วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2565

เรื่องช้าง ๆ โดย สพ ญ ทิตฏยา จรรยาเมธากุล

ช้างจัดเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและผูกพันกับประวัติศาสตร์ของไทยในหลายมิติ ทั้งด้านการศึกสงคราม ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม รวมถึงเศรษฐกิจ จากการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างหล่อหลอมกลายเป็นวิถีชีวิต จนถักทอต่อยอดเป็นภูมิปัญญาการเลี้ยงช้างที่ส่งต่อจากรุ่นต่อรุ่นซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศ จนกระทั่งช้างกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของประเทศไทยพันธนันท์

ช้างของไทยนับว่ามีความซับซ้อนมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในมุมมองชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาติตะวันตกที่มักเข้าใจว่า ช้างทุกเชือกในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าที่ถูกล่าเพื่อนำมาใช้งาน แต่แท้จริงแล้วช้างที่อยู่กับคน หรือช้างที่นักท่องเที่ยวสามารถพบปะหรือสัมผัสได้นั้นเรียกว่า ช้างบ้านหรือช้างเลี้ยง ซึ่งไม่ได้มีถิ่นกำเนิดจากในป่าอีกแล้ว เพราะมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ตั้งแต่เกิด โดยช้างเหล่านี้จะถูกเลี้ยงดูโดยควาญช้าง จึงเกิดการเรียนรู้ ส่งผลให้ช้างบ้านสามารถสื่อสารและอยู่ร่วมกับคนได้ และที่สำคัญช้างบ้านทุกเชือกได้จดทะเบียนเป็นสัตว์พาหนะ ตามพ.ร.บ.สัตว์พาหนะ พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งมีตั๋วรูปพรรณช้าง (ส.พ.๕) ระบุตัวตนช้างเอาไว้ด้วย การทำตั๋วรูปพรรณช้าง เป็นเอกสารที่สำคัญเทียบเท่าทะเบียนบ้านของคน ที่ออกให้โดยกรมการปกครองในพื้นที่ที่ช้างอยู่อาศัย จำเป็นต้องมีการแจ้งเกิด แจ้งย้าย แจ้งตายตามกฎหมายเช่นเดียวกับคน และเพื่อระบุตัวช้างได้ชัดเจนขึ้น ทางกรมปศุสัตว์ได้ฝังหมายเลขไมโครชิพที่กล้ามเนื้อช่วงคอ หลังใบหูซ้าย และยังมีหลักฐานจากการตรวจพันธุกรรม หรือรหัสดีเอ็นเอ พิมพ์ไว้ในตั๋วรูปพรรณอีกด้วย สืบเนื่องจากมาตรการป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน นับแต่ปีพ.ศ. ๒๕๕๙ มานั้น ช้างบ้านทุกเชือกต้องได้รับการตรวจทางพันธุกรรม ในขณะที่ช้างป่า ซึ่งเป็นช้างที่เกิดและมีแหล่งที่อยู่อาศัยในป่า ไม่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ ในทางกฎหมายช้างป่ายังอยู่ภายใต้การดูแลของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๒๕ การที่มีการแบ่งสถานะของช้างไทยด้วยกฏหมายไทยได้ชัดเจนเช่นนี้ ก็นับเป็นอีกจุดที่บ่งบอกความสำคัญของช้างในประเทศไทยเกียรติสกุล 



