วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หลักการ "ตั้งคำถาม" เพื่อลงประชามติ (Referendum Question)

                                                                                            ปกรณ์ นิลประพันธ์


         ข่าวร้อน ๆ ในช่วงนี้คงไม่พ้นการทำประชามติว่าสมควรมีการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และควรแก้อย่างไร แก้ทั้งฉบับหรือรายมาตรา ควรให้ใครเป็นคนดำเนินการ สสร. หรือคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาหลักควรประกอบด้วยเรื่องใดบ้าง 

    จริง ๆ แล้วการทำประชามติ (Referendum) นั้นเป็นกลไกในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะเป็นการสอบถามผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยตรงเลยครับว่าจะว่ากันอย่างไรต่อไป ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ในต่างประเทศเขาทำประชามติกันบ่อย ๆ ครับทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เรื่องใดที่เป็นปัญหาขัดแย้งกันมาก ๆ เขาไม่ให้ผู้แทนตัดสินหรอกครับ เขาถามผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยตรงว่าเสียงข้างมากจะเอาอย่างไร ผลออกมาอย่างไรก็ว่าต่อไปตามนั้น เขาไม่ตะแบงต่อไปหรอกครับว่าประชามติไม่ถูกต้อง มีการซื้อเสียง ฯลฯ เพราะเขาตระหนักดีว่า "ระบบ" สำคัญกว่า "ตัวบุคคล" 

   ที่ผมจะเล่าสู่กันฟังในตอนนี้ไม่ใช่การทำประชามติครับ เพราะเป็นกระบวนการที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นการตั้งคำถามเพื่อใช้ในการทำประชามติ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Referendum Question ครับ คำถามนี้สำคัญมาก เพราะถ้าไม่เป็นกลาง หรือใช้ภาษากำกวม ไม่ชัดเจนแล้ว ผลการประชามติอาจบิดเบือนได้ ในต่างประเทศเขาให้รัฐบาลเป็นคนตั้งคำถามที่ว่านี้ครับ แต่ภายใต้กรอบแนวทางที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

     อย่างในสหราชอาณาจักรนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกแนวทางในการจัดทำคำถามในการประชามติว่า ต้องเป็นคำถามที่
  •      เข้าใจง่าย
  •      ตรงประเด็น
  •      ชัดเจน ไม่คลุมเคลือ
  •      ไม่เป็นการชี้นำผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง
  •      ไม่ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหลงผิด
  •      ควรใช้ภาษาทั่วไป (Plain language)หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์เทคนิค
  •      ควรเป็นประโยคสั้นกระชับ

  ากการตรวจสอบพบว่า คำถามสำหรับการประชามติจะพิมพ์ลงในบัตรลงคะแนนประชามติ (Referendum ballot paper) โดยทั่วไปจะมีเพียง 1-2 คำถาม และมีช่องให้เลือกเพียงว่าเห็นด้วย (Yes/Agree/Accept/Approve) หรือไม่เห็นด้วย (No/Do not agree/ Do not accept/Reject) เท่านั้นเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิดความสับสน แต่พบว่าในการลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอซ์แลนด์ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2555 มีถึง 6 คำถาม ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนได้

    สำหรับ "ตัวอย่างคำถาม" สำหรับการประชามติของประเทศต่าง ๆ มีดังนี้ครับ

    1. แคนาดา

      ในการลงประชามติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแคว้นควีเบคว่าจะแยกตัวเป็นอิสระจากแคนาดาหรือไม่[1] ใช้คำถามว่า "Do you agree that Quebec should become sovereign after having made a formal offer to Canada for a new economic and political partnership within the scope of the bill respecting the future of Quebec and of the agreement signed on June 12, 1995?"

 

  2. สก๊อตแลนด์
       
       สก๊อตแลนด์จะทำประชามติว่าสมควรเป็นประเทศอิสระ (Independent country) หรือไม่[2] ใช้คำถามว่า “Do you agree that Scotland should be an independent country?”

