แนวคิดในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ
ขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา
พ.ศ. ....
นายปกรณ์ นิลประพันธ์[๑]
การอภิปรายเรื่องร่างพระราชบัญญัติขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา
พ.ศ. .... ในวันนี้จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติในมาตราต่าง ๆ เพราะหากลงไปในรายละเอียด
การอภิปรายที่ตามมาจะเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำสำนวนของร่างกฎหมาย
แทนที่จะกล่าวถึงหลักการอันเป็น "แก่น" ของร่างกฎหมาย โดยจะกล่าวถึงเฉพาะแนวคิดอันเป็นหลักการของร่างพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น
แต่ก่อนจะกล่าวถึงแนวคิดในการยกร่างพระราชบัญญัตินั้น จะขอกล่าวถึงการใช้อำนาจในการทำหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันก่อน
หากศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีต
จะพบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับวางหลักการเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยและองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยไว้ชัดเจนตรงกันว่า
อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี
และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และหากพิจารณาเฉพาะการทำหนังสือสัญญานั้น
รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติไว้ตรงกันว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาต่าง ๆ กับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
โดยบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในหมวดคณะรัฐมนตรี
บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาโดยผ่านทางคณะรัฐมนตรี
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ
อย่างไรก็ดี
ในกรณีที่หนังสือสัญญาที่ทำขึ้นนั้นมีผลให้ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายใน
หรือต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่ออนุวัติการตามหนังสือสัญญาดังกล่าว
หรือหนังสือนั้นมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐ รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็บัญญัติไว้เช่นเดียวกันว่าหนังสือสัญญานั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
หลักการนี้เป็นหลักที่ยอมรับในอังกฤษอันเป็นประเทศที่ปกครอง
ในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเช่นเดียวกับประเทศไทย
โดยตามหลักรัฐธรรมนูญอังกฤษนั้นถือว่า Only the Queen
can conclude the treaty, but the Queen’s prerogative could not alter the laws
of the land.[๒]
อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติมาตรา
๑๙๐ ประกอบกับมาตรา ๓๐๓ (๓) ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาเพิ่มขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาหลายประการ
ประการที่หนึ่ง
ตามมาตรา ๑๙๐ วรรคสองนั้น นอกจากหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาแล้ว บรรดาหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาด้วย
ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาด้วย
ประการที่สอง มาตรา ๑๙๐ วรรคสาม
บัญญัติว่า ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญนั้น คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น และต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย
ประการที่สาม เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาทั้งห้าประเภทดังกล่าวแล้ว
คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้นก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน
และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็วเหมาะสมและเป็นธรรมด้วย
ประการที่สี่
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
หรือมีผลผูกพันด้านการค้า
หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป โดยมีข้อสังเกตว่าข้อเรียกร้องนี้ไม่รวมถึงหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และให้กฎหมายดังกล่าวกำหนดเฉพาะ
“ขั้นตอนและวิธีการจัดทำ”
หนังสือสัญญาเท่านั้น
ไม่ได้ให้กำหนดนิยามของหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
หรือมีผลผูกพันด้านการค้า
หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญไว้ด้วย
เพราะมาตรา ๑๙๐ วรรคหก บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่มีปัญหาว่า “หนังสือสัญญาใด” เป็นหนังสือสัญญาที่มีลักษณะดังกล่าวหรือไม่
เป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป
ประการที่ห้า กฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญานั้น
อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการดำเนินการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างคณะรัฐมนตรีและรัฐสภามีความโปร่งใส
มีประสิทธิภาพ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยที่มีความเป็นอิสระซึ่งดำเนินการก่อนการเจรจาทำหนังสือสัญญา
โดยไม่มีการขัดกันระหว่างประโยชน์ของรัฐกับผลประโยชน์ของผู้ศึกษาวิจัยไม่ว่าในช่วงเวลาใดของการบังคับใช้หนังสือสัญญา
ดังนั้น ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำข้อเรียกร้องของรัฐธรรมนูญที่เพิ่มขึ้นมาประมวลเข้ากันและกำหนดเป็นกรอบในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(๑) จำเป็นต้องกำหนดบทนิยามคำว่า “หนังสือสัญญา” หรือไม่
จากการตรวจสอบรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกเรื่อยมาจนถึงฉบับปัจจุบัน พบว่าไม่มีการนิยามคำว่า
“หนังสือสัญญา”
ไว้ในรัฐธรรมนูญเลย โดยทางปฏิบัติที่ผ่านมาในอดีตได้ถือตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ถือว่าหนังสือสัญญาต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
๑.๑ คู่สัญญาต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศไม่ว่าระหว่างรัฐกับรัฐ หรือระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ
๑.๒ ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร
๑.๓. ต้องมีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งหมายถึงกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
หรือ Public
International Law
ต่อมาในปี ๒๕๔๒ ประเทศไทยทำหนังสือแสดงความจำนง
หรือ Letter of Intent เพื่อประกอบการกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
และมีการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าหนังสือแสดงความจำนงดังกล่าวนั้นเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนว่าหนังสือแสดงความจำนงดังกล่าวนั้นเป็นหนังสือสัญญาหรือไม่
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวางหลักไว้ในคำวินิจฉัยที่ ๑๑/๒๕๔๒ หนังสือสัญญานั้น
ต้องทำระหว่างรัฐกับรัฐ หรือระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ โดยต้องทำเป็นหนังสือเพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ต้องการให้มีผลผูกพันตามกฎหมาย และต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่โดยที่หนังสือแสดงความจำนงเป็นเพียงการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว หากปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่บังคับกันตามกฎหมาย จึงไม่เป็นหนังสือสัญญา ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ ๓๓/๒๕๔๓ ก็วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน
ต้องทำระหว่างรัฐกับรัฐ หรือระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ โดยต้องทำเป็นหนังสือเพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ต้องการให้มีผลผูกพันตามกฎหมาย และต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่โดยที่หนังสือแสดงความจำนงเป็นเพียงการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว หากปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่บังคับกันตามกฎหมาย จึงไม่เป็นหนังสือสัญญา ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ ๓๓/๒๕๔๓ ก็วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน
ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่
๖-๗/๒๕๕๑ วางหลักว่า หนังสือสัญญาตามมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๕๕๐ มีความหมายทำนองเดียวกับ Treaty ตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา
ค.ศ. ๑๙๖๙ โดยหมายถึงความตกลงระหว่างประเทศทุกประเภทที่จัดทำขึ้นระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะถูกบันทึกไว้ในเอกสารฉบับเดียวกันหรือหลายฉบับ
ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกอย่างไร และต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยหากไม่ปรากฏว่าความตกลงระหว่างประเทศอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายภายในของรัฐใด
ความตกลงระหว่างประเทศนั้นย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่ชัดเจนของคำว่าหนังสือสัญญา คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดนิยามหนังสือสัญญาขึ้นตามนิยามของ Treaty ตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา
ค.ศ. ๑๙๖๙ และตามนัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๑/๒๕๔๒, ๓๓/๒๕๔๓ และ ๖-๗/๒๕๕๑
(๒)
หนังสือสัญญาใดบ้างที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายนี้
โดยที่มาตรา ๑๙๐ วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญฯบัญญัติว่า
