บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบ
ร่างพระราชบัญญัติการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย
พ.ศ. ....
หลักการ
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย
เหตุผล
โดยที่กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับแก่สังคม
ประกอบกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อความต้องการของสังคม เช่น ทัศนคติของมหาชนในเรื่องต่าง ๆ พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการสื่อสาร สภาพทางเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง สิ่งแวดล้อม พันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงดำเนินการให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของบทบัญญัติของกฎหมายอยู่เสมอเพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีมาตรการที่กำหนดให้ต้องมีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของบทบัญญัติของกฎหมายอย่างสม่ำเสมอ
กฎหมายจำนวนมากจึงมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและพลวัตรของสังคม
ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่ทันสมัยเหล่านี้ได้กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม กรณีจึงสมควรกำหนดให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุกฉบับทุกรอบระยะเวลาโดยรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปอย่างจริงจังประกอบด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่าง
พระราชบัญญัติ
การพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย
พ.ศ. ....
.........................................
.........................................
.........................................
.......................................................................................... ...........................................
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย
......................................................................................... ...........................................
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. ....”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“กฎหมาย” หมายความว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา และกฎตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
“รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย” หมายความว่า
รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ
หรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงรัฐมนตรีผู้ออกกฎด้วย
มาตรา ๔ เพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายสอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายจัดให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ทุกรอบระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นไป ทั้งนี้ เว้นแต่กฎหมายจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
การพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายตามวรรคหนึ่ง
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายตามกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา และต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นและประชาชนทั่วไปประกอบด้วย
หลักเกณฑ์ตามวรรคสองอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา
(๒) การปรับปรุงกฎหมายที่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้
(๓) การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
สังคม การเมืองการปกครอง และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(๔) การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ
(๕)
การใช้ระบบการอนุมัติ การอนุญาต ใบอนุญาต และระบบการจดทะเบียนเพียงเท่าที่จำเป็น
(๖) ผลกระทบและภาระของรัฐและประชาชนที่อาจเกิดขึ้นหากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย
มาตรา
๕ ในการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายเสนอรายงานผลการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายแต่ละฉบับต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในวันที่
๓๐ มิถุนายน ของปีถัดจากปีที่ครบรอบระยะเวลาตามมาตรา ๔
ในกรณีที่ปรากฏว่าสมควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายนั้น[๒]ไว้ในรายงานตามวรรคหนึ่งด้วย
เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบรายงานตามวรรคหนึ่งแล้ว
ให้เผยแพร่รายงานผลการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายดังกล่าวต่อประชาชนในระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
และให้เสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อทราบด้วย และให้ส่งข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อยกร่างกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
มาตรา ๖ กฎหมายใดมีผลใช้บังคับภายหลังวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายจัดให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายนั้นตามพระราชบัญญัตินี้ทุกรอบระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นใช้บังคับ ทั้งนี้ เว้นแต่กฎหมายนั้นจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา
๗ ในวาระเริ่มแรก
ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายแต่ละฉบับจัดให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘[๓]
มาตรา ๘ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
...............................
นายกรัฐมนตรี
[๑]Sunset Law
[๒]Drafting
Instruction เพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายของไทยให้เป็นสากลไปพร้อม
ๆ กัน โดยหน่วยงานร่างกฎหมายจะยกร่างกฎหมายตาม Drafting Instruction ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วเท่านั้น
[๓]เพื่อเร่งรัดให้มีการดำเนินการทบทวนกฎหมายอย่างจริงจังตามข้อ
๑๑.๑ ของนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น