วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ โดย นายณรัณ โพธิ์พัฒนชัย


                   เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง แต่น่าเสียดายว่าแรงสู้ข่าวเรื่องร่างทรง เรื่องผัวเมียทะเลาะกัน เรื่องเลขเด็ดงวดหน้า เรื่องพรรคเล็กพรรคใหญ่ เรื่องฉีกเรื่องแก้ ฯลฯ อันเป็นที่นิยมในเมืองไทยไม่ได้

                   ข่าวที่ว่านี้ก็คือข่าวที่ “ศูนย์การวิเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูลการให้บริการทางการเงิน” (Financial Services Information Sharing and Analysis Center : FS-ISAC) ได้ประกาศการจัดตั้ง “เวทีความร่วมมือเพื่อการแลกเปลี่ยนข้องมูลระหว่างธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง”(Central Banks, Regulators, and Supervisory Entities Forum: CERES Forum) เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความยืดหยุ่นได้ของระบบการเงินโลก (security and resiliency) เพื่อหาทางรับมือกับความเสี่ยงและความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น ทั้งจากโลกที่จับต้องได้ และโลกไซเบอร์หรือโลกเสมือน (Cyber world หรือ virtual world)

                   อันที่จริงศูนย์การวิเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูลการให้บริการทางการเงิน หรือ FS-ISAC นี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1999 (2542) แล้ว โดยเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินการโดยและได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กร หน่วยงาน และบริษัทที่เป็นภาคีสมาชิกกว่า 7,000 องค์กร มีวัตถุประสงค์หลักในการให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างความยืดหยุ่นและการพัฒนาที่ต่อเนื่องให้แก่โครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินโลกและสถาบันการเงิน เพื่อให้มีความสามารถเพียงพอที่จะป้องกันผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นจากความผันผวนและปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ผ่านการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลความเสี่ยงและความอ่อนไหวของระบบการเงิน จัดให้มีการทำการฝึกซ้อมและทำแผนเพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น บริหารจัดการช่องทางสื่อสารระหว่างองค์กรในช่วงวิกฤติ ทั้งวิกฤติที่เกิดในโลกไซเบอร์และโลกกายภาพหรือโลกจริง  นอกจากนั้น ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่สำคัญทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนด้วย

                   โดยที่ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมอันโกลาหลทางเศรษฐกิจของโลกในยุคดิจิทัล และสงครามการค้ายุคใหม่ที่อาจเกิดขึ้น สมาชิกของ FS-ISAC จึงสามารถร่วมมือกันจัดตั้ง CERES Forum ขึ้นได้เพื่อทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

                   1. จัดให้มีช่องทางติดต่อกันระหว่างธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นภาคี โดยเป็นเวทีที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกหรือภาคีทุกหน่วยงาน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลและการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์
                   2. รวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และแนวคิดเพื่อพัฒนาการควบคุมและกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
                   3. เผยแพร่และแจกจ่ายข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโลกไซเบอร์ ความอ่อนไหว เหตุการณ์ และข้อมูลความเสี่ยงด้านข่าวกรองอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการทางการเงิน รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์ต่อธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแล

                   ทั้งนี้ ความจำเป็นของการตั้งกลุ่มความร่วมมือ CERES Forum ส่วนหนึ่งมาจากตัวอย่างเหตุการณ์การโจมตีทางไซเบอร์ที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2017 (2560) ที่ผ่านมา โดยองค์กรอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่มีชื่อว่า WannaCry ได้ทำการเข้าถึงข้อมูล (ransom attack) ที่สำคัญของหน่วยงานสำคัญ ๆ หลายหน่วยงานในหลายประเทศ รวมทั้งธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงิน ไปเก็บไว้เป็นตัวประกัน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานเหล่านั้นส่งเงินคริปโทเคอร์เรนซีสกุล Bitcoin เป็นจำนวนตามที่เรียกร้องเพื่อแลกเปลี่ยนกับข้อมูลสำคัญที่กลายเป็นตัวประกันทางไซเบอร์ จะเห็นได้ว่าความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นสิ่งที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องให้ความสำคัญ

                   ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง FS-ISAC กับ CERES Forum นั้น คือ FS-ISAC มีสมาชิกทั้งหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการเงินเอกชนขนาดใหญ่ รวมทั้ง ธนาคารพาณิชย์ เครดิตยูเนี่ยน บริษัทประกันภัย บริษัทหลักทรัพย์และการลงทุน และสถาบันทางการเงินอื่น ๆ แต่ CERES Forum มีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็น platform หรือเวทีสำคัญสำหรับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลตลาดเงินและตลาดทุน โดยเฉพาะ

                   ธนาคารกลางสิงค์โปร์มีส่วนสำคัญในการผลักดันรวมทั้งร่วมร่างจุดประสงค์และโครงสร้างของ CERES Forum ตั้งแต่เริ่มต้น โดยตัวแทนธนาคารกลางสิงคโปร์ นาย Tan Yeow Seng หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงด้านไซเบอร์และผู้บริหารด้านเทคโนโลยีความเสี่ยงและการชำระเงิน กล่าวว่า ในปัจจุบัน รัฐบาลทั่วโลกต้องหันมาให้ความสนใจ ศึกษาและเข้าใจปัญหาความท้าทายที่เกิดขึ้นจากโลกไซเบอร์ ดังนั้น ความคิดริเริ่มในการก่อตั้งกลุ่มความร่วมมือ CERES Forum เพื่อเป็นศูนย์กลางสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะมีความสำคัญมากในอนาคต และเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความพยายามของธนาคารกลางสิงคโปร์และสถาบันการเงินในประเทศสิงคโปร์อยู่แล้วก่อนหน้าที่จะเข้ามามีส่วนร่วมจัดตั้ง CERES Forum ธนาคารกลางสิงคโปร์เคยทำงานร่วมกับ FS-ISAC มาแล้วในการก่อตั้งศูนย์วิเคราะห์และข่าวกรองระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ข้อมูลไซเบอร์ระหว่างสถาบันทางการเงินในภูมิภาคอีกด้วย

