วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"เข้าใจ FinTech ของเวียดนาม" โดย นางสาวศิริพร กำแพงแก้ว*


                    รูปแบบการดำเนินธุรกรรมทางการเงินด้วยนวัตกรรมใหม่หรือที่รู้จักกันในชื่อของ FinTech (Financial Technology) กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ ด้วยบริการรูปแบบดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคส่วนใหญ่ เนื่องจากช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการผ่านการใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็วและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม

                   ประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นอีกกลุ่มประเทศที่กำลังได้รับการจับตาเนื่องจากศักยภาพการเติบโตในอุตสาหกรรมดังกล่าวที่สูง โดยแต่ละประเทศมีทิศทางและแนวโน้มการเติบโตที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์และคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านดังกล่าว ต่างยกให้ “เวียดนาม” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพด้านดิจิทัล โดยเฉพาะด้านฟินเทคสตาร์ทอัพ

สถานการณ์ FinTech ในประเทศเวียดนาม

                    ด้วยการขยายตัวของประชากรกลุ่มชนชั้นกลาง การเพิ่มขึ้นของการใช้งานอินเตอร์เน็ต และจำนวนประชากรกว่า 100 ล้านคน ซึ่งมากกว่าร้อยละ 65 เป็นวัยหนุ่มสาวที่มีการศึกษาดี มีทักษะและความเข้าใจด้านดิจิทัล ตลอดจนมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มเปี่ยม ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการก้าวขึ้นเป็นตลาดฟินเทคสำคัญของภูมิภาค

                   ข้อมูลของ Department of Payments ธนาคารแห่งชาติเวียดนามระบุว่า อุตสาหกรรมการชำระเงินที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเวียดนามนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการขยายตัวของรูปแบบการจ่ายเงินแบบไร้เงินสด (Cashless Payment) ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปี 2562 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2561โดยเฉพาะในส่วนของการทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือและกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งขยายตัวกว่าร้อยละ 126 และร้อยละ 161 ตามลำดับ นอกจากนี้ รายงานของ Allied Market Research เมื่อปี 2561 ยังได้คาดการณ์ด้วยว่าตลาดการชำระเงินผ่านมือถือของชาวเวียดนามจะมีมูลค่าสูงถึง 70,937 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี 25612568 อยู่ที่ร้อยละ 18.2

                   จากการที่ฟินเทคเข้ามามีบทบาทกับสังคมเวียดนามมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างคึกคักระหว่างสตาร์ทอัพที่คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางด้านการเงิน และส่งผลให้ระบบนิเวศของฟินเทคสตาร์ทอัพในเวียดนามขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน มีบริษัทฟินเทคสตาร์ทอัพเกิดขึ้นกว่า 120 แห่ง ครอบคลุมบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่การชำระเงินดิจิทัล การเงินทางเลือก ไปจนถึงการบริหารความมั่งคั่งและบล็อกเชน

                    ท่ามกลางรูปแบบสตาร์ทอัพและแพลตฟอร์มจำนวนมากที่เกิดขึ้นนี้ การชำระเงิน (Payment) นับเป็นภาคธุรกิจฟินเทคที่เป็นที่นิยมมากที่สุด บริษัทที่น่าจับตามองในแพลตฟอร์ม์นี้ ได้แก่ VNPay แพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม มีจุดชำระเงินกว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศ และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของการชำระเงินผ่าน VNPay มากกว่ากว่าร้อยละ 30 ต่อปี MoMo แอพพลิเคชั่นชำระเงินบนมือถือ ก่อตั้งโดย M_Service ซึ่งเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพฟินเทคที่ได้รับเม็ดเงินลงทุนสูงสุดในเวียดนาม นอกจากนั้น ยังมี แอพพลิเคชั่นชำระเงินที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการในเวียดนาม อาทิ Moca, GrabPay และ Zalo Pay เป็นต้น รูปแบบบริการดังกล่าวจะเชื่อมกับบัตรชำระเงินของผู้ใช้บริการเพื่อชำระค่าบริการหรือสินค้าออนไลน์ เติมเงินมือถือ จ่ายค่าสาธารณูปโภค และอื่น ๆ ผ่านการโอนจ่ายเงินระหว่างบุคคล การจ่ายผ่าน NFC และ/หรือคิวอาร์โค้ด

                    ส่วนที่เติบโตรองลงมาคือ ระบบตลาดสินเชื่อออนไลน์ (Peer-to-peer (P2P) Lending) ซึ่งนับเป็นกลุ่มธุรกิจฟินเทคที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเวียดนาม ด้วยจำนวนสตาร์ทอัพกว่า 20 บริษัท อาทิ Tima ตลาดทางการเงินของผู้บริโภคและแพลตฟอร์มตลาดสินเชื่อออนไลน์ Growth Wealth แพลตฟอร์มตลาดสินเชื่อออนไลน์สำหรับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม และอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจฟินเทคที่กำลังมาแรงและเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้แก่ บล็อกเชน (Blockchain) และคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) นับตั้งแต่การเข้ามาของบิทคอยน์ในเวียดนามและการก่อตั้งบริษัทซื้อขายบิทคอยน์รายแรกของประเทศในปี 2557 ทำให้เกิดบริษัทรายใหม่ลงเล่นในธุรกิจดังกล่าวจำนวนมาก เช่น TomoChain และ Kyber Network เป็นต้น

