วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2567

มุมมอง ปกรณ์ นิลประพันธ์

 นาย ก ยืนอยู่ใกล้กับวัตถุ A ส่วนนาย ข ยืนอยู่ใกล้วัตถุ B นายสองคนนี้ยืนอยู่ห่างกัน 30 เมตร สมมุติฐานคือทั้งสองคนสายตาปกติ และวัตถุสองชิ้นนั้นมีความชำรุดบกพร่องที่ต้องซ่อมแซม


แน่นอนว่านาย ก จะมองเห็นวัตถุ A ชัดกว่านาย ข และนาย ข ก็ย่อมมองเห็นวัตถุ B ชัดกว่านาย ก  ดังนั้น จึงเป็นปกติที่นาย ก ย่อมอธิบายรายละเอียดและจุดที่ต้องแก้ไขของวัตถุ B ได้ไม่ดีเท่านาย ข ซึ่งอยู่ใกล้กว่า ในทางกลับกัน นาย ข จะอธิบายถึงรายละเอียดและจุดที่ต้องแก้ไขของวัตถุ A ได้ไม่ละเอียดเท่านาย ก โดยเหตุผลเดียวกัน


การที่นาย ก จะบอกให้นาย ข ซ่อมวัตถุ B ตรงนั้นตรงนี้ หรือนาย ข จะบอกให้นาย ก ซ่อมวัตถุ A ตรงนั้นตรงนี้ จึงอาจเป็นการบอกที่คลาดเคลื่อนไป เพราะคนใกล้จะรู้อยู่ว่าตรงไหนมันแตกร้าวต้องซ่อม


ไม่ใช่การบอกที่ผิด แต่คลาดเคลื่อน เพราะจุดที่มองและมุมที่มองนั้นมีข้อจำกัด


ปัญหาของโจทย์นี้อยู่ที่ “ระยะทาง”


ถ้านาย ก เดินเข้ามาหานาย ข สัก 10 เมตร และนาย ข เดินเข้ามาหานาย ก สัก 10 เมตร ระยะห่างจะเหลือ 10 เมตร ก็จะช่วยทำให้ นาย ก และนาย ข มองเห็นจุดที่ต้องซ่อมของวัตถุของอีกฝ่ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ความคลาดเคลื่อนจะน้อยลง แต่ก็ยังมีอยู่


แต่ถ้าใกล้กันมากขึ้นจนต่างคนต่างหยิบวัตถุที่ใกล้คนอื่นมาดูได้ อาจทำให้นาย ก บอกจุดที่ต้องซ่อมเพิ่มเติมแก่นาย ข หรือนาย ข ก็อาจบอกนาย ก ได้ในทางกลับกันด้วย เพราะความไม่คุ้นเคยกับวัตถุจะทำให้การมองต่างมุมออกไป เช่นนี้ การซ่อมวัตถุ A หรือ B ก็จะทำได้ดีขึ้น


โจทย์ของการเข้าใกล้ในระยะเผาขนนี้อยู่ที่ “ความไว้วางใจ“ เพราะทุกคนมีสัญชาติญาณในการสร้าง safe zone และ safe zone ของแต่ละคนมีระยะไม่เท่ากันตามประสบการณ์ของชีวิตที่ผ่านมาแตกต่างกัน 


คนเคยเจ็บหนักมาก่อนเพราะคนอื่น ย่อมมี safe zone กว้างและลึกกว่าคนทั่วไป ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย แต่คนกล้าได้กล้าเสียย่อมมี safe zone ไม่มากนัก ยอมรับความเสี่ยงได้มาก


การสร้างความไว้วางใจจึงต้องเข้าใจบริบทของแต่ละคนด้วย แต่ถ้าเข้าใจกันได้จะเป็นเรื่องดีมาก เพราะจะมีสมดุลระหว่างความระมัดระวังหรือเบรค กับพัฒนาหรือคันเร่ง


กาแฟหมดถ้วยพอดี.

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567

กฎหมายกับนวัตกรรม ปกรณ์ นิลประพันธ์

 คิด ๆ ดู คนไทยนี่ถ้าคุ้นเคยกับอะไรแล้วจะไม่ยอมเปลี่ยนง่าย ๆ เช่น ข้าราชการอย่างผมนี่ ระบบซียกเลิกไปตั้งแต่ปี 2551 หรือ 16 ปีเข้าไปแล้ว เปลี่ยนเป็นระบบแท่ง แท่งวิชาการ แท่งอำนวยการ แท่งบริหาร อะไรแบบนี้ แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังเรียกกันเป็นซีอยู่ เช่น ผอ ซี 8 ผอ ซี 9 ปลัดกระทรวงซี 11 


