โดย นายอัชพร จารุจินดา
นายปกรณ์ นิลประพันธ์
นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง
นายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร
นายวราห์ เห่งพุ่ม
รูปแบบของรัฐ
· ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
รูปแบบการปกครอง
· ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ที่มาและผู้ใช้อำนาจอธิปไตย
· อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี
และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
หลักการใช้อำนาจอธิปไตย
· องค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย องค์กรอิสระ
และหน่วยงานของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ
ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาค
· ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ
และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
· ปวงชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน
หลักความเป็นกฎหมายสูงสูดของรัฐธรรมนูญ
· รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด
ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น ใช้บังคับมิได้
· ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด
ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร
ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ
เพื่อวินิจฉัยให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมดังกล่าวให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล
องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ
สถาบันพระมหากษัตริย์
· คงหลักการเดิม –
แต่ปรับปรุงหลักการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเพื่อบรรเทาพระราชภาระ
โดยบัญญัติเพิ่มเติมว่า พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว
หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ และในระหว่างที่ยังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นไปพลางก่อนได้
หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
·
บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย
การนับถือศาสนา ความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ครอบครัว เคหสถาน การแสดงความคิดเห็นโดยวิธีการต่าง ๆ การติดต่อสื่อสารถึงกัน เสรีภาพในทางวิชาการ
การเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ การประกอบอาชีพ การมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก
การเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ
การร้องทุกข์ การฟ้องหน่วยงานของรัฐ การรวมตัวกันในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชุมชน สมาคม
สหกรณ์ สหภาพ สหพันธ์ ฯลฯ การอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม
การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และการจัดตั้งพรรคการเมือง
· บุคคลผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้เป็นมารดาย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐทั้งก่อนและหลังการคลอดบุตร
ผู้มีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การดำรงชีพและบุคคลผู้ยากไร้
มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ
· บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ
· ทั้งบุคคลและชุมชนมีสิทธิอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี
ศิลป วัฒนธรรม รวมทั้ง อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ มีสิทธิจัดระบบสวัสดิการชุมชน มีสิทธิเสนอความเห็นให้หน่วยงานของรัฐกระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน
รวมทั้งมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐ
· บุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
และองค์กรเหล่านี้สามารถรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรใหญ่เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองผู้บริโภคได้
·
นอกจากสิทธิและเสรีภาพข้างต้นแล้ว การใดที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมิได้ห้ามหรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพไว้
บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้น ๆ ได้อย่างเสรี และถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
·
สำหรับสิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ถึงแม้จะยังมิได้มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ
รัฐธรรมนูญนี้ก็รับรองว่า บุคคลหรือชุมชนสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ทันทีตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
· อย่างไรก็ดี เพื่อให้การใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลและชุมชนต้องเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ
สังคม และบุคคลอื่น ไม่ใช้สิทธิและเสรีภาพกันอย่างเกินเลยเหมือนเช่นหลายปีที่ผ่านมาจนทำให้บ้านเมืองเสียหาย ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิและเสรีภาพไว้ชัดเจนว่า
บุคคลและชุมชนต้องไม่ใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเกินขอบเขต กล่าวคือการใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้น
ต้อง ...
(1) ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
(2) ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและประชาชน
และ
(3) ไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
· เมื่อใดก็ตามที่มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเกินขอบเขต
ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการนั้นสามารถใช้สิทธิทางศาลผ่าน “ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง” เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของตนที่ถูกล่วงละเมิด
รวมทั้งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ หรือจะฟ้องต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยตรงเพื่อให้วินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้
สำหรับบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น
ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐ
·
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีการตรากฎหมายแบบไม่มีเหตุมีผลหรือเพื่อพวกพ้อง
หรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงได้วางหลักในการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติไว้ชัดเจนว่า
กฎหมายที่จะตราขึ้นนั้น ต้อง ...
(1) เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
(2) ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้
กฎหมายนั้นต้อง
2.1 ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม
2.2 ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ
2.3 ไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล
2.4 ระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย และ
2.5 มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป
·
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบว่า
การตรากฎหมายเป็นไปตามหลักทั้ง 5 ประการข้างต้น หรือที่เรียกกันว่า “การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย”
หรือไม่ ทั้งร่างกฎหมายที่ยังไม่มีผลใช้บังคับ และกฎหมายที่ใช้บังคับแล้ว
·
ถ้าเป็นร่างกฎหมาย - ส.ส. ส.ว.