                    นอกจากแพลตฟอร์มยอดนิยมข้างต้น เวียดนามยังมีกลุ่มฟินเทคอื่น ๆ จำนวนมาก อาทิ แพลตฟอร์มการวิเคราะห์การเงินเชิงเปรียบเทียบ เช่น TheBank, EbaoHiem เทคโนโลยีกลุ่มธุรกิจประกันหรืออินชัวร์เทค (Insurtech) เช่น Papaya, Inso และ Wicare การบริการระบบขายหน้าร้าน (Point-of-Sale (POS)) เช่น bePOS แพลตฟอร์มการบริหารความมั่งคั่ง เช่น Finsify แพลตฟอร์มดิจิทัลแบงค์กิ้ง (Digital Banking Platforms) เช่น  Timo และสตาร์ทอัพพิจารณาสินเชื่อ (Credit Scoring) เช่น TrustingSocial เป็นต้น

ปัจจัยหนุน FinTech Startup ในเวียดนาม

                    ปัจจัยหลักที่กระตุ้นการขยายตัวของตลาดฟินเทคในเวียดนามมาจาก “พฤติกรรมของผู้บริโภค” ที่ “กล้ารับสิ่งใหม่” กล่าวคือการเปลี่ยนรูปแบบการจับจ่ายใช้สอยจากเงินสดมาเป็นการชำระเงินออนไลน์ที่รวดเร็ว ประหยัด และสะดวกสบายมากกว่า รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมการเงินแบบเร่งด่วน การขยายตัวของการใช้งานอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์สมาร์ทโฟน การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของประเทศ ตลอดจนความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ในด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ

                    นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเป็นแรงกระเพื่อมที่กระตุ้นให้รัฐบาลเวียดนามหันมาให้ความสำคัญและเร่งออกมาตรการและนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการชำระเงินแบบไร้เงินสดมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากนโยบายที่รัฐบาลลงนามไปเมื่อเดือนมกราคม 2560 ซึ่งระบุเป้าหมายในการลดสัดส่วนการทำธุรกรรมเงินสดให้เหลือเพียงร้อยละ 10 และลดจำนวนการถือสมุดบัญชีธนาคารของประชาชนให้เหลือร้อยละ 70 ภายในปี 2563 ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรด้านการสนับสนุนและพัฒนาสตาร์ทอัพ หรือ Business Startup Support Center (BSSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ภายใต้สหพันธ์เยาวชนแห่งชาติ มีหน้าที่สนับสนุนด้านความรู้ ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือเงินทุนในการขยายธุรกิจสตาร์อัพให้เติบโตและมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในเวียดนามและในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในปี 2561 BSSC มีเครือข่ายในประเทศเวียดนามแล้วมากกว่า 1,000 องค์กร ทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานลงทุน  อีกทั้งธนาคารแห่งชาติเวียดนามยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฟินเทคเพื่อให้การสนับสนุนรัฐบาลในการสร้างและพัฒนาระบบนิเวศน์ของฟินเทคในประเทศด้วย  

                    โดยภาพรวมพบว่า รัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุนระบบนิเวศน์ของฟินเทคสตาร์ทอัพในแบบ Top Down ผ่านการออกนโยบายและโครงการสนับสนุนต่าง ๆ ซึ่งเน้นการดำเนินงานในลักษณะ Micro Long Term การปรับมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดบุคลากรสายเทคโนโลยีดิจิทัล (Tech Talent) ชาวเวียดนามที่อยู่ในต่างประเทศให้หันมาเป็นผู้ประกอบการภายในประเทศมากขึ้น การสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในระดับเมือง อาทิ โครงการ Saigon Silicon Valley ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้ธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพในเวียดนามมีตลาดที่ชัดเจน เฟื่องฟู และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ความท้าทายของธุรกิจ FinTech ในเวียดนาม