 
   
 3. สหราชอาณาจักร - ยกมาให้ดู 2 ตัวอย่างครับ

           3.1 ในปี 2011 คณะกรรมการการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรได้จัดให้มีการลงประชามติว่าสมควรนำการเลือกตั้งแบบอื่นมาใช้แทนระบบ First past the post หรือไม่ โดยใช้คำถามว่า “At present, the UK uses the “first past the post” system to elect MPs to the House of Commons. Should the ‘alternative vote” system be used instead?” [3]

 

           3.2 ในปี 2012 คณะกรรมการการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรได้จัดให้มีการลงประชามติว่าสมควรมีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือไม่ โดยใช้คำถามว่า “Should there be an elected assembly for the North East region?”[4]   

 

หลังจากนั้น ได้มีการทำประชามติต่อเนื่องว่าสภาท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือควรมีรูปแบบใด โดยใช้คำถามว่า “Which of the following options for single tier local government do you prefer?”[5]

 
    
 4. ออสเตรเลีย - ยกมาให้ดู 3 ตัวอย่างครับ

          4.1 เมื่อมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม 2 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง สมควรเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่เพิ่มจำนวนวุฒิสมาชิกหรือไม่ ประเด็นที่สอง สมควรแก้ไขให้มีการนับชาวอะบอริจินส์เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองออสเตรเลีย หรือไม่ รัฐบาลเครือรัฐออสเตรเลียได้จัดให้มีการลงประชามติในสองประเด็นนี้พร้อมกัน โดยใช้คำถามดังปรากฏในภาพถ่ายต่อไปนี้ซึ่งเป็น Referendum ballot ในรัฐ Queensland[6]

 

     4.2 ในปี 1999 รัฐบาลเครือรัฐออสเตรเลียได้จัดให้มีการลงประชามติต่อข้อเสนอว่าสมควรเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองประเทศเป็นสาธารณรัฐหรือไม่ โดยใช้คำถามว่า “A PROPOSED LAW: To alter the Constitution to establish the Commonwealth of Australia as a republic with the Queen an Governor-General being replaced by a president appointed by two-thirds majority of the members of the Commonwealth Parliament.”[7]

 

      ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า การลงประชามติของออสเตรเลียใช้วิธีให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเขียนคำตอบว่า “Yes” หรือ “No” แทนการใช้เครื่องหมายถูกหรือผิดเหมือนประเทศอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะประชากรออสเตรเลียมีอัตราการรู้หนังสือ (Literacy rate) สูงมาก

    5. นิวซีแลนด์

        การลงประชามติของนิวซีแลนด์ใช้คำถามสั้น ๆ สำหรับตัวอย่างที่เสนอมาพร้อมนี้เป็นการลงประชามติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง โดยใช้คำถาม 2 ชุด ที่มีความสัมพันธ์กัน โดยชุดที่หนึ่งถามว่า “Should New Zealand keep the Mixed Member Proportional (MMP) voting system?” และชุดที่สอง ถามว่า “If New Zealand were to change to another voting system, which voting system were you choose?”[8]
 

      6. สหรัฐอเมริกา

        คำถามประชามติของสหรัฐอเมริกาที่เสนอมาเป็นตัวอย่างนี้ เป็นคำถามประชามติของ Seattle City[9] เกี่ยวกับมาตรา 6 ของเทศบัญญัติเลขที่ 123542 ซึ่งมีข้อสังเกตว่าการตอบคำถามประชามตินี้จะใช้เครื่องหมายถูกหรือผิดก็ได้
 

      7. อีริเทรีย

         เดิมอีริเทรียเป็นส่วนหนึ่งของเอธิโอเปีย ต่อมาในปี 1991 ชาวอีริเทรียนได้พยายามต่อสู้เพื่อแยกออกมาเป็นรัฐอิสระ และได้มีการลงประชามติของชาวอีริเทียนในปี 1993 ว่าสมควรแยกออกมาเป็นรัฐอิสระหรือไม่ โดยคำถามที่ใช้เป็นคำถามสั้น ๆ ว่า “Do you approve Eritrea to become an independent sovereign state?”[10]
 

    8. มอลตา

     คำถามประชามติของมอลตาที่ยกเป็นตัวอย่างนี้เป็นคำถามเกี่ยวกับกฎหมายครอบครัวว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นด้วยกับการให้คู่สมรสที่แยกกันอยู่มาอย่างน้อย 4 ปีและไม่มีทางคืนดีกันได้ ให้หย่ากันได้โดยไม่กระทบสิทธิของบุตรที่จะได้รับการเลี้ยงดูหรือไม่[11] ซึ่งมีข้อสังเกตว่าการตอบประชามตินี้บังคับให้ใช้เครื่องหมายกากบาทเท่านั้น หากเป็นอย่างอื่นจะถือเป็นบัตรเสีย