หรือนายกรัฐมนตรี สามารถร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยได้
· ถ้าเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้ว
– ประชาชนผู้เป็นคู่ความในคดีอาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ซึ่งศาลที่พิจารณาคดีนั้น ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
หน้าที่ของปวงชนชาวไทย
10 ประการ
ปวงชนชาวไทยมิได้มีแต่เฉพาะสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวข้างต้น
แต่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคมส่วนรวม ดังต่อไปนี้ด้วย
· พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ
ศาสนา พระมหากษัตริย์
และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
·
ป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ
ผลประโยชน์ของชาติ รวมตลอดทั้งสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และให้ความร่วมมือในการบรรเทาสาธารณภัย
·
ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
·
เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ
·
รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ
·
เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม
·
ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ
·
ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์
และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทรัพยากร ธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ
รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม
·
เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ
· ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบ
หน้าที่ของรัฐ
ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดให้
“รัฐมีหน้าที่ต่อประชาชน” ด้วยเพื่อให้รัฐต้องดำเนินการในเรื่องที่กำหนดให้แก่ประชาชน
“ทุกคน” หรือ “ทุกชุมชน” เป็นการทั่วไป โดยที่ประชาชนแต่ละคนหรือแต่ละชุมชน
“ไม่ต้องใช้สิทธิร้องขอ” ต่อไป ถ้ารัฐไม่กระทำตามหน้าที่
ก็จะเป็นกรณีจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือถ้ากระทำหน้าที่ไม่ดี
ประชาชนและชุมชนย่อมมีสิทธิติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ และฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นได้
หน้าที่ของรัฐมีดังนี้
· พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์
เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย
ความมั่นคงแห่งชาติ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
·
ดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
·
จัดให้เด็กเล็ก (1-3 ขวบ)
ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาลเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย
อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมวัย โดยรัฐมีกองทุนช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ขาดแคลนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่าง
“คนมี” กับ “คนไม่มีหรือผู้ขาดแคลน” ทุนทรัพย์
·
จัดให้เด็กได้รับการศึกษาระดับอนุบาลจนจบการศึกษาภาคบังคับ
(อนุบาล 1 ถึง ม.3 รวม 12 ปี) โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และมุ่งให้เด็กได้เรียนตามความถนัดของแต่ละคนซึ่งแตกต่างกัน
·
เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว รัฐต้องต้องดำเนินการให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาตามความต้องการของแต่ละคนซึ่งมีความชอบหรือความถนัดแตกต่างกันไป
โดยรัฐมีกองทุนช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ขาดแคลนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างผู้มีกับผู้ไม่มีทุนทรัพย์ ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ห้ามรัฐที่จะจัดการศึกษาระดับ ม.3-ม.6 ให้ฟรีอย่างเช่นจัดให้อยู่ในปัจจุบันดังที่มีคนชวนให้เด็ก ๆ เข้าใจผิดกัน · การศึกษาทุกระดับนั้น ต้องสอนผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย และภูมิใจในชาติ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ และมีความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคตด้วย
· รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง
เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค
และส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
· รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
และต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
·
รัฐต้องคุ้มครองและบำรุงรักษาทรัพยากร ธรรมชาติ
สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยร่วมกับประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน และต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน
สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด
·
รัฐต้องอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น
ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และต้องจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย· ถ้าการดำเนินการใด ๆ ของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน (EHIA) และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งชุมชนและประชาชนที่เกี่ยวข้องก่อน และต้องนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตด้วย ถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้น รัฐต้องเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และโดยไม่ชักช้า
·
รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในความครอบครองของราชการที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ
และต้องทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารที่ว่านั้นได้โดยสะดวก
เพื่อให้การปฏิบัติราชการมีความโปร่งใส ประชาชนตรวจสอบได้โดยตรง อันจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและระงับยับยั้งการทุจริตและประพฤติมิชอบ
·
รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรของดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ
เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
โดยการจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง
วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์ในการใช้คลื่นความถี่นั้นด้วย
·
รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและต้องส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเพราะประชาชนทุกคนเป็นผู้บริโภค
·
รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ไม่ใช้จ่ายเงินงบประมาณสะเปะสะปะอย่างที่ผ่าน ๆ
มา ไม่สร้างภาระรุงรังหนักหนาสาหัสแก่ลูกหลานในอนาคต และมีระบบภาษีที่เป็นธรรม
·
รัฐต้องใช้มาตรการและกลไกเพื่อขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทุกรูปแบบ
และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด
รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้
ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับการคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
แนวนโยบายแห่งรัฐ
· จัดให้มี “ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล
โดยยุทธศาสตร์ชาติจะกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) ของชาติ และแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) ที่ประชาชนทุกภาคส่วนและรัฐเห็นดีเห็นงามร่วมกัน
และร่วมมือกันในทุกทางเพื่อเป็นพลังในการช่วยกันทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนของชาติในระยะยาวเหมือนชาติอื่น
ๆ เขา มีตัวชี้วัดความคืบหน้าในการดำเนินการและความสำเร็จที่ชัดเจนและเป็นสากล
โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และประชาชนทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย
·
ส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศโดยถือหลักความเสมอภาคในการปฏิบัติต่อกัน และไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ให้ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
และคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติและของคนไทยในต่างประเทศ
·
จัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ
เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก
รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร
·
มีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัดปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใด ๆ
·
ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
และเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายในคดีอาญาตามที่กฎหมายบัญญัติ
·
อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
โดยในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานนั้น
รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา
และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาในทุกกรณี และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาดังกล่าวด้วย
·
จัดให้มีและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาศิลปวิทยาการให้เกิดความรู้
การพัฒนาการ และนวัตกรรม เพื่อความเข้มแข็งของสังคมและเสริมสร้างความสามารถของคนในชาติ
·
ส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง
ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี
และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุขและไม่ถูกรบกวน แต่ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ
หรือสุขภาพอนามัย
·
ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของสังคม
จัดให้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม
ส่งเสริมและพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีจิตใจเข้มแข็ง
ส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาให้ไปสู่ความเป็นเลิศและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นพลเมืองที่ดี
มีคุณภาพและความสามารถสูงขึ้น
·
ให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี
ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ยากไร้ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
คุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และให้การบำบัด
ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว· จัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมโดยคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล
·
วางแผนการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และศักยภาพของที่ดินตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
และจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
·
มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
·
จัดให้มีทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน
รวมทั้งการประกอบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอื่น
·
จัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ
และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ดินทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใดที่เหมาะสม
·
ส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานโดยเหมาะสมกับศักยภาพและวัย
มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน
ได้รับรายได้ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ
และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงานหรือยามชรานั่นเอง
รวมทั้งจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ· จัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน (Inclusive and Sustainable Growth) อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่เป็นสากล สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก แทนการมุ่งเน้นระบบเศรษฐกิจแบบการค้าเสรีที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา มุ่งขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ โดยรัฐต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุ กับการพัฒนาด้านจิตใจและความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ประกอบกัน ไม่ใช่มุ่งพัฒนาความเจริญทางวัตถุเป็นหลักอย่างเช่นที่ผ่าน ๆ มา
· ไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ
·
ส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง
และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ
และกิจการวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางของประชาชนและชุมชน
·
พัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น
และงานของรัฐอย่างอื่นให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
โดยหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน
การจัดทำบริการสาธารณะ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
รวมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนอย่างสะดวก
รวดเร็ว และไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพ
·
การบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ
ต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม และต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
หรือการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ
·
จัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น
และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์
หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพที่ไม่จำเป็นโดยเร็ว
เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ทั้งต้องจัดให้มีระบบการวิเคราะห์หรือตรวจสอบความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมาย
และมีระบบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกฉบับเป็นระยะ ๆ
เพื่อให้กฎหมายมีกลไกหรือมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
· ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง
ๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน
ระบบเลือกตั้ง สส –
กาบัตรเดียว
· สส. เขต
350 คน/สส. บัญชีรายชื่อ 150 คน รวม 500 คน
·
วาระ 4 ปี
·
เลือกตั้งโดยตรงและลับ
·
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าคูหากาบัตรเดียว
ได้ทั้ง สส. เขต และ สส. บัญชีรายชื่อ
·
ที่ต้องให้มี สส. บัญชีรายชื่อเพราะ สส.