                   แปลกแท้ ๆ เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว แต่บ้านเรากลับไม่มีใครสนใจเรื่องพรรค์นี้เลย

                   แล้วจะตามใครเขาทันล่ะนี่.

ทหารกับการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะ (ตอนที่ 2) โดย พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์*


                   บทความนี้ต่อเนื่องจากบทความเรื่อง"สรุปหลักกฎหมาย หลักสากล หลักสิทธิมนุษยชน คำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครอง มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ และกฎในส่วนที่เกี่ยวกับทหารกับการบริหารจัดการการชุมนุมเรียกร้อง" ที่ลงพิมพ์ในวารสารหลักเมืองฉบับ เดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งฉบับที่แล้วกล่าวถึงหลักการ ส่วนฉบับนี้จะกล่าวถึงข้อสังเกตสำคัญบางประการเพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนหรือสั่งการหรือปฏิบัติต่อไป ซึ่งมาจากการรวบรวมข้อมูลด้านกฎหมายและหลักสากล โดยเป็นเพียงข้อสังเกตของผู้เขียนซึ่งไม่ผูกพันส่วนราชการใดแต่ประการใด สรุปได้ดังนี้

                   1. การที่สื่อมวลชนหรือบางหน่วยงานใช้คำภาษาอังกฤษว่า “mob”(ม็อบ) เช่น มีม็อบมาอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะนี้มีม็อบเกษตรกรมาชุมนุมเรียกร้องหน้าศาลากลางจังหวัดหรือกระทรวง หรือมีม็อบพืชไร่ปิดถนนเพื่อเรียกร้องให้ทางราชการพยุงราคาพืชไร่ เป็นต้นนั้น เป็นการเรียกหรือใช้คำที่คลาดเคลื่อน ความหมายตามภาษาอังกฤษ ม็อบหมายถึงฝูงชนที่บ้าคลั่งเผาทำลายสิ่งของ หรือออกอาละวาดเผาทำลายทรัพย์สินของประชาชน หรือออกปล้นสะดม  ซึ่งที่ถูกต้องแล้วสื่อมวลชนและหน่วยงานควรรายงานหรือกล่าวว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องมาอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล  ขณะนี้มีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องเกษตรกรมาชุมนุมเรียกร้องหน้าศาลากลางจังหวัดหรือกระทรวง หรือมีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องพืชไร่ปิดถนนเพื่อเรียกร้องให้ทางราชการพยุงราคาพืชไร่

                   2. การฝึกอบรม กำลังพลทหารที่จะมาบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะ (ควบคุมฝูงชนหรือหากสถานการณ์รุนแรงมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอาจจำเป็นต้องปราบปรามการจลาจล) จะต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีทักษะ ความเข้าใจ และอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะเป็นประจำเป็นอย่างดี ไม่ควรมอบหมายให้กำลังพลที่ไม่ได้เข้ารับการฝึกอบรมโดยเด็ดขาด หากมอบหมายมีแนวโน้มสูงว่าจะปฏิบัติการผิดพลาด เพราะการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะนั้นมีวิธีการและขั้นตอนแตกต่างจากการปฏิบัติการทางทหารในลักษณะ Combat Operations ที่กำลังพลทหารส่วนใหญ่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะการปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น ซึ่งเน้นการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ร้ายแรงกับความรุนแรงเป็นหลัก นอกจากนั้นกำลังพลที่ใช้ในการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะจะต้องมีความอดทนและอดกลั้นเป็นอย่างสูงต่อการยั่วยุ สำหรับผู้บังคับบัญชาทหารควรจะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องว่ากรณีใดเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีใดเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสำหรับกรณีการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็แบ่งเป็นการชุมนุมที่ไม่ก่อเหตุร้ายกับการก่อเหตุร้าย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการใช้กำลังทหารในส่วนที่เกี่ยวข้อง