ผูกพันฉันท์มิตร 

การใช้ช้างบ้านทำงานเกิดขึ้นมานานหลายร้อยปีแล้ว คำกล่าวที่ว่า ช้างเลี้ยงคน คนเลี้ยงช้าง นั้นน่าคิดเพราะในขณะที่คนใช้ช้างทำงาน คนก็นำรายได้มาบำรุง ดูแล ช้างของตนเอง เสมือนความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัย ภาพความทรงจำที่คนส่วนใหญ่มีต่อช้างบ้านคือ งานลากไม้ แต่แท้จริงแล้วงานของช้างนั้นแตกต่างไปตามผู้เลี้ยง  ดังเช่น หากเลี้ยงโดยชาวปกาเกอะญอ ก็มักเป็นการเลี้ยงและให้ช่วยลากไม้ สำหรับนำมาสร้างบ้านหรือทำการเกษตร ยกตัวอย่างในพื้นที่ อำเภออมก๋อย มีการใช้ช้างในการไถพรวนดินเพื่อทำสวน ไร่นา เป็นต้น ส่วนทางภาคอีสานและภาคกลาง มักจะใช้ช้างในเชิงที่ข้องเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การแห่ช้างบวชนาคของชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย อันเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานถึง ๑๗๗ ปีอย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตช้างบ้านในประเทศไทย คือการตกงาน เนื่องมาจากการยุติการลากไม้ เพราะมีพระราชกำหนดยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศลงในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ทำให้การใช้ช้างในอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ดำเนินมานานนับร้อยปีจำต้องหยุดชะงักลง

  เมื่อชาวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะชาวตะวันตกที่ตื่นเต้นกับการได้เห็นช้าง สัตว์ขนาดใหญ่ซึ่งมีความสามารถในการสื่อสารกับควาญ จนสามารถทำงานร่วมกัน ดังนั้น เมื่อช้างตกงาน จึงเริ่มมีการนำช้างมาให้คนทั่วไปได้เห็นและสัมผัสเกิดเป็นรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวในภาคเหนือ เช่น เสริมกิจกรรมการขี่ช้างควบคู่ไปกับการเดินป่า ล่องแพ และเข้าพักในหมู่บ้านชาวเขา  กระทั่งต่อมาได้มีการพัฒนากิจกรรมตามความต้องการของนักท่องเที่ยว เช่น การอาบน้ำช้าง การขี่ช้างแบบมีแหย่งและไม่มีแหย่ง การชมการแสดงความสามารถของช้าง การอยู่กับช้าง เรียนรู้ชีวิตช้าง การเรียนรู้บทบาทควาญ เป็นต้นสมยศ ทำให้ในปัจจุบันมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างมากมายทั่วประเทศไทย จนเมื่อกล่าวถึงประเทศไทย ทั่วโลกก็มักจะจินตนาการถึงภาพต้มยำกุ้ง อาหารไทย ชายหาดสวย วัด และช้าง กล่าวได้ว่าช้างเป็นหนึ่งใน "แม่เหล็ก" ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เลือกซื้อตั๋วเครื่องบิน บินข้ามทวีป เพื่อมาท่องเที่ยว พักผ่อน จนเป็นรายได้เข้าประเทศ กล่าวได้ว่า ช้างคือหัวใจของการท่องเที่ยวไทย นิสิต


ความทุ่มเทของควาญช้าง 

การเลี้ยงช้างนับว่าเป็นงานที่หนักทั้งในแง่ของการทำงาน ความเสี่ยง และค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าอาหาร เพราะช้าง 1 เชือกต้องการอาหารสดถึงวันละ ๑๕o -๓oo กิโลกรัม ซึ่งประกอบไปด้วย อาหารหยาบซึ่งเป็นอาหารหลัก เช่น หญ้า ต้นข้าวโพด ต้นสัปปะรด และอาหารเสริม เช่น กล้วย อ้อย มะขามเปียก ทำให้มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเชือกละ  ๕oo บาทต่อวันเป็นอย่างน้อย ดังนั้นการดูแลช้าง ๑ เชือกให้อิ่มท้องจึงอยู่ที่ ๑๕,ooo บาทต่อเดือน แต่การจะให้ช้างมีสุขภาพที่แข็งแรง มีสวัสดิภาพที่ดีได้ต้องมีการจัดการด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การทำกิจวัตรประจำวันที่ดี ได้เดินออกกำลังกาย มีพื้นที่เลี้ยงที่เหมาะสม มีควาญที่ดีรู้ใจสามารถสื่อสารกับช้างได้ และหากช้างไม่สบายก็มีการปฐมพยาบาลหรือติดต่อสัตวแพทย์เพื่อมาตรวจรักษา เป็นต้น ซึ่งการดูแลประชากรช้างบ้านของไทยนับหลายพันเชือกนี้ เป็นหน้าที่ของเจ้าของช้างมาโดยตลอด ดังนั้นการหาเงินมาเลี้ยงช้างจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และการท่องเที่ยวก็เป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของคนเลี้ยงช้าง กล่าวได้ว่า การท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการอนุรักษ์ช้างบ้านของประเทศ โดยเฉพาะเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถสร้างรายได้ให้สามารถใช้เลี้ยงช้างบ้านไทยได้จนถึงทุกวันนี้ แต่จากวิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒o๑๙ (COVID-19) ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงักธีรภัทร

ฤ ช้างไทย จะแพ้พ่ายให้ โควิด-๑๙ 

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – ๑๙ ที่รุนแรงเกินกว่าคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวไปอย่างมหาศาลและกระจายออกไปในวงกว้าง อาทิเช่น พนักงานภายในปางช้าง เจ้าของช้าง เกษตรกรผู้ปลูกและส่งอาหารให้ปางช้าง  โรงแรมที่พัก บริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ รถนำเที่ยว ชาวบ้านในชุมชนรอบๆ พื้นที่ท่องเที่ยว เป็นต้น แต่ที่น่ากังวลมากที่สุด นั่นคือ วิกฤตครั้งนี้ส่งผลโดยตรงกับช้างบ้านเพราะเจ้าของช้างไม่มีรายได้ การจัดซื้ออาหารช้างจึงทำได้น้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้ควาญช้างต้องออกไปหางานพิเศษ กระทบถึงเวลาที่ได้อยู่ดูแลช้างไม่เพียงพอเหมือนเช่นเคย เมื่อไม่มีคนดูแลจึงไม่สามารถปล่อยช้างให้เป็นอิสระได้ ทำให้ต้องล่ามโซ่ ยืนโรง รอจนกว่าควาญจะกลับมา จึงจะได้เดินออกกำลังกายหรืออาบน้ำ เมื่อผ่านไปแรมปี สถานการณ์ไม่คลี่คลาย เจ้าของช้างนับร้อยเชือก จึงตัดสินใจพาช้างกลับภูมิลำเนา 

การพาช้างกลับบ้านเกิดอาจฟังแล้วรู้สึกอบอุ่นใจแต่ในความเป็นจริง สถานที่นั้น ๆ ก็เป็นบ้านเกิดที่ช้างไม่ได้อยู่มานานแล้ว เมื่อกลับไปจึงกลายเป็นสถานที่ไม่เหมาะสม อาหารตามธรรมชาติไม่เพียงพอ ด้านสุขภาพพบการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ มีการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรที่อันตราย การกระจายตัวกลับบ้านในพื้นที่ห่างไกลนี้ เป็นอีกปัญหาในการดูแลสุขภาพ เพราะการเข้าถึงสัตวแพทย์ทำได้ยากขึ้น ความช่วยเหลือส่งไปไม่ถึงในบางพื้นที่ ผลกระทบนี้ยังสืบเนื่องมาจนถึงปี ๒๕๖๕ เศรษฐกิจที่แย่ลงทั่วประเทศ การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ช้างบ้านทั้งที่อยู่ในปางช้าง หรือช้างกลับบ้าน ก็มีปัญหาสุขภาพที่สืบเนื่องจาก การกินอาหารไม่เพียงพอ ไม่ได้สัดส่วนที่ถูกต้อง การอยู่ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดความเครียด และทำให้ช้างเจ็บป่วย ธีรภัทร;วีระศักดิ์

