ย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระราชดำริว่า “...บัดนี้เปนสมัยสมควรจะจัดวางราชการชำระสะสางร่างแปลประมวลบทกฎหมาย
ควบคุมกรรมการแลงานนั้นให้เปนกิจลักษณะ...” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเลือกสรร “...เนติบัณฑิตผู้ชำนาญในนีติสารสักสมัยแลปะระสมัยให้เปนกรรมการทั้งฝ่ายไทแลต่างประเทศ
มีน่าที่รับผิดแลชอบในราชการชำระประมวลบทพระราชบัญญัติแลประเพณีเมือง...” และมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งเป็น
“กรรมการชำระประมวลกฎหมาย” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2459 คณะกรรมชุดแรกนี้มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสวัสดิวัฒวิศิษฎ์
อธิบดีศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการอื่นได้แก่พระยานรเนติบัญชากิจ
พระจินดาภิรมย์ พระเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี นายเรเน คิยอง นายซาเวีย เดอ ลาฟอรคาด์ และนายร้อยเอก
ชาล เลอเวก ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกฎหมายของสยามประเทศให้สอดคล้องกับระบบกฎหมายของสากล
โดยมีกองกรรมการชำระประมวลกฎหมายทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ
ต่อมา เมื่อวันที่
27 ตุลาคม 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดตั้ง
“กรมร่างกฎหมาย” ขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการร่างกฎหมายเป็นระบบระเบียบ โดยยกกองกรรมการชำระประมวลกฎหมายขึ้นเป็นกรมชั้นอธิบดีเพื่อเพื่อทำหน้าที่
“...ชำระสะสาง รวบรวม ร่าง แปล และแก้ไขเพิ่มเติมบรรดาประมวลกฎหมาย
พระราชบัญญัติ กฎเสนาบดี และประเพณีเมืองไว้ให้เปนระเบียบ โดยมีหลักดำเนินการสม่ำเสมอเปนทำนองคลองเดียวกัน
และให้ถูกต้องชอบด้วยกาลสมัยความเจริญแห่งบ้านเมืองเช่นว่านั้น...” โดยมีนาย
อาร์. ซี. กียอง (คือนายเรเน คิยอง) เป็นที่ปรึกษา พระยานรเนติบัญชากิจ
พระยาจิดาภิรมย์ราชสภาบดี พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี นายชาลส์ เลเวก
พระยามานวราชเสวี นายเรมี เดอ ปลังเตอโรส และนายเรเน กาโซ เป็นกรรมการ และต่อมาในปี
2476 ได้มีการโอนกรมร่างกฎหมายไปเป็น “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ทำหน้าที่ดังกล่าวสืบต่อมาจนปัจจุบัน
ที่เล่าท้าวความมาเสียยืดยาวนี้ก็เพื่อจะบอกว่าการร่างกฎหมายยุคใหม่ของเราเมื่อร่วมร้อยปีก่อนนั้นเขาร่างกันเป็นภาษาอังกฤษแล้วจึงแปลเป็นไทยนะครับ
ไม่ได้ร่างเป็นภาษาไทยแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างปัจจุบัน เพราะกรรมการชำระประมวลกฎหมายของเรานั้นมีทั้งชาวไทยทั้งที่จบการศึกษากฎหมายในประเทศและต่างประเทศ
เนติบัณฑิตอังกฤษก็มี ชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ก็เป็น “หมอกฎหมายฝรั่งเศส” และนอกจากที่ออกชื่อมาแล้วก็ยังมีนักกฎหมายญี่ปุ่นและชาติอื่นด้วย
เมื่อกรรมการเป็นสหประชาชาติ จึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางครับ การทำงานร่างกฎหมายในยุคนั้นจึงจัดเป็นงาน
“อินเตอร์” อย่างแท้จริง ผู้ใดสนใจสามารถตรวจสอบต้นร่างของกฎหมายเก่า ๆ
โดยเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ปัญหามันเกิดขึ้นตรงที่ร่างกันเป็นภาษาอังกฤษแล้วแปลเป็นไทยนี่แหละครับ