                   3. อุปกรณ์การควบคุมฝูงชนนั้นจะต้องใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมโดยเฉพาะเท่านั้น ประกอบด้วยเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ที่ตัดเย็บมาโดยเฉพาะและกันความร้อนหรือไฟ อุปกรณ์ที่เรียกว่า"สนับ"เพื่อป้องกันส่วนที่สำคัญของร่างกาย หมวกที่มีความแข็งแรง หน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตาหรือไอพิษ โล่ กระบอง ระเบิดเสียง ระเบิดควัน แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และรถฉีดน้ำ ซึ่งอุปกรณ์ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ กระสุนยาง และรถฉีดน้ำ กล่าวคือ ต้องมั่นใจว่ากระสุนยางที่จะนำมาใช้ต้องไม่หมดอายุ เพราะหากหมดอายุกระสุนยางที่เคยนิ่มหรืออ่อนตัวจะมีความแข็งเสมือนวัสดุของแข็ง ใช้ไปย่อมก่อให้เกิดความบาดเจ็บอย่างรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสได้ ส่วนรถฉีดน้ำนั้นควรเป็นรถฉีดน้ำที่จัดทำมาเพื่อควบคุมฝูงชนโดยเฉพาะที่มีระบบความปลอดภัยของพลขับและกำลังพลในรถ ตลอดจนสามารถเคลื่อนที่ไปฉีดน้ำไป หากใช้รถดับเพลิงมาใช้ฉีดน้ำสลายการชุมนุม นอกจากเป็นการใช้อุปกรณ์ผิดวัตถุประสงค์แล้ว ต่อไปรถดับเพลิงจะกลายเป็นเป้าหมายในการทำลายจากฝูงชนแล้วอาจเป็นผลให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงไม่สามารถใช้การได้หากมีอัคคีภัยในพื้นที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นรถดับเพลิงต้องหยุดกับที่เวลาฉีดน้ำกับไม่มีระบบความปลอดภัยของพลขับและกำลังพลในรถ

                   4. กฎการใช้กำลังหรือเดิมที่เรียกว่ากฎการปะทะหรือกฎการโจมตีของทหารนั้น ในการควบคุมฝูงชนจะต้องเหมาะสมกับสถานการณ์และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย กระชับและเข้าใจง่าย รวมทั้งไม่กำหนดให้เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของกำลังพลทหาร ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนได้ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง และควรกำหนดในกฎการใช้กำลังให้มีการเตรียมการรักษาพยาบาลเบื้องต้นกรณีมีผู้บาดเจ็บของกลุ่มฝูงชนและกำลังพลที่มาปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนการส่งผู้บาดเจ็บสาหัสไปยังโรงพยาบาล ซึ่งการยกร่างกฎการใช้กำลังนั้นควรดำเนินการโดยฝ่ายยุทธการหรือผู้ปฏิบัติของหน่วยทหารแล้วให้เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมายร่วมพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมาย

                   5. หากเป็นการใช้กำลังทหารปราบปรามการจลาจลนั้นจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายใต้พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ แต่หากเป็นการใช้กำลังทหารปราบปรามการจลาจลในพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบก่อนจากคณะรัฐมนตรี 

                   6. เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณภายใต้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ได้ในสองกรณี กรณีแรกตามมาตรา 19 วรรคหก เจ้าพนักงานตำรวจที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะอาจร้องขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะดำเนินการตามคำร้องขอภายในขอบอำนาจหน้าที่ของผู้นั้น ซึ่งกรณีนี้เป็นการสนับสนุนช่วยเหลือ มิใช่การขอให้ใช้กำลังทหารควบคุมฝูงชนโดยตรง หน่วยทหารที่ได้รับการร้องขอจะต้องพิจารณาดำเนินการภายใต้อำนาจหน้าที่ของหน่วยเป็นเรื่องๆ ไป เช่น หน่วยทหารขนส่งอาจสนับสนุนยานพาหนะในการเคลื่อนย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยแพทย์ทหารอาจสนับสนุนการปฐมพยาบาลฝูงชนที่เจ็บป่วยระหว่างการชุมนุม เป็นต้น และกรณีที่สองตามมาตรา 23 วรรคสอง และวรรคสาม กรณีผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุมสาธารณะตามคำสั่งศาลและมีการประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุม นายกรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้อาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์เพื่อให้มีการเลิกชุมนุมได้ กรณีนี้เป็นการใช้กำลังทหารเข้าควบคุมฝูงชนโดยตรง ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง กรณีไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  ให้ใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนเพียงเท่าที่จำเป็น โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักและมีการเตือนด้วยเครื่องขยายเสียงทุกขั้นตอน สำหรับเครื่องมือควบคุม ฝูงชนต้องเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ ที่ได้กำหนดไว้ 48 รายการ ซึ่งหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบเครื่องมือควบคุมฝูงชนและจัดหาให้ครบถ้วนตามประกาศดังกล่าว

                   7. กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือหน่วยงานในสังกัดร้องขอให้ฝ่ายทหารจัดกำลังทหารไปช่วยเหลือในการระงับเหตุ/อารักขา/รักษาสถานที่และทรัพย์สินของทางราชการ โดยกำลังทหารดังกล่าวเป็น ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ซึ่งอยู่ภายใต้การสั่งการ/กำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การดำเนินการข้างต้นเป็นเรื่องที่สำนักตำรวจแห่งชาติหรือหน่วยงานในสังกัดมีหนังสือร้องขอไปยังหน่วยทหาร โดยหน่วยทหารดังกล่าวจะต้องรายงานขออนุมัติตามสายการบังคับบัญชาแล้วมีหนังสือแจ้งตอบไปว่าสามารถดำเนินการตามที่ได้รับการร้องขอได้หรือไม่ ถ้าได้ควรแนบรายชื่อกำลังพลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานไปด้วยเพื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือหน่วยงานในสังกัดไปดำเนินการออกเป็นคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารที่ได้รับการร้องขอดังกล่าวข้างต้นจะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังและรอบคอบว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นการใช้กำลังทหารควบคุมฝูงชนหรือปราบปรามการจลาจล โดยควรปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมายเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการระงับเหตุ/อารักขา/รักษาสถานที่และทรัพย์สินของทางราชการกับการควบคุมฝูงชนหรือการปราบปรามการจลาจล ซึ่งมีลักษณะการปฏิบัติการที่แตกต่างกัน หากเข้าข่ายการควบคุมฝูงชนหรือการปราบปรามการจลาจล ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารดังกล่าวก็จะต้องพิจารณาดำเนินการตามที่กล่าวแล้วข้างต้นทุกประการ

