ปกรณ์ นิลประพันธ์
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 สว ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็น “พี่เลี้ยง” แก่ สส ที่มาจากการเลือกตั้งในพื้นที่ แต่เนื่องจากสมัยนั้นการศึกษาของประชาชนยังไม่ทั่วถึงและการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นรวดเร็วมาก สส ส่วนใหญ่จึงยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการตรากฎหมาย สว จึงเป็น “สภาพี่เลี้ยง” ของ สส โดยมีที่มาจากการแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่าง ๆ ในลักษณสหวิทยาการ (interdisciplinary)
ต่อมา เมื่อประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมากขึ้น จึงมีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงที่มาของ สว จาก สว แต่งตั้ง เป็น สว เลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อย่างเดียวกับ สส
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อเรียกร้องที่ว่านี้ก็คือ แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ สว ยังคงเป็นอย่างเดิม คือ เป็นสภาพี่เลี้ยงของ สส แต่ให้ สว มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวเองอยู่ว่า แล้ว สว ต่างจาก สส อย่างไร เพราะต่างก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเหมือน ๆ กัน ยิ่งรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาได้ให้อำนาจแก่ สว ในการ “ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วย ยิ่งทำให้ไม่สามารถตอบคำถามพื้นฐานได้ว่า เหตุใด สส ไม่มีอำนาจเช่นว่านั้น ทั้งที่มีที่มาเหมือน ๆ กัน
นอกจากนี้ การกำหนดให้ สว ต้องมาจากเลือกตั้ง แต่ไม่สังกัดพรรคการเมือง กลับทำให้ สว ต้องแอบอิงกับระบบการเมืองโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สมัครต้องมีฐานคะแนนเสียงเพื่อประกันว่าตนจะได้รับเลือก แต่เมื่อ สว มิได้สังกัดพรรคการเมือง จะเอาฐานคะแนนเสียงมาจากไหน การบังคับที่ไม่เป็นธรรมชาตินี้เองที่ทำให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม ผู้สมัคร สว ส่วนใหญ่จึงมักมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองแบบ “ลับ ๆ ล่อ ๆ” เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงยากเย็นนักที่ สว จะมีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
แม้หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ สว โดยใช้ระบบผสม กล่าวคือ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนส่วนหนึ่ง กับ สว สรรหา อีกส่วนหนึ่ง แต่เนื่องจากแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ สว ยังคงเป็นอย่างเดิม คือ เป็นสภาพี่เลี้ยงของ สส และยังมีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปัญหาแบบเดิมก็ยังคงมีอยู่ โดย สว เลือกตั้ง ยังคงอิงกับระบบการเมือง แถมเกิดปัญหาใหม่ขึ้นอีก 2 ปัญหา ประการแรก มีการกล่าวหาว่า สว สรรหา ขาดความยึดโยงกับประชาชน และมีการยกปัญหานี้ในการโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของ สว สรรหา ตลอดมา อีกประการหนึ่ง การแทรกแซงทางการเมืองทำให้เกิดความขัดแย้งในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่าง สว ที่มีที่มาแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดปัญหาความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของ สว
เมื่อ สว มีปัญหามากมายเช่นนี้ จึงเกิดมีผู้ตั้งคำถามว่า แล้วยังสมควรที่จะให้มี สว ต่อไปอีกหรือไม่??
หากพิจารณาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของ สว ข้างต้นตามหลักการศึกษาแบบ Historical Approach แล้ว เห็นว่า สส นั้นเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่และเป็นตัวแทนพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ (Manifesto) และนโยบาย (Policy) ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาร่างกฎหมายของ สส จึงเป็นการพิจารณาในแง่ความต้องการของพื้นที่และนโยบายพรรค ประกอบกับการจัดทำร่างกฎหมายของประเทศไทยยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การพิจารณาร่างกฎหมายของ สส จึงยังอาจไม่รอบคอบรอบด้าน ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันสังคมมีความสลับซับซ้อนมาก การพิจารณาร่างกฎหมายจึงต้องพิจารณาในลักษณะองค์รวม (Holistic) ไม่อาจพิจารณาแบบแยกส่วนดังที่เคยเป็นมาในอดีตได้อีกต่อไป ดังนั้น สว จึงยังคงมีความสำคัญสำหรับประเทศไทย แต่มิใช่ในฐานะสภาพี่เลี้ยงเหมือนอย่างเช่นที่เคยเป็น หากแต่เป็น “สภาเติมเต็ม” ที่จะช่วยพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สส ให้รอบคอบรอบด้านในทุกมิติตามหลักการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมในการตรากฎหมาย
เมื่อ สว มิใช่สภาพี่เลี้ยง แต่เป็นสภาเติมต็ม สว จึงต้องประกอบด้วยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ หรือทำงานหรือเคยทำงานในด้านต่าง ๆ อยากหลากหลาย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง การได้มาซึ่ง สว ต้องแตกต่างไปจาก สส กล่าวคือ “ไม่ใช่ตัวแทนพื้นที่และไม่ใช่ตัวแทนพรรคการเมือง” โดยเปิดกว้างให้ประชาชนสังคม (all walk of life) ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวและไม่มีความเกี่ยวพันกับฝ่ายการเมือง สามารถสมัครเข้ารับเลือกเป็น สว ได้ สำหรับวิธีการเลือกนั้น ให้ผู้สมัครเลือกกันเอง โดย กกต. อาจกำหนดให้มีการเลือกกันเองในกลุ่ม หรือเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มก็ได้เพื่อป้องกันการฮั้วกัน โดยเลือกกันมาตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และสุดท้าย ให้ผู้ได้รับเลือกในแต่ละจังหวัดมาเลือกกันเองที่ส่วนกลางให้เหลือ 200 คน
นอกจากนี้ การให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งนั้น ควรเป็นอำนาจของศาล เพราะจะมีผลเป็นการตัดสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี ของบุคคลด้วย อีกทั้งการให้อำนาจเช่นนั้นแก่ สว ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการแทรกแซง สว ในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้น จึงมิได้กำหนดให้ สว มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น