เพราะคำในภาษาไทยกับคำในภาษาอังกฤษมันไม่ตรงกันเป๊ะ ๆ เช่นคำว่า “คณะกรรมการ”
ในภาษาอังกฤษก็มีหลายแบบ เป็นต้นว่า Committee หรือ
Commission ซึ่งแตกต่างกันโดย Committee จะใช้หลัก
“คุณน่ะทำ” คือเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ มาให้ความคิดความเห็น แล้วให้ฝ่ายเลขานุการหรือหน่วยงานรับไปดำเนินการต่อ
ต่างจาก Commission ซึ่งใช้หลัก “ตูทำเอง” คือ Commissioner ตกลงปลงใจรับ (commit) ว่าจะทำภารกิจเฉพาะอะไรด้วยตนเอง
พอเราแปลออกมาเราใช้คณะกรรมการเหมือนกันหมด บางทีจึงเกิดความสับสนในการกำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการแต่ละแบบ
ส่วนคำที่กำลังดังอยู่ตอนนี้น่าจะเป็นคำว่า
“เลิกสัญญา” ที่เป็นเหตุให้ภาครัฐต้องเสียเงินฟรีอยู่บ่อย ๆ ซึ่งในหลักกฎหมายต่างประเทศใช้อยู่
2 คำหลัก ๆ คือ rescission กับ termination สองคำนี้มีนิตินัยสากลที่แตกต่างกันมาก เพราะเมื่อใดที่คู่สัญญาใช้สิทธิ rescission
คู่กรณีก็จะกลับคืนสู่สถานะเดิม
แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอก แต่ถ้าเป็นการใช้สิทธิ termination มันจะมีผลต่อไปข้างหน้าไม่ย้อนหลัง
เมื่อตรวจสอบจากต้นร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว
ผู้เขียนพบว่ามาตรา 391 วางหลักเรื่องการใช้สิทธิ rescission
ไว้[1]
ซึ่งเมื่อแปลเป็นไทยใช้คำว่า “สิทธิเลิกสัญญา” มาจนปัจจุบัน แต่ในที่อื่น ๆ
เช่น ความระงับแห่งสัญญาเช่า (Extinction of Contract of Hire) เมื่อไปดูต้นร่างภาษาอังกฤษของมาตรา 566 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์[2]
ท่านผู้ร่างท่านใช้คำว่า “terminate the contract” แต่เมื่อแปลมาเป็นภาษาไทยใช้คำว่า
“บอกเลิกสัญญา” เหมือนกันทั้งที่มันมีผลทางกฎหมายต่างกันดังว่า
ดังนั้น
เมื่อใช้กฎหมายไทยบังคับแก่สัญญาใด ถ้ามีการ “บอกเลิกสัญญา” มันก็จะวนกลับไปที่หลัก
rescission ตามมาตรา 391
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่ร่ำไป ทั้งที่จริง ๆ แล้วผู้แสดงเจตนาอาจต้องการให้สัญญาเป็นอันระงับสิ้นไป
(extinction) นับแต่นั้นเป็นต้นไปตามหลัก termination
of contract เท่านั้น
ผู้เขียนเองไม่ทราบข้อมูลอะไรต่าง
ๆ มากนัก ที่แพ้อาจไม่ใช่เพราะปัญหานี้ก็ได้ แต่บังเอิญคาใจประเด็นนี้มานานเพราะเป็นหลักการสำคัญของระบบกฎหมาย ไม่แน่นะ ถ้าทำให้เกิดความชัดเจนในระบบกฎหมายระหว่าง
rescission กับ termination บางทีเราอาจ
terminate สัญญาโดยไม่ต้องเสียเงินฟรีเพื่อให้คู่สัญญากลับคืนสู่สถานะเดิมอยู่ร่ำไปอย่างที่เป็นอยู่นี้ก็ได้ (ถ้าไม่มีปัจจัยอื่นประกอบด้วยนะ)
ชวนคิดครับ
***************
[1]Section 391. If one party has exercised his right of rescission, each party is bound to
restore the other to his former condition; but the rights of third persons
cannot be impaired. [emphasis added]
Etc.
[2]Section 566. If no period is agreed upon or presumed,
either party may terminate the contract of hire at the end of each period for the payment of
rent, provided that notice of at least one rent is given. But no more than two months notice need be
given. [emphasis added]
Etc.