ให้ออกกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการทำหนังสือสัญญาเฉพาะหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญเท่านั้น กรณีจึงมีข้อพิจารณาว่าหนังสืออื่นที่ต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๙๐ วรรคสอง และวรรคสาม
อันได้แก่ หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา
และหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่องบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญนั้นจะมีขั้นตอนและวิธีการทำอย่างไร
สมควรกำหนดไว้ในกฎหมายนี้ด้วยหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า โดยที่อำนาจในการทำหนังสือสัญญา
เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารจึงอาจตรากฎหมายเพื่อกำหนดขั้นตอนและวิธีการทำหนังสือสัญญาได้อยู่แล้ว ดังนั้น
แม้รัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดให้ตรากฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการทำหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา
และหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่องบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม แต่โดยที่กระบวนการจัดทำหนังสือสัญญาดังกล่าวคล้ายคลึงกับการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ จึงสมควรกำหนดขั้นตอนและวิธีการทำหนังสือสัญญาดังกล่าวไว้ในกฎหมายนี้ด้วย
(๓) หนังสือสัญญาตามมาตรา
๑๙๐ วรรคหนึ่ง จะมีขั้นตอนและวิธีการจัดทำอย่างไร
นอกจากหนังสือสัญญาตามมาตรา
๑๙๐ วรรคสอง แล้ว ฝ่ายบริหาร
มีอำนาจทำหนังสือสัญญาได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
หรือกล่าวได้ว่าการทำหนังสือสัญญาที่ไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา ๑๙๐ วรรคสอง
เป็นอำนาจโดยแท้ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารจึงอาจตรากฎหมาย กฎ
หรือระเบียบเพื่อกำหนดขั้นตอนและวิธีการทำหนังสือสัญญาได้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดขั้นตอนและวิธีการทำหนังสือสัญญาดังกล่าว
(๔)
สัญญาหรือความตกลงเพื่อกู้เงินหรือค้ำประกันเงินกู้ที่รัฐบาลไทยทำกับต่างประเทศอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการทำหนังสือสัญญาหรือไม่
โดยทั่วไปสัญญาหรือความตกลงเพื่อกู้เงินหรือค้ำประกันเงินกู้ที่รัฐบาลไทยทำกับต่างประเทศตามกฎหมายที่ให้อำนาจเป็นการเฉพาะนั้นเป็นธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศที่คู่สัญญาเป็นรัฐกับรัฐ
หรือรัฐกับองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้น และกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาหรือความตกลงนี้ (Governing law)
จะเป็นกฎหมายภายใน (Domestic law) ของรัฐใดรัฐหนึ่ง
การกำหนดกฎหมายที่ใช้บังคับนี้ ปกติจะกำหนดไว้ชัดเจนในสัญญา
แม้บางกรณีไม่มีการกำหนดกฎหมายที่ใช้บังคับไว้ในสัญญา
ก็เป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น (Lex loci
contractus) ตามมาตรา ๑๓[๓]
แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๘๑ จึงต้องดูข้อเท็จจริงเป็นกรณี
ๆ ไป เพราะหากเข้านิยามตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นหนังสือสัญญาแล้ว
แต่กระทรวงการคลังยืนยันว่าสัญญาหรือความตกลงเพื่อกู้เงินหรือค้ำประกันเงินกู้ทุกเรื่องมี
Governing
law เป็นกฎหมายภายในทั้งสิ้น และขอให้กำหนดให้ชัดเจนว่าสัญญาหรือความตกลงเพื่อกู้เงินหรือค้ำประกันเงินกู้ที่รัฐบาลไทยทำกับต่างประเทศตามกฎหมายที่ให้อำนาจเป็นการทั่วไปหรือเป็นการเฉพาะไม่เป็น “หนังสือสัญญา” ตามมาตรา ๑๙๐ โดยสภาพ
(๕)
ควรกำหนดให้ชัดเจนไว้หรือไม่ว่าหนังสือสัญญาใดมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
โดยที่มาตรา
๑๙๐ วรรคหก บัญญัติว่าในกรณีที่มีปัญหาว่า “หนังสือสัญญาใด” เป็นหนังสือสัญญาที่มีลักษณะดังกล่าวหรือไม่
เป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยหากสมาชิกรัฐสภาไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นของคณะรัฐมนตรี
ก็ต้องเสนอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ดังนั้น
จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป ไม่อาจนิยามได้ว่าหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญให้กำหนดเฉพาะ “ขั้นตอนและวิธีการทำ” หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญเท่านั้น
(๖) ถ้ากำหนดให้ชัดเจนไม่ได้ว่าหนังสือสัญญาใดมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จะสามารถกำหนดแนวทางในการพิจารณาได้หรือไม่ว่าหนังสือสัญญาใดบ้างที่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาดังกล่าว
เพื่อให้การดำเนินงานของฝ่ายบริหารเป็นไปด้วยความคล่องตัว