เขตใช้ระบบใครได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง (First Past the Post) ดังนั้น
คะแนนเสียงที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ลงให้แก่ผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือกตั้งอื่นทุกราย
รวมทั้งคะแนนเสียงไม่เลือกใคร (Vote No) จึงไม่มีความหมาย
ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีนั้น คะแนนของผู้ได้รับเลือกตั้งยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยซ้ำไป และคะแนนของผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือกตั้งทุกรายรวมกันแล้วกลับมากกว่าคะแนนผู้ได้รับเลือกตั้งเสียอีก
ซึ่งไม่เป็นธรรม
·
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงกำหนดให้นำคะแนนเสียงทุกคะแนนที่มีการลงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง
สส. เขต ทุกรายไปใช้ในการคำนวณจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่แต่ละพรรคจะพึงมี (แต่ไม่ใช่ทุกเสียงจะต้องได้ผู้แทน) โดยใช้วิธีบัญญัติไตรยางค์ธรรมดา หากพรรคใดได้
สส. เขตเกินจากจำนวน สส. ที่จะพึงมีแล้ว ก็ให้ถือว่ามี สส. เท่านั้น - ไม่ได้รับ สส. บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก - แต่ถ้าได้ สส.
เขต น้อยกว่าจำนวน สส. ที่พึงมี ก็จะได้รับ สส. บัญชีรายชื่อเพิ่มจนครบจำนวน สส.
ที่พึงมี นอกจากนี้
ผู้สมัครซึ่งจะได้รับเลือกเป็น สส. เขต ก็ต้องได้คะแนนมากกว่าจำนวนคะแนนเสียงไม่เลือกใคร
(Vote No) ด้วย ซึ่งสามารถแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นได้
·
ในระบบนี้
พรรคการเมืองต้องเฟ้นหาผู้สมัครที่ดีที่สุดในแต่ละเขตเพราะมีผลกระทบต่อคะแนนรวมที่แต่ละพรรคจะได้รับจากการเลือกตั้ง
ไม่ใช่ทำแบบเดิม ๆ ว่าถ้าไม่มีลุ้นในเขตใด จะส่งหมูเห็ดเป็ดไก่ที่ไหนไปสมัครก็ได้อันเป็นการดูหมิ่นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหมือนที่ผ่าน
ๆ มา อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเบื่อการเมืองและการเลือกตั้ง
และขาดความเชื่อมั่นและความศรัทธาในประชาธิปไตย
· การยกเลิกการกาบัตรสองใบ
“มิใช่การลิดรอนสิทธิเลือกตั้งของประชาชน”
เพราะเดิมที่เข้าใจกันว่าบัตรหนึ่งเลือก สส. เขต ส่วนอีกบัตรหนึ่งเลือกพรรคนั้น
เป็นความเข้าใจผิด เพราะบัตรที่เข้าใจว่าเป็นการเลือกพรรคนั้น แท้จริงแล้วเป็นบัตรเลือก สส. บัญชีรายชื่อที่พรรคทำขึ้นโดยพรรคเรียงลำดับผู้สมัครทุกรายไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อไม่มีการอธิบายประเด็นนี้ให้ประชาชนเข้าใจ
ประชาชนจึงเข้าใจว่าการกาบัตรที่สองเป็นการเลือกพรรค เมื่อเป็นเช่นนี้ การเลือกตั้งแบบการบัตรสองใบที่ผ่าน
ๆ มาจึงทำให้ผลการเลือกตั้งคลาดเคลื่อนมาโดยตลอด อีกทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากเกิดความสับสน
กาผิดกาถูกก็มี หรือหย่อนบัตรผิดหีบก็มี จนมีบัตรเสียเป็นจำนวนมากเป็นล้านบัตรอันเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
คุณสมบัติของผู้สมัคร
สส. – ต้องเข้มเพื่ออนาคตของชาติ
บุคคลดังต่อไปนี้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น
สส.