                   สรุป การบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารนั้นนอกจากอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย หลักสากล หลักสิทธิมนุษยชน และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังจะต้องมีการฝึกอบรมกำลังพลทหารที่เกี่ยวข้อง การใช้เครื่องมืออุปกรณ์หรือเครื่องมือควบคุมฝูงชนที่เหมาะสม กฎการใช้กำลังที่เหมาะสมมีความอ่อนตัวปรับเปลี่ยนได้

-------------------------------
*ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2561

"เกร็ดการร่างกฎหมาย 16: ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน" ปกรณ์ นิลประพันธ์


                   พักหลัง ๆ นี้มีการเสนอให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนหลายฉบับ เมื่อถามหน่วยงานที่เสนอกฎหมายแบบนี้เข้ามาว่าทำไมต้องตั้งกองทุนให้มันวุ่นวายด้วย ทำไมไม่ใช้เงินงบประมาณ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรต่าง ๆ อยู่ดี

                   ที่ว่าวุ่นวายเพราะหน่วยงานที่เสนอกฎหมายต้องแยกทำบัญชีของกองทุนอีกต่างหาก ทั้งสร้างต้นทุนในการบริหารจัดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอาคารสถานที่ บุคลากร และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าต้องปันเงินกองทุนมาใช้จ่ายเพื่อการนี้ ไหนจะเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายนั่นนี่นู่น อีกทั้งการแบ่งเงินงบประมาณมาตั้งเป็นกองทุนนี่ก็ทำให้การจัดสรรเงินงบประมาณที่ควรจะเป็นก้อนใหญ่กลับกระจัดกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก (diversion of public fund) การใช้จ่ายเงินของกองทุนที่ตั้งขึ้นอย่างมากมายจึงไม่ทรงพลัง เพราะต่างกองทุนต่างก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน มีคณะกรรมการบริหารกองทุนกันคนละชุด เปรียบเสมือนวงดนตรีวงเล็กวงน้อยที่มาบรรเลงเพลงของตัวเองพร้อม ๆ กันบนเวทีเดียวกัน ไม่ได้เล่นเป็นวงใหญ่ ดนตรีที่ออกมาจึงไม่ไพเราะเสนาะหู รำคาญโสตประสาทเสียมากกว่า     

                   เชื่อไหมครับว่าทุกหน่วยตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเงินงบประมาณนั้นใช้ยากหนักหนา มีระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ นา ๆ มากมาย แต่ถ้าเป็นการใช้จ่ายเงินกองทุนจะคล่องตัวกว่า เพราะระเบียบการใช้จ่ายเงินต่าง ๆ คล่องตัวกว่าระเบียบกฎเกณฑ์การใช้จ่ายเงินงบประมาณ  ดังนั้น พอเสนอกฎหมายอะไรก็ตามก็เลย “เป็นธรรมเนียม” ว่าจะต้องเสนอให้มีการตั้งกองทุนแถมไปด้วยทุกครั้ง

                   เอ๊ะ ... หรือจะแอบใช้เป็นช่องทางเพิ่มอัตรากำลังและค่าตอบแทนในรูปเบี้ยประชุมแบบเนียน ๆ ก็ไม่รู้ได้ ... แต่ถ้าคิดอย่างหลังนี้นับว่าไม่ดีเอามาก ๆ เข้าข่ายมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อให้ตนได้รับผลประโยชน์นะครับ

                   นี่ถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมากในทัศนะของผู้เขียน เพราะปัญหาที่แท้จริงคือระเบียบกฎเกณฑ์ในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินมันไม่คล่องตัว แต่แทนที่จะปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ที่ว่านี้ กลับใช้วิธีเสนอกฎหมายตั้งกองทุนแทนเพื่อจะมีกฎระเบียบที่คล่องตัวกว่า เอาเข้าไป???

                   อย่างนี้เขาเรียกว่าแก้ปัญหาไม่ถูกจุดหรือเกาไม่ถูกที่คันครับ มันจะหายคันได้อย่างไร

                   แต่ที่จะเล่าในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องการตั้งกองทุนหรอกครับเพราะมีคนดูแลเรื่องความจำเป็นที่จะต้องตั้งกองทุนอยู่แล้ว บ่นไปอย่างนั้นเอง หากจะเล่าเรื่องการเขียนบทบัญญัติในการจัดตั้งกองทุนครับ

                   สังเกตนะครับว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการตั้งกองทุนนี้ นอกจากจะมีบทบัญญัติให้ตั้งกองทุนขึ้นแล้ว ยังต้องมีบทบัญญัติที่ต้องบอกให้ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของกองทุนคืออะไร เงินและทรัพย์สินของกองทุนประกอบด้วยอะไรบ้าง ให้ใช้จ่ายได้เพื่อการใดบ้าง การบริหารกองทุนจะเป็นอย่างไร มีระบบการเงินการบัญชีและการตรวจสอบอย่างไร

                   เรื่องอื่นไว้เล่าที่หลังครับ ตอนนี้จะว่าเฉพาะการเขียนเรื่องเงินและทรัพย์สินของกองทุนก่อน