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า หากไม่มีแนวทางในการพิจารณาว่าหนังสือสัญญาใดบ้างที่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาดังกล่าว อาจเกิดเหตุที่สมาชิกรัฐสภาเสนอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามมาตรา ๑๙๐ วรรคหก ทุกกรณี อันเป็นผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
หรือในทางตรงข้าม ฝ่ายบริหารอาจเสนอหนังสือสัญญาทุกฉบับต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาทุกกรณีเพื่อมิให้เกิดความขัดแย้ง
แต่จะกระทบต่อการปฏิบัติงานด้านนิติบัญญัติของฝ่ายนิติบัญญัติ กรณีจึงสมควรกำหนดแนวทางเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวข้างต้นโดยให้คณะรัฐมนตรีกำหนดในเบื้องต้นว่าหนังสือสัญญาลักษณะใดที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้
ตามคำแนะนำของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการต่างประเทศและเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้
แล้วให้คณะรัฐมนตรีเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณา
ถ้าไม่มีข้อคัดค้านภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็ถือว่าทั้งสองสภามีความเห็นพ้องกันในเบื้องต้นว่าหนังสือสัญญาลักษณะดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อ
ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อได้ประกาศข้อกำหนดดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ฝ่ายบริหารจะได้มีกรอบในการใช้ดุลพินิจ
ความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อได้ประกาศข้อกำหนดดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ฝ่ายบริหารจะได้มีกรอบในการใช้ดุลพินิจ
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการประกาศข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว
สมาชิกรัฐสภาก็ยังมีเอกสิทธิที่จะเสนอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเป็นรายกรณีได้ตามมาตรา ๑๙๐ วรรคหก แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าแม้กลไกที่กำหนดขึ้นนี้เป็นเพียงกระบวนการกลั่นกรองเรื่อง
แต่น่าจะลดปัญหาระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติได้มาก และน่าจะช่วยให้ฝ่ายบริหารสามารถดำเนินการทำหนังสือสัญญาได้อย่างคล่องตัว
(๗) ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐไปทำความตกลงกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ควรกำหนดกรอบการทำความตกลงของหน่วยงานของรัฐหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า เพื่อป้องกันมิให้หน่วยงานของรัฐไปทำความตกลงที่มีลักษณะตามมาตรา ๑๙๐ วรรคสอง สมควรมีบทบัญญัติที่ห้ามหน่วยงานของรัฐที่มิได้รับมอบอำนาจจากคณะรัฐมนตรีไปทำความตกลงกับรัฐบาลต่างประเทศ
รัฐต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ
ให้มีผลเช่นเดียวกับหนังสือสัญญาตามตามมาตรา ๑๙๐ วรรคสอง
เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศขึ้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวก็สอดคล้องกับหลักการทำหนังสือสัญญาตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา
ค.ศ. ๑๙๖๙ ที่กำหนดว่าผู้ลงนามในหนังสือสัญญาได้ต้องเป็นผู้มีอำนาจเต็ม
ซึ่งนอกจากนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว
ผู้ลงนามในหนังสือสัญญาต้องได้รับมอบอำนาจเต็ม (Full power)
จากคณะรัฐมนตรี
(๘)
จะกำหนดกระบวนการจัดทำหนังสือสัญญาอย่างไร
หากพิจารณามาตรา ๑๙๐
ของรัฐธรรมนูญ จะพบว่าได้มีการแยกหนังสือสัญญาเป็น ๒ ประเภท คือ
หนังสือสัญญาที่ต้องมีการเจรจาเพื่อทำหนังสือสัญญา
กับหนังสือสัญญาที่ไทยเข้าเป็นภาคีได้โดยไม่ต้องมีการเจรจา คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเห็นควรกำหนดกระบวนการในการทำหนังสือสัญญาออกเป็น ๒
รูปแบบคือ
รูปแบบที่หนึ่ง หนังสือสัญญาที่ต้องมีการเจรจาเพื่อทำหนังสือสัญญา
ก่อนเริ่มต้นการเจรจา
หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องพิจารณาว่า
หนังสือสัญญานั้นมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
หรือมีผลผูกพันด้านการค้า
หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่ ถ้ามีผลกระทบดังกล่าวต้องทำการศึกษาวิจัยผลกระทบก่อน
แล้วนำผลการวิจัยไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
หลังจากนั้นจึงร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดทำกรอบการเจรจาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา คณะรัฐมนตรีต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบถึงกรอบการเจรจาไปพร้อมกัน รัฐสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น
จะแก้ไขเป็นประการอื่นไม่ได้
แต่ถ้าหากต่อรองกันในรัฐสภาแล้วรัฐบาลยอมแก้อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว หน่วยงานกับกระทรวงการต่างประเทศก็ไปเจรจาร่วมกัน
