ถ้าลองสังเกตกันดี ๆ เราจะพบว่า ท่ามกลางกลางหยุดชะงักของกลไกทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมอันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงที่มีชื่อยาวเฟื้อยว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “โควิด” นั้น กลไกทางเศรษฐกิจแบบใหม่ได้พัฒนาคู่ขนานไปอย่างเงียบ ๆ แต่รวดเร็วนักผ่านโซเชี่ยลมีเดีย
มันคือระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ sharing economy
หลายคนอาจนึกไม่ออกว่ามันคืออะไร
แต่ถ้าพูดถึงมาเก็ตเพลสบนเฟสบุ๊คอย่าง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการฝากร้าน” อย่าง “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” เอย “ตลาดนัด มศว” และอื่น ๆ (ขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยนาม) ที่หลาย ๆ คนได้เข้าไปฝากร้านและซื้อขายของกันอย่างคึกคักในช่วงที่ผ่านมา คงร้องอ๋อกันทีเดียว
ในช่วงแรกที่ทางราชการแนะนำให้ work from home นั้นเหล่าข้าราชการและพนักงานเอกชนก็หน้าใสไปตามกัน ทำงาน online โดยไม่ต้องออกไปเซ็นชื่อ ตอกบัตร หรือสแกนนิ้วเข้าออกงานเหมือนโรงงานสมัยร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ต้องออกจากบ้านฝ่าการจราจรที่เข้าขั้นวิกฤติไปนั่งซึมอยู่ที่ทำงาน สวรรค์ชัด ๆ
ดีใจไชโยกันได้พักเดียวว่าเป็นไทเสียที ก็เริ่มจะหงุดหงิด เพราะไม่ได้ออกจากบ้าน กับต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรวมทั้งสารพัดไข่ที่อุตส่าห์ไปเข้าแถวซื้อกักตุนกัน (ทำไมไม่รู้) ได้สี่ห้ามื้อ ความอยากออกจากบ้านเหมือนที่เคยทำมาเป็นสิบปีก็เริ่มบังเกิด ความอยากอาหารอย่างอื่นก็เข้ามาแทนที่ วัน ๆ นั่งฝันหวานน้ำลายยืดว่าจะกินอะไรดี รู้สึกอยากกินไปเสียทุกอย่าง แต่ร้านรวงที่เคยขายแบบดั้งเดิมก็ต้องปิดชั่วคราวตามไปด้วย ร้านค้าก็เดือดร้อน ต้องหาวิธีขายใหม่โดยใช้แพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ทีนี้อยากกินอะไรสั่ง อุปสงค์และอุปทานตรงกัน ก็สั่งวน ๆ ไป
น้ำหนักขึ้น ตัวบวม หน้าบานกันโดยไม่รู้ตัว
มีหลายธุรกิจได้รับกระทบรุนแรงมากจากโควิดถึงขั้นที่ต้องหยุดประกอบกิจการทั้งชั่วคราวและถาวรเพราะไม่มีลูกค้า โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการบิน และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กระทบคนหลายหมื่น พนักงานจำนวนมากตกงาน ไม่มีรายได้ ต้องหารายได้เสริมจากทักษะการทำอาหารหรือขนมขาย ขายรถขายคอนโด ขายบ้าน ฯลฯ แรกเริ่มก็มีหน้าร้านของตัวเองบนโซเชียลมีเดีย แต่มันก็ขายยากเพราะฐานลูกค้าก็จำกัดเฉพาะคนรู้จักและบอกต่อกันเท่านั้น ยิ่งคนที่ทำอาหารหรือขนมขายนี่ลงทุนไปแทบไม่ได้อะไรเลยก็มาก
จุดนี้เองที่ sharing economy ก้าวเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานของ “ความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน” เพราะแต่ละคนย่อมต้องเคยอยู่ในชุมชนแห่งใดแห่งหนึ่งมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นวัยใสวัยเรียน และคนในชุมชนเดียวกันก็มักจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามยาก มาเก็ตเพลสของชุมชนของสถาบันการศึกษาดังกล่าวข้างต้นจึงเกิดขึ้นเพื่อให้ “คนในชุมชน” ได้มีโอกาส “ช่วยเหลือกูลเกื้อกัน” โดยการ“ฝากร้าน” แทนที่จะ stand alone ร้านใครร้านมันแบบเดิม ๆ นอกจากนี้ มาเก็ตเพลสที่ว่ายังตอบสนองการแสวงหา “ความแปลกใหม่” ของผู้บริโภคในชุมชนที่ธุรกิจดิลิเวอรี่แบบเดิม ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้