 

        9. ติมอร์ตะวันออก

           คำถามประชามติของติมอร์ตะวันออกมีเพียงสั้น ๆ ว่าท่านจะยอมรับหรือปฏิเสธในการที่ติมอร์ตะวันออกจะแยกออกจากอินโดนีเซีย[12] ซึ่งมีข้อสังเกตว่าแคนาดาเป็น ผู้ช่วยเหลือทางเทคนิคในการทำประชามติครั้งนี้ คำถามจึงสั้นกระชับ และใช้เครื่องหมายใด ๆ ก็ได้กาลงในช่อง Accept หรือ Reject

 

        10. สหภาพยุโรป

             การทำประชามติของสมาชิกประชาคมยุโรปแต่ละประเทศเกี่ยวกับ Treaty of Lisbon นั้นถือเป็นการทำประชามติครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยแต่ละประเทศจะตั้งคำถามประชามติ 2 คำถาม คำถามที่หนึ่ง ประเทศนั้นควรจัดให้มีการลงประชามติใน Treaty of Lisbon หรือไม่ คำถามที่สอง ประเทศนั้นควรยอมรับ Treaty of Lisbon หรือไม่ ซึ่งกรณีตัวอย่างที่เสนอเป็นการทำประชามติของสหราชอาณาจักร 

 

     11. ไอซ์แลนด์

             ไอซ์แลนด์ต้องการจัดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้บังคับจึงจัดให้มีการลงประชามติก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2555 โดยมีคำถามถึง 6 ข้อหลักที่จะต้องนำไปเป็นหลักในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้[13]
                                    1. Do you wish the Constitution Council’s proposals to form the basis of a new draft Constitution?
                                    2. In the new Constitution, do you want natural resources that are not privately owned to be declared national property?
                                    3. Would you like to see provisions in the new Constitution on an established (national) church in Iceland?
                                    4. Would you like to see a provision in the new Constitution authorising the election of particular individuals to the Althingi more than is the case at present?
                                    5. Would you like to see a provision in the new Constitution giving equal weight to votes cast in all parts of the country?
                                    6. Would you like to see a provision in the new Constitution stating that a certain proportion of the electorate is able to demand that issues be put to a referendum?


     
     ท่านผู้อ่านลองติดตามดูนะครับว่าคำถามประชามติของไทยจะเป็นแบบสากลที่ว่า หรือจะยังคงเป็นแบบไทย ๆ .....

[1] http://elections.ca/res/eim/article_search/article.asp?id=137&lang=e&frmPageSize=
[2]http://www.scotland.gov.uk/Publications/2012/01/1006/3
[3]http://www7.politicalbetting.com/index.php/archives/2011/04/23/does-the-ballot-paper-favour-yes/
[4]http://www.publications.parliament.uk/pa/cm201012/cmselect/cmscotaf/1608/1608we33.htm
[5]http://www.publications.parliament.uk/pa/cm201012/cmselect/cmscotaf/1608/1608we33.htm
[6]http://www1.aiatsis.gov.au/exhibitions/referendum/images/image4.html
[7]http://www.aec.gov.au/elections/referendums/1999_Referendum_Reports_Statistics/Polling_Day.htm
[8]http://www.teara.govt.nz/en/electoral-systems/6/4
[9]http://www.tunneltalk.com/Discussion-Forum-Aug11-Alaskan-Way-bored-tunnel-a-story-of-political-interventions.php
[10]http://aceproject.org/ero-en/regions/africa/ER/Eritrea%20-%20ballot%20paper%20(referendum).jpg/image_view_fullscreen
[11]http://mazzun.wordpress.com/2011/05/17/sample-ballot-paper-polza-tal-vot-referendum-dwar-id-divorzju/
[12]http://www.elections.ca/res/eim/article_search/article.asp?id=104&lang=e&frmPageSize=
[13]http://www.thjodaratkvaedi.is/2012/en/referendum/the-ballot.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น