                   สังเกตไหมครับว่าในเรื่องกองทุนนี้จะต้องมีมาตราหนึ่งเสมอที่เขียนว่ากองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินดังต่อไปนี้ แล้วก็จะมีอนุมาตราจาระไนเรียงกันไปว่าเงินและทรัพย์สินของกองทุนมาจากแหล่งไหนบ้าง ก็ว่ากันมาตั้งแต่แหล่งสำคัญที่สุดลงมา แล้วอนุมาตราสุดท้ายจะจบด้วย “(..) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน”

                   เหตุที่ต้องจบด้วย “(..) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน” เพราะจะได้รวมดอกผลทุกชนิดของเงินและทรัพย์สินจากทุกแหล่งที่ได้จาระไนตั้งแต่ข้างบนลงมาครับ อันนี้เป็นข้อกฎหมายนะครับ ไม่ใช่ “แบบ” อย่างที่ใคร ๆ ชอบอ้าง เพราะถ้าไปเติมแหล่งเงินอื่น ๆ เข้าไปหลังอนุมาตราที่ว่า “(..) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน” จะเกิดปัญหาให้ต้องมาเวียนหัวในการตีความว่าแล้วดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาเพิ่มเติมนั้นจะเป็นของกองทุนหรือเปล่า

                   ดังนั้น เวลามือเก๋าเขาจะเติมแหล่งเงินเข้าไปในมาตราที่ว่าด้วยเงินและทรัพย์สินของกองทุน เขาจะเติมเป็นอนุมาตราก่อนอนุมาตราที่ว่า “(..) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน” เสมอ ไม่ใช่นึกจะเติมตรงไหนก็เติม ... เรียกว่าเติมอย่างมีสติ

                   เห็นไหมครับว่าเรื่องมันมีเหตุมีผล ไม่ใช่ “แบบ”

วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561

“เรียนไปทำไม” ปกรณ์ นิลประพันธ์

หลายวันก่อนมีการเผยแพร่ผลคะแนนสอบโอเน็ตสูงสุด (ค่าเฉลี่ยรวม 5 วิชา ไทย สังคม อังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์) ของโรงเรียนที่อยู่ใน 400 อันดับแรกออกมาแล้วมีการนำไปเผยแพร่ต่อในโซเชียลเน็ตเวอร์คกันอย่างแพร่หลายว่า เป็นการจัดอันดับ 400 โรงเรียนที่เจ๋งที่สุดในประเทศไทย

ว้าว ฟังแล้วมันน่าดิ้นรนส่งลูกหลานเข้าไปเรียนยิ่งนัก ...

ผู้เขียนยินดีด้วยครับกับโรงเรียนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่ว่า แต่อีกใจหนึ่งก็ถามตัวเองว่าการพาดหัวหรือการชวนเชื่ออย่างนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า?

จริงอยู่ครับที่ผลคะแนนของเด็กขึ้นอยู่กับผลการสอน แต่เด็กยุคนี้เขาก็ไม่ได้เรียนอยู่แต่เฉพาะในโรงเรียนเหมือนครั้งกระโน้นอย่างที่ลุง ป้า อย่างเรายังใส่ชุดนักเรียน

วันนี้ เด็กจำนวนมหาศาลจากโรงเรียนดัง นี่แหละครับที่แห่กันไปเรียนพิเศษกวดวิชากันอย่างเอาเป็นเอาตายเมื่อโรงเรียนเลิก ไม่ต้องเชื่อครับ แนะนำให้ไปดูเองเลยตามแหล่งที่ตั้งของโรงเรียนกวดวิชา เรียนมาทั้งวันในโรงเรียน เย็นย่ำค่ำมืดยังถ่อมาเรียนพิเศษกันอีก เสาร์อาทิตย์ก็มาเรียน ตะบี้ตะบันเรียนมันเข้าไป บางคนดูจะสนิทสนมกับยามที่เฝ้าตึกเรียนพิเศษมากกว่าครูประจำชั้นของตัวเองเสียอีก

ไม่ใช่ว่าเลิกเรียนแล้วต้องรีบกลับบ้านไปช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านหรือขายของต่อเหมือนในยุค 70 ไม่ได้อยู่เล่นบอลต่อที่โรงเรียนเหมือนยุค 80 ไม่ได้ไปซิ่งต่อเหมือนยุค 90 แล้วนะครับ จะว่าไม่มีเด็กกลุ่มนี้เลยก็คงไม่ใช่ แต่มันมีน้อยลงจนเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ยังมี platform การเรียนรู้ใหม่ ผ่านระบบไอทีอีกเป็นจำนวนมากที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ ทั้งแบบเสียสตางค์และไม่เสียสตางค์ 

อ้าว ถ้าโรงเรียนดีขนาดนั้นแล้วทำไมเด็กต้องเสียเงินเสียเวลาไปเรียนกวดวิชากันอีกเล่า??? แล้วเด็กที่พ่อแม่ไม่มีตังส่งไปเรียนกวดวิชาหรือที่ต้องช่วยทางบ้านทำมาหากิน เรียนอยู่เฉพาะในโรงเรียนจะไปสู้ใครเขาได้

ผู้เขียนจึงเห็นว่าการที่เด็กในโรงเรียนใด ก็ตามได้คะแนนสอบระดับชาติสูง นั้น ไม่ใช่บทสรุปว่าโรงเรียนนั้นเจ๋ง แต่ต้องดูบริบทแวดล้อมที่ว่าด้วย