· ติดยาเสพติดให้โทษ
· เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
·
เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
· เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
· อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
· อยู่ระหว่างถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งชั่วคราว
หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามคำพิพากษาหรือตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
· ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
· เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
· เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ
หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่
หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
· เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
· เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา
ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า
กฎหมายว่าด้วยการพนัน ในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
· เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
· เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
· เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
· เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
· เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ
หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
· เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
· อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
หน้าที่ สส
· พิจารณาร่างกฎหมาย
·
ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
·
ปีหนึ่งมีประชุม 2 สมัย สมัยละไม่น้อยกว่า
120 วัน
·
สส. 1/5 สามารถเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้
(เดิมเปิดอภิปรายทั้งคณะไม่ได้) แต่ให้ทำได้เพียงปีละครั้งเพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านเกเรใช้เป็นช่องทางในการป่วนการทำงานของรัฐบาล
·
สส. 1/10 สามารถเสนอญัตติเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติได้
เพื่อเป็นช่องทางให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้
·
เพื่อให้รัฐสภาเป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างแท้จริง ถ้าผู้นำฝ่ายค้านเห็นว่ามีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
ซึ่งการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้
ในกรณีนี้ คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุม แต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
วิธีประชุมให้ประชุมลับ เพราะต้องการให้ฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายรับผิดชอบร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติ
ไม่ใช่ใช้การถ่ายทอดสดเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงและโจมตีกันไปมา
ซึ่งมีแต่จะสร้างความแตกแยกเหมือนเช่นที่ผ่าน ๆ มา
·
ในเรื่องงบประมาณ สส. จะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการไม่ได้
แต่อาจแปรญัตติตัดลดรายจ่ายได้ เว้นแต่รายการ (1) ส่งใช้ต้นเงินกู้ (2) ส่งใช้ดอกเบี้ยเงินกู้
(3) ใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด
· ห้าม สส. แปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด
ๆ ที่มีผลให้ตนมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย (งบแปรญัตติ) ถ้ามีการกระทำดังกล่าว สส. 1/10 อาจเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว
ถ้าวินิจฉัยว่ามีการกระทำดังกล่าว ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวนั้นไม่มีผล
และให้ สส. นั้นพ้นจากสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
หากรัฐมนตรีกระทำการดังกล่าวเสียเอง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีผู้กระทำการหรือไม่ยับยั้งการกระทำนั้น
ทำไมยังต้องมี สว.
·
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475
สว. ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นพี่เลี้ยงแก่ สส. ที่มาจากการเลือกตั้งในพื้นที่
แต่เนื่องจากสมัยนั้นการศึกษาของประชาชนยังไม่ทั่วถึงและการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นรวดเร็วมาก
สส. ส่วนใหญ่จึงยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและในการตรากฎหมาย
จึงมีการสร้าง สว. ขึ้นเพื่อเป็น “สภาพี่เลี้ยง” ของ สส. โดยจะแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง
ๆ
·
ต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ สว. จาก สว.
แต่งตั้ง เป็น สว. เลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อย่างเดียวกับ สส. การเลือกตั้ง สว. โดยตรงนี้เองที่ทำให้ สว.
ต้องอิงกับระบบการเมืองเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง - เพราะการเลือก สส. นั้นเรายังต้องแบ่งจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเลย
เพราะเขตจังหวัดใหญ่เกิน หาเสียงไม่ไหว แต่ในการเลือกตั้ง สว. ที่ผ่านมาได้กำหนดให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง - จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้สมัคร
สว. จะหาเสียงได้ทั่วทั้งจังหวัด - ผู้สมัคร สว.
จึงต้องยึดโยงกับพรรคการเมืองเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง – นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาได้ให้อำนาจแก่
สว. ในการ “ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วยทั้ง ๆ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเหมือนกับ
สส. ดังนั้น จึงไม่ยากที่ฝ่ายการเมืองจะ “ครอบงำ”
สว. เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นการยากที่ สว. จะมีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
·
แม้หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ
สว. โดยใช้ระบบผสม กล่าวคือ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนส่วนหนึ่ง กับ สว. สรรหา
อีกส่วนหนึ่ง ก็ไม่ได้แก้ปัญหาเดิม แถมเพิ่มปัญหาใหม่เข้าไปอีก - เพราะ สว.