ทั้งนี้ ในการเจรจาก็ต้องรับฟังความคิดเห็นและนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการเจรจาด้วย
ส่วนกรอบการเจรจาขึ้นอยู่กับเรื่องที่ทำ
ไม่ควรใส่ไว้ในกฎหมาย ปล่อยให้เป็นทางปฏิบัติระหว่างคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภาและเรื่องกรอบการเจรจาคงต้องพัฒนาขึ้นโดยแต่ละหน่วยงานซึ่งจะไปทำหนังสือสัญญาเอง
รูปแบบที่สอง
หนังสือสัญญาที่ไทยเข้าเป็นภาคีได้โดยไม่ต้องมีการเจรจา
กรณีไม่ต้องเจรจานั้นไม่ต้องทำวิจัยก่อน
แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไปได้เลย
(๙) การเปิดเผยผลการเจรจา
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าในการเจรจานั้น
อาจมีบางกรณีที่การเปิดเผยข้อมูลไม่เป็นผลดีต่อสถานะของประเทศในการเจรจาหรือต่อความมั่นคงของชาติ
จึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดข้อยกเว้นไว้ด้วยว่าในกรณีใดที่ไม่ต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว
(๑๐)
วิธีการเผยแพร่ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
โดยที่รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์แจ้งชัดที่จะให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือสัญญา
ข้อสำคัญทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และมีเวลาคิดและสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างแท้จริง
คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการเผยแพร่ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ด้วย
โดยอย่างน้อยให้ทำผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศของหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่หากเห็นเป็นการสมควร รัฐมนตรีเจ้าสังกัดอาจจะกำหนดให้ทำโดยวิธีอื่นด้วยก็ได้
(๑๑) การวิจัยต้องทำอย่างไร
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเรียกร้องว่าก่อนการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
หรือมีผลผูกพันด้านการค้า
หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ต้องมีการศึกษาวิจัยที่มีความเป็นอิสระซึ่งดำเนินการก่อนการเจรจาทำหนังสือสัญญา
โดยไม่มีการขัดกันระหว่างประโยชน์ของรัฐกับผลประโยชน์ของผู้ศึกษาวิจัยไม่ว่าในช่วงเวลาใดของการบังคับใช้หนังสือสัญญา
ปัญหาคือจะกำหนดกระบวนการวิจัยอย่างไร
เพื่อป้องกันมิให้ผู้รับวิจัยมีประโยชน์ได้เสียในเรื่องที่ทำ
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นควรกำหนดให้ผู้ที่รับวิจัยต้องเป็น “สถาบันหรือองค์กร”
เท่านั้น และต้องเป็นสถาบันหรือองค์กรที่มีอิสระในการดำเนินงาน
และผู้ที่สถาบันหรือองค์กรมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัยต้องเป็นผู้รับรองตนเองว่าตนไม่มีส่วนได้เสียหรืออคติเป็นการส่วนตัวในเรื่องที่ศึกษาวิจัย ส่วนประเด็นการศึกษาวิจัยนั้น ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าการทำหนังสือสัญญานั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบในภาพรวมหรือ National Interests อย่างไรบ้าง มีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุนอย่างไร มีผลกระทบต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไร และที่สำคัญคือจะมีแนวทางป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเหล่านั้นอย่างไร
สำหรับค่าตอบแทนการวิจัยให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศ
ในกรณีที่ไม่มีสถาบันหรือองค์กรใดรับเป็นผู้วิจัย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเอง
(๑๒) การเจรจาทำอย่างไร
เพื่อความเป็นเอกภาพในการเจรจา
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกับกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการร่วมกัน
และในกรณีที่เป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
หรือมีผลผูกพันด้านการค้า
หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ หน่วยงานที่รับผิดชอบและกระทรวงการต่างประเทศต้องนำผลการรับฟังความคิดเห็นในชั้นที่มีการเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภามาพิจารณาประกอบการเจรจาด้วย
เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เมื่อเจรจาเสร็จก็ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสรุปผลการเจรจา
(๑๓)
การลงนามในหนังสือสัญญาต้องทำอย่างไร
โดยที่การมีผลผูกพันของหนังสือสัญญาแบ่งออกเป็น
๒ ประเภท คือ มีผลผูกพันทันทีเมื่อมีการลงนาม กับมีผลผูกพันเมื่อมีการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน
ดังนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเห็นควรกำหนดว่ากรณีหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันทันทีเมื่อมีการลงนาม