ในทางตรงข้าม การที่เด็กต้องเรียนอย่างหัวปักหัวปำนี่มันก็ไม่ใช่ว่าจะดีนะครับ วัยเรียนนี้นอกจากความฉลาดทางปัญญาแล้ว ต้องมีความฉลาดทางอารมณ์และสังคมด้วย ฉลาดแต่เห็นแก่ตัว หรืออยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมอย่างผาสุกไม่ได้นี่เราไม่น่าจะเรียกว่าเก่งนะครับ อันนี้โบราณท่านว่าความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด 

นอกจากขาดพัฒนาการที่จำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมดังว่าแล้ว การเรียนแต่ตำราทำให้เด็กขาดทักษะในการดำรงชีวิตและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยนะครับ เพราะในตำรามีแค่ถูกกับผิด ... เจอปัญหานอกตำราเข้าไปไม่เป็นเลย ทั้งที่ปัญหานอกตำรานี่แหละที่เราต้องเจอกันในชีวิตกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เก่งแต่ชี้ปัญหา แต่ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เลยใช้วิธีหนีปัญหาไปเสียอย่างนั้น

จินตนาการก็หดหาย จากละอ่อนสดใสใฝ่ฝันอยากเป็นนั่นเป็นนี่ สร้างนั่นสร้างนี่ พอเข้าระบบไป วัน ก็นั่งอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมแคบ เรียนมันเข้าไป เรียนเพื่อให้สอบผ่าน เมื่อไปกวดวิชาเพิ่มหลายที่เขาก็ให้เรียนกับครูตู้หรือครูคอมพิวเตอร์ ยิ่งแคบหนักกว่าเดิม เวลาว่างก็สาละวนอยู่กับมือถือบ้าง แทบเล็ตบ้าง ซึ่งยิ่งเหลี่ยมยิ่งเล็กหนักข้อเข้าไปอีก จินตนาการเอย ความคิดสร้างสรรค์เอย นวัตกรรมเอย มันจะเกิดได้ยังไง ... 

ไหนจะพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กอีกล่ะ เน้นกันแต่ทางวิชาการ ลืมด้านพัฒนาการทางด้านร่างกายไป เรียนกันจนหัวโตตัวซีดเป็นถั่วงอก เจอแดดเจอฝนเข้าหน่อยก็ร่วงแล้ว ปรับตัวไม่ทัน อันนี้สำคัญมากนะครับ สภาพภูมิอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง จริง ๆ เด็ก ของเราต้องแข็งแกร่งกว่าเดิม เพราะต้องพร้อมรับทุกสถานการณ์ 

ปัจจุบัน พละศึกษาดูจะเป็นวิชาที่โรงเรียนให้ความสำคัญน้อยลงมากทั้ง ที่กีฬาเป็นยาวิเศษแก้กองกิเลสทำตนให้เป็นคน ... นักกีฬาใจกล้าหาญ เชี่ยวชาญชิงชัยไม่ย่นย่อ คราวชนะรุกใหญ่ไม่รีรอ คราวแพ้ก็ไม่ท้อกัดฟันทน ... ร่างกายกำยำล้ำเลิศ กล้ามเนื้อก่อเกิดทุกแห่งหน แข็งแรงทรหดอดทน ว่องไวไม่ย่นระย่อใคร…” ดังเพลงกราวกีฬาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีท่านประพันธ์ไว้

จะว่าไปกีฬานี่เป็นพื้นฐานของผู้คนในระบอบประชาธิปไตยนะครับ สังเกตท่อนหลังที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีท่านประพันธ์ไว้สิครับ คนที่เป็นนักกีฬาอย่างแท้จริงนี่ นอกจากร่างกายกำยำล้ำเลิศแล้วยังมี “…ใจคอมั่นคงทรงศักดิ์ รู้จักที่หนีที่ไล่ รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย ไว้ใจได้ทั่วทั้งรักชัง ... ไม่ชอบเอาเปรียบเทียบแข่งขัน สู้กันซึ่งหน้าอย่าลับหลัง มัวส่วนตัวเบื่อเหลือกำลัง เกลียดชังการเล่นเห็นแก่ตัวเห็นไหมล่ะ 

ลางทีการที่ประชาธิปไตยไทยอ่อนแอ อาจจะเป็นเพราะขาดน้ำใจนักกีฬาก็ได้หนา น่าทำวิจัยเหมือนกันแฮะน้ำใจนักกีฬากับการพัฒนาประชาธิปไตยนี่ตั้งชื่อหัวข้อให้เสร็จสรรพ เผื่อท่านใดสนใจจะไปวิจัยต่อ

ยิ่งเดี๋ยวนี้มีกีฬาอาชีพด้วย ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ ใช่เรื่องเล่น เสียที่ไหนล่ะ

สรุปแล้วผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยสักเท่าไรที่มีการสรุปเอาง่าย ตามโซเชียลว่าผลการสอบโอเน็ตที่ว่านี้แสดงว่าโรงเรียนไหนเจ๋งสุด แล้วก็ไม่ใช่ว่าโรงเรียนที่ไม่มีรายชื่อในบัญชีที่ว่านี้จะเป็นโรงเรียนที่ไม่เอาไหน 

กลับกัน มันน่าจะแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเหมาะสมสำหรับคนในศตวรรษที่ 21 เสียมากกว่า

นอกจากนี้ มันแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ระทมของเด็กที่ต้องเรียนกันอย่างลำบากตรากตรำ 

การศึกษาไม่ได้เป็นบ่อน้ำที่มีไว้เพื่อดับความกระหายใคร่รู้ของราษฎรให้อิ่มเอมเปรมปลื้มกับความรู้ที่ตนได้ตักมาดื่มอย่างเต็มใจสำหรับพัฒนาตน พัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติเหมือนในอดีตอีกต่อไป หากกลายเป็นสมรภูมิรบอันดุเดือดและบีบคั้นที่เด็ก ถูกผลักไสให้เข้าร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้ใบปริญญามาประดับประหนึ่งเหรียญกล้าหาญ คนไม่มีปริญญากลายเป็นผู้พ่ายแพ้ในสายตาของสังคมที่กระหายใบประกาศเกียรติคุณ ... มันใช่การศึกษาที่ควรจะเป็นไหมนี่ ...  