เลือกตั้ง ยังคงอิงกับระบบการเมือง ส่วน สว. สรรหาก็ถูกโจมตีว่าไม่มีความยึดโยงกับประชาชน
- การทำงานของ สว. อันมีที่มาแตกต่างกันจึงขาดความเป็นเอกภาพมากกว่าเดิม
·
อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญนี้เห็นว่า สว
ยังคงมีความสำคัญสำหรับประเทศไทย แต่มิใช่ในฐานะสภาพี่เลี้ยงอย่างเดิม หากแต่เป็น “สภาเติมเต็ม” หรือสภาที่ประชาชนสามารถเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติได้โดยตรง
อันจะช่วยให้พิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สส. ให้รอบคอบรอบด้านมากยิ่งขึ้นตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรากฎหมาย เพราะ สส. เป็นตัวแทนพื้นที่และเป็นตัวแทนพรรค
การพิจารณาร่างกฎหมายจึงยังขาดมุมมองของภาคส่วนอื่นที่หลากหลายของสังคมอันจะทำให้กฎหมายต่าง ๆ มีความรอบคอบมากขึ้น
·
นอกจากนี้ การให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งนั้น ที่ผ่าน ๆ มาก็แสดงให้เห็นว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายการเมืองที่ไม่สุจริตพยายามเข้าแทรกแซง สว. ในรูปแบบต่าง ๆ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมิได้กำหนดให้
สว. มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป และโดยที่การดำเนินการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งจะมีผลเป็นการเพิกถอน
“สิทธิเลือกตั้ง” หรือ “สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” ของบุคคลด้วย
ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีเหตุให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่
ระบบการเลือก สว.
· สว.
มีจำนวน 200 คน
·
เดิมใช้เลือกตั้งโดยตรงกับแต่งตั้งมีปัญหามาก
เพราะที่มาจากการเลือกตั้งเกือบทั้งหมดจะอิงกับพรรคการเมืองเพราะต้องหาเสียง
ต้องใช้หัวคะแนน การเมืองแทรกแซงได้
แต่ถ้ามาจากการแต่งตั้งก็ถูกกล่าวหาว่าขาดความยึดโยงกับประชาชน
·
ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงเปลี่ยนใหม่วิธีการเลือก
สว. ใหม่ โดยให้มาจากการเลือกกันเองของประชาชนพลเมืองผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ
และประสบการณ์ หรือมีสถานะต่าง ๆ เช่น ผู้พิการ ฯลฯ หรือเคยทำงานในด้านต่าง ๆ
จากทุกภาคส่วนที่หลากหลายของสังคม (All walks of life)
· วิธีการลือก สว. เช่นนี้“เปิดกว้าง” ให้ประชาชนพลเมืองทุกคนซึ่งมีคุณสมบัติสมัครเข้ารับการเลือกได้โดยสะดวก เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนเข้ามา
“มีส่วนร่วมโดยตรง” ในการใช้อำนาจอธิปไตย แล้วให้ผู้สมัครแต่ละด้านเลือกกันเองให้ได้
200 คน โดยให้เลือกไขว้กลุ่มเพื่อป้องกันการฮั้วกันทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ
หน้าที่ สว
· ไม่ใช่สภาพี่เลี้ยงของ
สส อย่างเดิม หากแต่เป็น “สภาเติมเต็ม”
โดยจะช่วยพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สส ให้รอบด้าน
เพราะเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือเคยทำงานในด้านต่าง ๆ จากภาคส่วนที่หลากหลายของสังคม
· เห็นชอบการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
ที่มา นรม.
· ในการหาเสียง
พรรคต้องแจ้งชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อ กกต. ด้วย พรรคละไม่เกิน 3
รายชื่อ และในการหาเสียง ต้องประกาศให้ประชาชนทราบรายชื่อดังกล่าวด้วย
·
รายชื่อที่เสนอ พรรคเป็นผู้คัดเลือกและเสนอ
จะเสนอจากผู้เป็นหรือไม่เป็นสมาชิกพรรคก็ได้ และจะเป็น สส. หรือไม่ก็ได้ ถือเป็นเอกสิทธิ์ของพรรคที่จะตัดสินใจ
และพรรคต้องรับผิดชอบต่อสมาชิกพรรคและประชาชนในการตัดสินใจนั้น
·
ที่ผ่านมาประชาชนไม่มีสิทธิรู้ล่วงหน้าว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี
– ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ด้วยว่าพรรคการเมืองที่ตนจะตัดสินใจสนับสนุนนั้นมีจุดยืนอย่างไร
จะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี
·
ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี
ทั้งต้องมีหนังสือยินยอมให้พรรคเสนอชื่อ – การยินยอมให้เสนอชื่อเกินหนึ่งพรรค
การยินยอมนั้นเป็นโมฆะ
· สส.