พลังของมาเก็ตเพลสออนไลน์นี้ทำให้เรารู้ว่าวิศวกรจำนวนมากมีสกิลในการทำเบเกอรี่ขั้นเทพ อร่อยกว่าตามร้านดัง ๆ เสียอีก นักบินและแอร์โฮสเตสที่ต้องหยุดบินหันมาทำขนมจีนน้ำยาปูได้ร่อยจังหู้ สปาเก็ตตี้เอย อาหารตามสั่งเอย ข้าวแช่เอย ทุเรียน มังคุด และอื่น ๆ อีกมากมายสารพัด มีหมด สั่งมาแล้วติชมกันได้ ทำให้กินใหม่ฟรี ๆ ก็มี เป็นการพัฒนาคุณภาพสินค้า หลายรายขับรถมาส่งเองเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายผู้ซื้อมากขึ้นไปอีก บางคนกะว่าทำเผื่อจะขายได้ กลายเป็นขายดีมากจนต้องปิดรับออร์เดอร์เพราะทำไม่ไหว บ้างถึงกับรำพันว่าเรียนวิชาที่เคยเรียนมาทำไมก็ไม่รู้ ยากก็ยาก จบมาก็ต้องไปเป็นลูกจ้างเขาวันยังค่ำ สู้มาประกอบอาชีพตามที่ตัวเองถนัดอย่างนี้ดีกว่า เป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง เลี้ยงตัวได้ตามฐานานุรูป ไปนั่นเลย
อ้อ เครื่องอุปโภคบริโภคอื่นนอกจากอาหารก็มีนะครับ
ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์สดลูกค้าประจำของมาเก็ตเพลสแบบนี้ของสถาบันหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เธอบอกว่าการซื้อของออนไลน์นั้นปกติเราไม่ได้สนใจอยู่แล้วว่าใครเป็นผู้ขาย เราเพียงอยากได้ของที่เราต้องการ แต่ถ้าเป็นการซื้อจาก …(ชื่อมาเก็ตเพลส)… ถือว่าเป็นการอุดหนุนพี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ในชุมชนของเรา ถ้าใน …(ชื่อมาร์เก็ตเพลส)… มีของที่เราต้องการจะซื้อ เธอจะสนับสนุนพวกเราก่อนเพราะเป็นคนในชุมชนเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน เลือดสีเดียวกัน
เห็นไหมครับว่า sharing economy มีพลังมากแค่ไหน โดยเฉพาะถ้าเป็น sharing economy ของคนในชุมชนเดียวกัน
ผู้เขียนเคยดูสารคดีเรื่อง sharing economy ของญี่ปุ่น เขาก็ใช้แนวคิด sharing economy ตั้งแต่ในระดับชุมชน โดยเขาส่งเสริมให้คนในชุมชนทำ community platform มีทั้งขายสินค้าและให้บริการในชุมชนบ้านหนึ่งเป็นช่างไฟ บ้านหนึ่งเป็นช่างประปา บ้านหนึ่งขับแท็กซี่ บ้านนึงปลูกหัวไชเท้า บ้านนึงขายปลา บ้านนึงขายผัก บ้านนึงขายมิโซะ ฯลฯ เขาจะซื้อสินค้า/บริการที่มีภายในท้องถิ่นก่อนเป็นการ share ความเอื้อเฟื้อให้แก่กัน ซื้อขายกันเองเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจระดับชุมชน และไม่ต้องถ่อเดินทางเข้าไปในเมืองให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สร้างมลพิษ ถ้าไม่มีในชุมชน เขาจึงจะไปเชื่อมกับ platform ของชุมชนใกล้ ๆ กัน และเชื่อมกันจนเป็น network ขนาดใหญ่ ไม่ได้ขายเอารวยคนเดียวเหมือน platform ขนาดใหญ่ของบริษัทขนาดยักษ์ของต่างชาติ
แต่ทุกคนในชุมชน “มีโอกาส” ขายได้ มีรายได้ มีกินมีใช้ มีความสุขตามอัตภาพ
ผู้เขียนเชื่อว่า new normal อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นและจะค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ ในบ้านเมืองเราจากโควิดคือ sharing economy เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนเอื้อเฟื้อ รู้จักแบ่งปัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของความมั่นคงพอเพียง และยั่งยืน ซึ่งนอกจากปรากฏการณ์มาเก็ตเพลสที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ยังมี “ตู้ปันสุข” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความงดงามในการแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในชุมชน
โควิดแสดงให้เห็นแล้วว่ามันทำให้ระบบทุนนิยมที่มือใครยาวสาวได้สาวเอาล้มระเนระนาดลงได้ภายในพริบตาอย่างไร และแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่เอาเปรียบรายย่อยอย่างไร
ถ้าเรายังไม่เปลี่ยน ก็แสดงว่าเราไม่รู้จักที่จะเรียนรู้ และคงต้องพ่ายแพ้อีกในอนาคต
อย่างแน่นอน.
สุดยอดครับพี่
ตอบลบนวลนรดิศ รุ่น93