ลองถามนักรบผู้ไร้เดียงสาเหล่านี้ดูบ้างดีหรือไม่ว่าทุกวันนี้เขาเรียนอย่างมีความสุขหรือเปล่า หรือเขาได้เรียนอย่างที่เขาชอบเขาถนัดไหม เขาต้องการความรู้ ทักษะ ความรู้ความชำนาญในเรื่องใด เพราะเขาคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตัวจริง

จะได้ไม่มีเสียงบ่นว่าเรียนไปทำไม(วะ)”

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กบในหม้อต้ม โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์


แน่นอนครับว่าทุกประเทศในโลกยุคนี้กำลังเผชิญกับปัญหาสำคัญ 3 ประการ หนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงอย่างโกลาหลทางเทคโนโลยีหรือที่ผู้คนในสังคมเรียกกันติดปากว่า Disruptive Technology สองคือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุหรือ Aging Society และสามคือ Climate and Geologic change หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและธรณี

การเปลี่ยนแปลงทั้งสามประการนี้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จนกล่าวได้ว่าทุกวงการย่อมได้รับแรงสั่นสะเทือนไปด้วย

ปัญหาอยู่ที่ว่าประเทศไหน สังคมไหน วงการไหน จะตระหนักรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนนี้ว่ามันมีกำลังรุนแรงมหาศาลมากเพียงใด และจะเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับแรงสั่นสะเทือนนี้อย่างไร

ถ้าไม่รู้สึกรู้สาอะไรมากนัก ประเทศนั้น สังคมนั้น วงการนั้น ก็จะมีลักษณะไม่แตกต่างไปจากกบในหม้อต้มหรือที่ฝรั่งเรียกว่า frog in a broiler

เหตุที่เปรียบเทียบเช่นนี้เพราะถ้าจับกบไปใส่ไว้ในหม้อที่มีน้ำ กบก็จะลอยคอตาแป๋วนิ่งอยู่ ถ้าเราเปิดไฟอ่อน ๆ น้ำในหม้อก็จะค่อย ๆ ร้อนขึ้นทีละนิด กบมันจะไม่กระโดดหนี แต่จะปรับตัวของมันให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแทน กว่าจะรู้ว่าถูกต้มก็สุกเสียแล้ว แบบนั้นน่ะครับ

ในวงการอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีในการทำงานเยอะ ๆ อย่างภาคเอกชนและภาควิชาการนี่ ผู้เขียนว่าเขาตระหนักในเรื่องนี้มานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่เขาติดตามและตระเตรียมการรองรับความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้มาตลอด

แต่ในวงการที่ทำงานอย่างอนุรักษ์นิยม ใช้กระดาษ ใช้ลายเซ็น เป็นหลักในการอนุมัติอนุญาตนี่น่ากลัวครับว่าจะทันการเปลี่ยนแปลงไหม ถ้าไม่ทันก็ยุ่งเลยนะครับ เพราะจะกลายเป็นตัวถ่วงการพัฒนาของวงการอื่น ๆ เขาไปเสียได้

กลับมาพูดถึงวงการเล็ก ๆ แต่มีผลกระทบกว้างขวางมากอย่างวงการร่างกฎหมายดีกว่า ในทัศนะของผู้เขียนนั้น ทั้ง Disruptive Technology, Aging Society และ Climate and Geologic change นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่นักร่างกฎหมายต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะมันจะมีผลกระทบต่อกลไกของกฎหมายที่จะจัดทำขึ้น ถ้ากลไกของกฎหมายไม่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงสำคัญทั้งสามประการที่เกิดขึ้นได้ กฎหมายก็รังแต่จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไป สร้างต้นทุนแก่ภาครัฐ สร้างภาระที่ไม่จำเป็นแก่ประชาชน เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน ทั้งยังทำให้การพัฒนาประเทศกระพร่องกระแพร่งและไม่ยั่งยืนอีกด้วย

อย่าง Disruptive Technology นี่ ทั่วโลกเขานำเทคโนโลยีมาใช้ในการประกอบธุรกิจมานานมากแล้ว ในภาครัฐเองเกือบทุกประเทศเขาก็พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเพื่อใช้ในการให้บริการประชาชนกันอย่างกว้างขวางนานแล้ว ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในการให้บริการประชาชนให้สะดวกมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการบริการแบบเบ็ดเสร็จผ่านระบบออนไลน์ (e-Service) ดังนั้น การออกกฎหมายของเขาจึงต้อง “คิดตลอดเวลา” ว่ากลไกที่จะกำหนดไว้ในกฎหมายนั้นจะสามารถให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ อย่างไร จะเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐเข้าด้วยกันอย่างไร ถ้าเรื่องใดไม่สามารถให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เขาไม่เขียนกฎหมายให้ทำหรอกครับ วัตถุประสงค์คือเพื่อลดภาระของประชาชน และเพื่อลดต้นทุนของรัฐในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ออกกฎหมายใหม่แต่ไปลอกกลไกตามกฎหมายเก่า ๆ มาใช้เพราะมันเป็น “แบบกฎหมาย” หรือเป็นเพราะหน่วยงาน “ปฏิบัติกันอย่างนี้มานมนาน” วิธีคิดแบบนี้เขาไม่เรียกพัฒนาครับ 