เป็นผู้เลือก นรม. จากรายชื่อในบัญชีของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็น
สส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน สส. ทั้งหมด (อย่างน้อย 25 คน)
คณะรัฐมนตรี (ครม.)
· ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี
(นรม.) คนหนึ่งและรัฐมนตรี (รมต.) อื่นอีกไม่เกิน 35 คน
·
จะเป็น สส. หรือไม่ก็ได้
·
ครม.
ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่
โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ
·
นโยบายของ
ครม. ต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ
และสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ
· ในการบริหารราชการแผ่นดิน ครม.
ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา
และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ด้วย
(1)
ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย
และมีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่าง ๆ
เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม
(2)
รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
(3)
ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
(4)
สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก
และสามัคคีปรองดองกัน
· รมต. ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน
รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการตามนโยบายของ
ครม.
·
ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่
ครม. เห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของ สส. และ สว.
นรม.จะขอให้ประธานรัฐสภาเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติก็ได้
· ครม. อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใด
ๆ อันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ศาลรัฐธรรมนูญ
· จำนวน 9
คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา
·
มาจากศาลฎีกา 3 คน ศาลปกครองสูงสุด 2 คน
ศาสตราจารย์สาขานิติศาสตร์ 1 คน ศาสตราจารย์สาขารัฐศาสตร์/รัฐประศาสนศาสตร์ 1 คน ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินระดับอธิบดีขึ้นไป
2 คน
·
วาระ 7 ปี
· มีหน้าที่ดังนี้
(1)
วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมาย
(2)
วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา
คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
(3)
วินิจฉัยการกระทำอันเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ
(4) วินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ
สส และ สว และการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรี
(5)
วินิจฉัยการกระทำอันเป็นการแปรญัติติกฎหมายงบประมาณที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
(6)
วินิฉัยว่าร่างกฎหมายที่เสนอใหม่มีหลักการซ้ำกับร่างกฎหมายที่ถูกยับยั้งหรือไม่
(7)
วินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาใดเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม
หรือการค้าการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางหรือไม่
(8)
วินิจฉัยว่าบุคคลใดถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรรมนูญคุ้มครองไว้หรือไม่
· ศาลรัฐธรรมนูญถูกตรวจสอบโดย
ปปช. เหมือนกับองค์กรอื่น ๆ
องค์กรอิสระ
·
มี 5 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
· เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อดำเนินการหรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของประเทศดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สุจริต และโปร่งใส – มิใช่องค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อจ้องจับผิดรัฐบาลหรือนักการเมืองเหมือนอย่างที่เข้าใจคลาดเคลื่อนกันมาโดยตลอด
- และร่วมกันกำหนด “มาตรฐานทางจริยธรรม” ที่จะนำไปใช้บังคับแก่ สส. สว. และ ครม.
ด้วย
· การใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระต้องเป็นไปโดยสุจริต
เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ
· มาจากการสรรหาหรือคัดเลือก
แล้วแต่กรณี
· ในการสรรหาจะมีคณะกรรมการสรรหามีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน
(หลักการเดียวกับ รธน. 50)
· ผู้ได้รับการสรรหาต้อง
(1) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (2) มีความรับผิดชอบสูง (3) มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ (กล้าตัดสินใจ) และ (4) มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม
(Role model)
· ถ้าองค์กรอิสระแห่งใดไต่สวนกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนแล้วพบว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการกระทำนั้นอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระแห่งอื่นด้วย
ให้องค์กรอิสระนั้นส่งเรื่องให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน
·
องค์กรอิสระแต่ละแห่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการโดยเฉพาะ
โดยให้มีผู้บังคับบัญชาสูงสุดคนหนึ่งซึ่งแต่งตั้งโดยความเห็นชอบขององค์กรอิสระแต่ละแห่ง
เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารงานของหน่วยงานนั้น
ศาล
และองค์กรอัยการ
· หมวดศาลประกอบด้วย
ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร
·
รับรองว่าผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ซึ่งต้องให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง
·
วางหลักประกันความเป็นอิสระว่า เงินเดือนและการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาหรือตุลาการต้องมีความเป็นอิสระ
และดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการตามที่กฎหมายบัญญัติ
·
รับรองความมีอยู่และความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอัยการ
และเพื่อให้พนักงานอัยการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่
ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์และการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
มีอิสระในการสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรมเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน
การป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์
· สส. สว.
