วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2564

นักกฎหมายในยุค Post-constitutionalim : ปกรณ์ นิลประพันธ์

เมื่อเดิมนั้นกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก กฎหมายภายในของแต่ละประเทศมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายระหว่างประเทศ และโดยที่กฎหมายภายในตราขึ้นตามกฎหมายสูงสุดของแต่ละประเทศ คือ รัฐธรรมนูญ นักวิชาการด้านกฎหมายเปรียบเทียบจึงนิยมเรียกยุคนี้ว่าเป็น "ยุครัฐธรรมนูญนิยม" หรือ Constitutionalism 


เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการเดินทางและการติดต่อสื่อสารยังพัฒนาไม่มากนัก โลกยังมีพรมแดนตามธรรมชาติเป็นอุปสรรคขวางกั้นการถ่ายทอดองค์ความรู้และความคิดด้านกฎหมายที่เป็นสากลไปสู่ประเทศต่าง  


อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา กฎหมายระหว่างประเทศเริ่มขยายขอบเขตเข้ามาทับซ้อนกับกฎหมายภายในมากขึ้น ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสื่อสาร หรือที่นิยมเรียกกันจนเป็นคำแห่งยุคสมัยว่า “คลื่นลูกที่สาม” ทำให้พันธกรณีระหว่างประเทศกลายมาเป็น “เงื่อนไข” ในการตรากฎหมายภายในของทุกประเทศมากขึ้นเรื่อย  


หากพิเคราะห์กฎหมายในช่วงปี 1990-1999 ให้ดี จะพบว่าหลายประเทศปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ เช่น รัฐธรรมนูญของบางประเทศที่ออกในช่วงปลายปี 1997 ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีตาม International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR ที่มีผลบังคับมาตั้งแต่ปี 1976 แต่ประเทศนั้นเพิ่งให้ภาคยานุวัติในช่วงปลายปี 1996 และมีผลผูกพันประเทศนั้นตอนต้นปี 1997 เป็นต้น


และนับตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 มา กฎหมายระหว่างประเทศมีความแนบแน่นจนแทบแยกไม่ออกจากกฎหมายภายในโดยผลของการติดต่อสื่อสาร ประเด็นเล็ก ๆ ในมุมหนึ่งของโลกได้ก่อให้เกิดเป็น Global issues มากมาย ไม่มีประเด็นใดที่เป็นประเด็นกฎหมายภายในอย่างเดียวแล้ว จนทำให้นักกฎหมายเปรียบเทียบเห็นพ้องกันว่าโลกในยุคปัจจุบันเป็น Post-Constitutionism ไปแล้ว 


ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้กฎหมายระหว่างประเทศมีความสำคัญไม่แพ้กฎหมายภายใน ประเทศใดที่ยังหมกมุ่นอยู่กับกฎหมายภายใน โดยไม่ให้ความสำคัญต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และขาดนักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายระหว่างประเทศและบริบทระหว่างประเทศอย่างแตกฉาน ก็จะส่งผลกระทบต่อ “สถานะ” ของประเทศได้


ที่ผู้เขียนยกเรื่องนี้ขึ้นมาชวนคิดก็เนื่องจากปัจจุบันมี Global issues ที่ส่งผลกระทบหรืออาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อมต่อประเทศไทยมากมาย แต่ประเด็นเหล่านี้กลับไม่เป็นที่สนใจของวงการกฎหมายไทย เช่น การที่ญี่ปุ่นมีแผนจะปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะลงสู่ทะเล เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากไม่แพ้การระบาดของโควิด 19 เพราะการปล่อยน้ำทิ้งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะทะเลญี่ปุ่น รวมทั้งระบบนิเวศน์ทางทะเล และอาจเลยเถิดไปถึงสภาพอากาศของโลกด้วย กล่าวได้ว่าประเด็นข้างต้นกระทบต่อความปลอดภัยของทุกชีวิต รวมทั้งความมั่นคงของชาติด้วย 


แต่ประเด็นนี้ไม่มีการหยิบยกขึ้นถกแถลงกันในประเทศไทยเลย (ทั้งที่เรากินอาหารทะเลจากญี่ปุ่นมิใช่น้อยอาจจะเป็นเพราะไม่ได้ติดตามข่าวสารพวกนี้ หรือไม่ก็คงคิดว่าไกลเกินตัว รบกับโควิดก็วุ่นวายพอแล้ว


ช่วงนี้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และ work from anywhere น่าจะได้ประเด็นอะไรมาชวนคิดอีก.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น