สำหรับสัตวแพทย์เองได้รับแจ้งช้างเจ็บป่วยอยู่เรื่อยๆ นับเป็นจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น ตั้งแต่เจ็บป่วยที่เล็กน้อย เจ็บตา มีแผล รักษาไม่นานก็หาย จนถึงในกลุ่มช้างที่มีร่างกายผ่ายผอมมากขึ้นส่งผลให้สุขภาพทรุดโทรม เช่น แม่ช้างมีน้ำนมไม่เพียงพอ แม่ช้างแท้งลูก ช้างไม่มีแรงลุกยืน ทั้งยังพบโรคเรื้อรังได้ในช้างที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น นับว่าเป็นช่วง ๓ ปีที่ได้รับทราบการสูญเสียช้างจากเจ้าของช้างทั่วประเทศเป็นจำนวนมากกว่าปกติ

ร่วมมือสู้เพื่อช้างบ้านของไทย

สำหรับการร่วมมือสู้เพื่อช้างบ้านของไทยนั้น เป็นที่น่ายินดีว่าคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเล็งเห็นความสำคัญของช้างไทย จึงมีมติเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕ มอบหมายให้ "กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปประสานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและวางแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมในการดำเนินการและดูแลรักษาด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับช้าง เช่น ควาญ เจ้าของปางช้าง โดยยึดแนวทางการสืบสาน รักษา และต่อยอดของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักในการดำเนินการ เพื่อให้ช้างทั้งที่เป็นช้างบ้านและช้างป่าได้รับการคุ้มครอง เลี้ยงดู และใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งเกิดภาพลักษณ์ที่ดีเกี่ยวกับการเลี้ยงช้างให้เป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเร่งด่วน" ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับช้างที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ

นอกจากนี้ ในวันช้างไทย (วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๕ )ที่ผ่านมา ท่านวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ก็ยังได้กล่าวในพิธีเปิดวันงานช้างไทย ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ไว้ว่า จากที่ช้างได้กระจายไปสู่ที่ต่างๆมากมาย การรับความช่วยเหลือเพียงจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งคงไม่ทั่วถึง ดังนั้นหากจะช่วยช้างและคนเลี้ยงช้างให้ผ่านวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเลี้ยงช้างเท่าที่เคยมีมาไปให้ได้ จำต้องอาศัยความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่มีความรักช้างทั่วประเทศ เพื่อให้ยังมีช้างคู่ชาติไทยตลอดไป

 

เอกสารอ้างอิง

เกียรติสกุล ชลคงคา, “กฎหมายเบื้องต้นสำหรับการใช้ช้างในธุรกิจท่องเที่ยว” (การจัดฝึกอบรมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้ช้างอย่างถูกวิธี ครั้งที่ ๓ จังหวัดกาญจนบุรี อนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทยในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, โรงแรมพาวีเลี่ยน ริมแคว รีสอร์ท กาญจนบุรี, ๒๕ – ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๔) ๑๑.

สัมภาษณ์  ธีรภัทร ตรังปราการ, นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย, สมาคมสหพันธ์ช้างไทย (สำนักงานใหญ่สมาคมสหพันธ์ช้างไทย, ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕).

นิสิต เชียงใหม่ : ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2561

พันธนันท์ โอษฐ์เจษฎา 2557 แผนงานวิจัยการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการเลี้ยงช้างของหมอช้างและควาญช้างในประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ พฤศจิกายน 

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์, “โควิดยังขวิดช้างอย่างแรง” (dramathailand, ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕) <https://dramathailand.com/%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B9%8C-%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%8C-%E0%B9%82/8116/>สืบค้นเมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์, รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, “วันช้างไทย” (วันช้างไทยประจำปี ๒๕๖๕, สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จังหวัดลำปาง,๑๓ มีนาคม ๒๕๖๕)

ภาพ

สมาคมสหพันธ์ช้างไทย, “ตั๋วพิมพ์รูปพรรณช้าง”(thaielephantalliance, ๓๑ มกราคม ๒๕๖๔)<https://www.thaielephantalliance.org/th/facts-about-asian-elephant.html> สืบค้นเมื่อ ๓มีนาคม ๒๕๖๕

สมยศ เชียงใหม่ : ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2561


-----------------------

**สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สัตวแพทย์. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่