และ ครม. ต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interests)
การปกครองส่วนท้องถิ่น
·
กำหนดให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นตามวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(อปท.) ที่กฎหมายบัญญัติ
·
การจัดตั้ง อปท. รูปแบบใดให้คำนึงถึงความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้
จำนวนและความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกัน
·
อปท. มีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่กฎหมายบัญญัติ
ไม่ใช่คิดถึงการหารายได้อย่างเดียว
·
รัฐต้องดำเนินการให้ อปท. มีรายได้ของตนเองให้สามารถจัดทำบริการสาธารณะได้อย่างเพียงพอ
·
การจัดทำบริการสาธารณะใดที่สมควรให้เป็นหน้าที่โดยเฉพาะของ
อปท. แต่ละรูปแบบ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติโดยสอดคล้องกับรายได้ของท้องถิ่น ซึ่งต้องกำหนดขั้นตอนในการกระจายอำนาจของส่วนราชการตลอดจนงบประมาณและบุคลากรที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจดังกล่าวให้แก่
อปท. ด้วย
·
อปท. ต้องมีอิสระในการบริหาร
การจัดบริการสาธารณะ และการเงินและการคลัง
·
การกำกับดูแล อปท. ให้ทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม
การป้องกันการทุจริต และการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
· การบริหารงานบุคคลของ
อปท. ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
·
สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง
·
ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น
หรือวิธีอื่นตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
แต่วิธีอื่นดังกล่าวต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
·
ในการดำเนินงาน อปท. สภาท้องถิ่น
และผู้บริหารท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูลและดำเนินการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
· ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน
อปท. ยังคงมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น
หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
·
ห้ามแก้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
· รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยสมาชิกรัฐสภา
คณะรัฐมนตรี หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน
การปฏิรูปประเทศ
· กำหนดให้ต้องมีการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง
การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม (รวมทั้งตำรวจ) การศึกษา
เศรษฐกิจ และด้านอื่นที่จำเป็น เพื่อบรรลุเป้าหมาย
ดังต่อไปนี้
(1) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย
มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ
(2) สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม
และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ
(3) ประชาชนมีความสุข
มีคุณภาพชีวิตที่ดี
และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
·
กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ
เพื่อเป็นกรอบในารดำเนินการซึ่งอย่างน้อยต้องมีวิธีการจัดทำแผน
การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งต้องกำหนดให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปในแต่ละด้านภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้รวมตลอดทั้งผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลาห้าปี
· เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง
ได้กำหนดให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ
และประกาศใช้บังคับภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
บทเฉพาะกาล
· บทเฉพาะกาลเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับชั่วคราวในช่วงระหว่างที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่จนถึงวันที่มีรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้แล้วเท่านั้น
·
รองรับสถานะขององค์กรต่าง ๆ
ที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ว่ายังคงอยู่ต่อไปและปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้
·
กำหนดให้ สว.
ในวาระเริ่มแรกมาจากการสรรหาของ คสช. ผ่านคณะกรรมการสรรหา จำนวน 194 คน
ผ่านการเลือกตั้งทางอ้อมตามรัฐธรรมนูญนี้ 50 คน และมี สว. โดยตำแหน่ง 6 คน รวม 250
คน โดยให้อยู่ในตำแหน่งเพียง 5 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
สำหรับอำนาจหน้าที่ของ สว. ชุดแรกนี้ มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับ สว.
ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ และให้มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ
และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จตามที่กฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศบัญญัติไว้ด้วย
เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้าไปได้อย่างแท้จริง
· รับรองความมีอยู่และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประกาศ
คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
หรือที่จะออกใช้บังคับต่อในระหว่างที่ยังไม่มีรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้เคยรับรองไว้แล้ว
********
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น