คณะรัฐมนตรีต้องเสนอหนังสือสัญญานั้นต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนการลงนาม
แต่ถ้าเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลใช้บังคับเมื่อมีการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันนั้น
คณะรัฐมนตรีเสนอหนังสือสัญญาต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันหนังสือสัญญานั้น ทั้งนี้
ในการเสนอหนังสือสัญญาต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบนั้น
คณะรัฐมนตรีต้องเผยแพร่รายละเอียดของหนังสือสัญญานั้นให้ประชาชนทราบโดยทั่วไปด้วยโดยผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศของหน่วยงานที่รับผิดชอบและกระทรวงการต่างประเทศ
(๑๔) การเข้าถึงข้อมูลหนังสือสัญญา
เพื่อประกันสิทธิของประชาชนที่จะเข้าถึงข้อมูลหนังสือสัญญาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นควรกำหนดว่าเมื่อทำหนังสือสัญญาเสร็จ หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเผยแพร่หนังสือสัญญานั้นในระบบเครือข่ายสารสนเทศของหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้ประชาชนตรวจดูแลทำสำเนาข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศนั้นได้เอง
และต้องส่งไปประกาศใน “ฐานข้อมูลหนังสือสัญญา”
ที่กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้จัดทำขึ้นด้วย
โดยฐานข้อมูลหนังสือสัญญาดังกล่าวจะเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือสัญญาทั้งหมดที่รัฐบาลไทยหรือราชอาณาจักรไทยเป็นภาคี และให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจดูและทำสำเนาข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศนั้นได้เอง
(๑๕)
มาตรการแก้ไขเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากหนังสือสัญญา
ในการกำหนดมาตรการแก้ไขเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากหนังสือสัญญาตามข้อเรียกร้องของรัฐธรรมนูญนั้น
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นควรกำหนดว่าเมื่อมีการทำหนังสือสัญญาขึ้นแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากหนังสือสัญญา
พร้อมกับเสนอแนวทางแก้ไขเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมเป็นธรรม รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละมาตรการ
ที่สำคัญคือต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนประกอบด้วย แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเผยแพร่มาตรการดังกล่าวให้ประชาชนทราบ
และเร่งรัดการปฏิบัติของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
สมควรกำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการทุกรอบสามเดือน
(๑๖) ความต่อเนื่องในการทำหนังสือสัญญา
เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการดำเนินการเพื่อจัดทำหนังสือสัญญาในช่วงรอยต่อที่กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ
คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นควรกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือสัญญาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
โดยให้ถือว่า
การดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญาใดที่รัฐบาลไทยหรือราชอาณาจักรไทยยังมิได้แสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน
ให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าการดำเนินการที่ได้ทำไปแล้วเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว
[๑]กรรมการร่างกฎหมายประจำ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[๒]E.S.C. Wade
and G. Godfrey Phillips, Constitutional Law, 5th ed. (London:
Longmans, Green and Co., 1958, p.212.
[๓]มาตรา ๑๓ ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ
หรือผลแห่งสัญญานั้นให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี
ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้
ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับ
ก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติ
อันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น
อันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น
ถ้าสัญญานั้นได้ทำขึ้นระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง
ถิ่นที่ถือว่าสัญญานั้นได้เกิดเป็นสัญญาขึ้นคือถิ่นที่คำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ
ถ้าไม่อาจหยั่งทราบถิ่นที่ว่านั้นได้ ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่จะพึงปฏิบัติตามสัญญานั้น
สัญญาย่อมไม่เป็นโมฆะ
ถ้าได้ทำถูกต้องตามแบบอันกำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งใช้บังคับแก่ผลแห่งสัญญานั้น