หรืออย่างเรื่องสิทธิเสรีภาพ เดิมรัฐธรรมนูญวางหลักว่าอะไรที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครอง คือถ้าไม่เขียนไว้จะไม่ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งมันขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพสากลที่คุ้มครองแบบ universal คืออะไรที่ไม่ได้ห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ย่อมได้รับความคุ้มครอง บ้านเราแต่เดิมมาจึงถือกันว่าจะทำอะไรได้ที่ต้องมีกฎหมายบอกให้ทำได้เท่านั้น ตลกดี ไม่มีกฎหมาย ทำอะไรไม่ได้เลย บ้านเราจึงเอะอะก็ออกกฎหมายนำก่อน แล้วกฎหมายมันคือการจำกัดสิทธิเสรีภาพ พอออกกฎหมายนำมาก่อน ทุกอย่างเลยแคบไปหมด นวัตกรรมอะไรก็ทำไม่ได้ ต้องรอกฎหมายก่อน


หลักการที่ว่านี้แก้ไขให้เป็นไปตามหลักสากลที่คุ้มครองแบบ universal แล้วตามมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญ 2560  แต่จนเดี๋ยวนี้คนก็ยังคิดแบบเดิม นวัตกรรมต่าง ๆ มันจึงไม่เกิดไง


อย่าง AI ที่กำลังฮอต ๆ หรือเรื่อง  CCUS กักเก็บคาร์บอน จริง ๆ มันต้องให้พัฒนาไปเพื่อให้เกิดนวัตกรรม แล้วรัฐคอยติดตามดูว่าตรงไหนที่มันควรควบคุมหรือกำกับดูแล แล้วจึงออกกฎหมายไปจำกัดสิทธิเสรีภาพเขาในเรื่องนั้น 


เช่น AI มีปัญหากับเรื่อง Moral เรื่อง Ethics ก็ค่อยไปออกกฎหมายควบคุมหรือกำกับ ไม่ใช่ฝรั่งมีกฎหมายแล้ว ไทยต้องมีบ้าง ใช่ครับมันคงต้องมี แต่จะรีบมีไปไหน ในเมื่อบ้านเรายังไม่มีนวัตกรรมเลย


หรืออย่าง CCUS บ้านเรายังไม่มี use case เลย ผมเคยคุยกับผู้เกี่ยวข้อง พี่เขาบอกว่ายังไม่มีกฎหมายให้ทำได้ ผมก็เลยงง ก็รัฐธรรมนูญ 2560 เขารับรองสิทธิเสรีภาพไว้แล้ว รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้าม และยังไม่มีกฎหมายออกมาห้าม ทำไมถึงจะทำไม่ได้ล่ะ คนพัฒนาเขาก็บอกตรง ๆ เลยว่าคงมีผมคิดอย่างนี้อยู่คนเดียว เจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นเขาไม่คิดอย่างผมนี่นา เขาก็กลัวจะโดนคดี ผมก็แคะต่อไปว่าจะเป็นคดีได้อย่างไรในเมื่อมันยังไม่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิด เขาก็บอกว่าเจ้าหน้าที่เขาก็เอากฎหมายเก่ามาจับไง


เป็นตลกที่ขำไม่ออกจริง ๆ ครับ


จริง ๆ ถ้าต้องการพัฒนาประเทศให้มีนวัตกรรมคือส่งเสริมเขาให้คิด ให้พัฒนา ไม่ใช่รีบออกกฎหมาย อันนั้นคือห้ามทำ มันจะแท้งไปเลย สังเกตไหมว่าเรื่องไหนที่ออกกฎหมายนำ มักจะติดกรอบเสมอว่าทำนั่นโน่นนี่ไม่ได้ พัฒนาช้ากว่าคนอื่นเขา แต่มีกฎหมายก่อนคนอื่นนะ เทพมาก


ไม่มีอะไรหรอกครับ เพียงจะบอกว่าถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายห้ามเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ ประชาชนคนไทยมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำเรื่องนั้นได้ แต่ต้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพโดยสุจริต ส่วนการออกกฎหมายในเรื่องที่เป็นนวัตกรรมนั้น ปล่อยให้เขาพัฒนากันไปก่อนสักห้าปี ติดตามดูสักห้าปีว่ามีอะไรที่ควรกำกับหรือควบคุม แล้วค่อยออกกฎหมายมากำกับหรือควบคุมหลังจากนั้น แนวทางนี้ผมนำมาจากแผนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน เขาใช้กรอบ 5 ปีปล่อย 5 ปีติดตาม แล้วจึงออกกฎหมายมากำกับ


นวัตกรรมต่าง ๆจะได้มีช่วงเติบพัฒนาให้แข็งแรง เขาไม่ได้ควบคุมแต่แรกอย่างที่เราทำ ที่เราทำมันสวนทางกับคนอื่น


ฝากไว้เป็นข้อคิดช่วงสงกรานต์ครับ