 2013.
[๔๗]Terry Thomas (2011), อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 10, หน้า 86
[๔๘]Royal Canadian Mounted Police, ‘National Sex Offender Registry’ (5 May 2008) <http://www.rcmpgrc.gc.ca/tops-opst/bs-sc/nsor-rnds/index-eng.htm> accessed 12 July 2013.
[๔๙]Sex Offender Information Registration Act 2004, s 2.
[๕๐]INTERPOL, ‘World: A global presence’ (2013) <http://www.interpol.int/Member-countries/World> accessed 15 July 2013.
[๕๑]Karne Newburn (2011), อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 25, หน้า 568
[๕๒]European Convention on Human Rights [1950] art 8.
[๕๓]S. and Marper v the United Kingdom 30562/04, [2008] ECHR 1581.
[๕๔]Bouchacourt v France 5335/06, [2009] ECHR 2276.
[๕๕]John Aston, ‘Sex offenders win human rights claim’ (The Independent, 19 December 2008) <http://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/sex-offenders-win-human-rights-claim-1204585.html> accessed 22 July 2013.
[๕๖]Terry Thomas (2011), อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 10, หน้า 144
[๕๗]Nicole Pittman, ‘Sex Offenders Aren’t All Monsters’ (Human Rights Watch, 8 May 2013) <http://www.hrw.org/news
/2013/05/08/sex-offenders-aren-t-all-monsters> accessed 29 July 2013.
[๕๘]Michael Friscolanti, ‘Fixing the Sex Offender Registry’ (The Canadian Encyclopedia, 28 July 2008) <http://www.thecanadianencyclopedia.com/articles/macleans/fixing-the-sex-offender-registry> accessed 26 July 2013.