แหม ... ก็จะพัฒนายังไงล่ะ โลกหมุนไปไกลแล้ว ยังมัวงมโข่งอยู่กับกลไกหรือวิธีการแบบเก่า ๆ อยู่อีก บังคับให้ประชาชนต้องทำอะไรแล้ว ยังสร้างความลำบากให้เขาในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียอีกแน่ะ

Aging Society ก็เหมือนกัน กฎหมายเก่า ๆ นั้นตราขึ้นตั้งแต่สมัยที่ทั่วโลกมีอัตราการเกิดสูงมาก ระบบการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลก็ยังไม่ทันสมัยอย่างทุกวันนี้ ระบบครอบครัวก็เป็นครอบครัวใหญ่ การศึกษาก็ยังไม่กว้างขวาง แรงงานก็เป็นแรงงานในระบบโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้กลไกของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แรงงาน การดูแลสังคม การดูแลสุขภาพ จึงวางอยู่บนสมมุติฐานแบบนั้น  แต่บัดนี้สถานการณ์กลับตาลปัตรไปแล้ว อัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการตายมาก มากเสียจนหลายประเทศจะมีพลเมืองลดลงหลายสิบล้านคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ระบบครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว แรงงานขาดแคลนจนต้องนำเข้าแรงงาน มีการนำหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มาใช้ การศึกษาก็ทั่วถึง(แม้จะยังไม่ทัดเทียม) ระบบการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลก็ทันสมัย  ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้นักร่างกฎหมายต้อง “ตามให้ทัน” และต้อง “คิดใหม่” เพื่อพัฒนากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการศึกษา กฎหมายแรงงาน กฎหมายสวัสดิการสังคม กฎหมายเกี่ยวกับสุขภาพ ฯลฯ ให้รองรับสถานการณ์เช่นนี้ให้ได้

ไม่ใช่เอะอะก็ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการ เพิ่มอำนาจหน้าที่ เพิ่มหน่วยงาน เพิ่มอัตรากำลัง ตั้งกองทุน ฯลฯ แบบนี้เขาเรียกแก้ผ้าเอาหน้ารอดครับ ดูเหมือนทันสมัยขึ้น แต่เนื้อหาเดิม ๆ ซ้ำร้ายจะสร้างภาระแก่ประชาชนและภาระงบประมาณมากกว่าเดิมเสียอีก เพราะยิ่งมีอะไรรุงรังเพิ่มขึ้นเต็มไปหมด

Climate and Geologic change มีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ การตั้งถิ่นฐาน การอพยพย้ายถิ่น การสาธารณสุข การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ อย่างมาก อย่างการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ต้องมีการถมที่ให้สูงขึ้นเพื่อหนีน้ำท่วม มันก็กระทบต่อความสูงต่ำของพื้นที่ไปโดยปริยาย จนปัจจุบันเราแทบจะไม่รู้แล้วว่าเวลาฝนตกลงมาน้ำจะไหลไปทางไหน ความสูงของอาคารก็กระทบต่อการไหลของอากาศในเมือง กลายเป็นเรามีเรือนกระจกครอบเมืองไว้ ป่าลดน้อยลงเรื่อย ๆ แทนที่จะเพิ่มขึ้นทั้งที่ทุกภาคส่วนมีโครงการปลูกป่ากันทั้งปี ชายทะเลหดหายไปมากเข้า ทั้งจากน้ำทะเลสูงขึ้น ป่าชายเลนถูกทำลาย ครั้นจะถมทะเลเอาที่คืนก็ทำไม่ได้ ฯลฯ

ในทัศนะของผู้เขียน นี่เป็นผลมาจากการที่เราไม่ได้มองเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นระบบ หากมองแบบแยกส่วนอย่างที่เคย ๆ ทำมาในอดีต แนวคิดเรื่องการแบ่งงานตามหน้าที่ (Functional Base) ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงในระบบการจัดทำกฎหมายและระบบราชการของประเทศไทย ขณะที่ระบบกฎหมายและระบบราชการของประเทศที่พัฒนาแล้วเขามุ่งไปสู่ “ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” หรือ “ผาสุกขึ้น” (Better life) ของประชาชน ซึ่งโดยนัยนี้ การคิดของภาคราชการและนักร่างกฎหมายต้องมองปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบ “องค์รวม” (Holistic) เพื่อให้โครงการ กิจกรรม หรือร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นนั้นจะทำให้ประชาชนมี “ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” หรือ “ผาสุกขึ้น” 

ไม่ใช่คิดแต่ตัวฉัน ของฉัน หน่วยงานของฉัน

ก็ถ้าใช้ “ฉัน” เป็นหลัก “ฉัน” เท่านั้นที่จะได้สิ่งที่ “ฉัน” ต้องการ

แล้ว “ประชาชน” จะมี “ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” หรือ “ผาสุกมากขึ้น” ได้อย่างไรเล่า???

ถ้าไม่ปรับตัว เราจะกลายเป็น frog in the broiler นะครับ.