                    จากข้อมูลและแนวโน้มต่าง ๆ ชี้ชัดว่าฟินเทคสตาร์ทอัพในเวียดนามกำลังเติบโตและขยายตัวอย่างมาก ตลอดจนมีศักยภาพที่จะสามารถขยายสู่ระดับภูมิภาคได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจดังกล่าวยังมีความท้าทาย โดยสรุปได้ดังนี้
                    (1) ภาวะขาดแคลนการระดมทุน ทำให้สตาร์ทอัพขนาดกลางและย่อมบางรายไม่สามารถดำเนินกิจการหรือพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปได้
                    (2) ความปลอดภัยในการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของธุรกิจ
                    (3) กระบวนการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจด้านฟินเทคยังคงมีความซับซ้อนและใช้เวลานาน
                    (4) รัฐบาลยังขาดหน่วยงานสนับสนุนกลุ่มธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง รวมทั้งขาดแคลนบุคลากรที่มีความเข้าใจในระบบนิเวศน์ของธุรกิจดังกล่าว
                    (5) กรอบกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของเวียดนามในปัจจุบันยังไม่ชัดเจนและไม่ครอบคลุมการพัฒนาและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยในประเด็นนี้ มีนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้เสนอให้มีการจัดตั้งกรอบ Regulatory Sandbox เพื่อให้บริษัทและสตาร์ทอัพด้านฟินเทคได้ใช้ทดสอบและพัฒนานวัตกรรม ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรอบดังกล่าวยังจะช่วยให้รัฐบาลสามารถติดตามและกำกับดูแลเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และสามารถพัฒนารูปแบบการกำกับดูแลของภาครัฐในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้อีกด้วย 
                    (6) ความร่วมมืออย่างจริงจังจากภาคธนาคาร หลายภาคส่วนยังคงแสดงความกังวลต่อการเติบโตของบริษัทฟินเทค โดยให้ความเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อภาคธนาคาร

                    อย่างไรก็ดี จากการสำรวจล่าสุดของ Vietnam Report เปิดเผยว่าทั้งธนาคารท้องถิ่นและบริษัทฟินเทคแสดงความพร้อมและยินดีที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมตลาดการชำระเงินแบบไร้เงินสดของเวียดนาม เนื่องจาก สถิติการทำธุรกรรมการเงินภายในประเทศผ่านบัตรธนาคารในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 ในขณะที่การชำระเงินออนไลน์โตขึ้นกว่าร้อยละ 66 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระเงินบนมือถือซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 97.7 โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 232 ตัวเลขดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าธนาคารไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปรับตัว หากแต่ต้องจับมือกับผู้ประกอบธุรกิจฟินเทคในการพัฒนาและส่งเสริมสังคมไร้เงินสดอย่างจริงจัง 

โอกาสและแนวทางสำหรับการดำเนินธุรกิจ FinTech ในเวียดนาม

                    จากศักยภาพด้านธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพในเวียดนามนับเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการลงทุนและขยายธุรกิจมายังเวียดนาม โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจการชำระเงินดิจิทัล การซื้อของออนไลน์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจการเงินส่วนบุคคลและนิติบุคคล ตลอดจนด้านเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งยังมีความเป็นไปได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น (1) โอกาสสำหรับ Venture Capital (VC) จากไทยในการเข้ามาร่วมลงทุนในตลาดฟินเทคสตาร์ทอัพเวียดนาม (2) โอกาสสำหรับฟินเทคสตาร์ทอัพไทยในการขยายตลาดเข้ามาในเวียดนาม (3) โอกาสของฟินเทคสตาร์ทอัพของไทยในการมาหา Venture Capital (VC) ที่ประเทศเวียดนามซึ่งมีจำนวนและเงินทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอัตราการขยายตัว (4) โอกาสของบริษัทเอกชนไทยทั้งขนาดกลางและใหญ่ในการจ้างแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน IT ของเวียดนาม เนื่องจากปัจจุบัน เวียดนามมุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างบุคลากรกลุ่มอาชีพดังกล่าวจำนวนมาก ทำให้ตลาดแรงงานด้าน IT ของประเทศขยายตัวและเติบโตมากขึ้น และ (5) โอกาสของแรงงานไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล โดยเฉพาะในสาขาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเวียดนามมีอัตราตำแหน่งงานว่างในสาขาดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของธุรกิจ

                    อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่จะเข้าตลาดฟินเทคสตาร์ทอัพเวียดนามจำเป็นต้อง (1) ศึกษาบริบทของประเทศ เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรม สังคม และระบบการปกครอง เพื่อให้การทำงานกับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น (2) ทำความเข้าใจกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อห้ามและการสนับสนุนต่าง ๆ ที่มีโอกาสได้รับระหว่างดำเนินกิจการ (3) ทำความเข้าใจการบริหารแรงงานชาวเวียดนาม ซึ่งมีทัศนคติ พฤติกรรม และรูปแบบการทำงานที่อาจแตกต่างจากแรงงานไทย และ (4) เข้าใจรูปแบบการดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนาม กล่าวคือ ในการเข้าถึงทรัพยากรใด ๆ ในประเทศนั้น จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากรัฐบาลเวียดนามซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพยากรทั้งหมดของประเทศ

                    นอกจากโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจแล้ว ยังนับเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยเพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง รวมไปถึงการส่งเสริมฟินเทคสตาร์ทอัพของทั้งสองประเทศให้สามารถเติบโตไปด้วยกัน โดยใช้จุดเด่นของแต่ละประเทศเพื่อมุ่งสู่การขยายตลาดไปยังระดับภูมิภาคต่อไป ตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างพันธมิตร/หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และนำไปสู่การปรับใช้เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวของประเทศในอนาคต

**********************

*นักพัฒนาระบบราชการปฏิบัติการ (นปร. รุ่นที่ 12) สำนักงาน ก.พ.ร. ปฏิบัติราชการ ณ สถานกงสุลใหญ่ นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น