เมื่อพูดถึงบริการภาครัฐ...สมัยก่อนใครๆ ต่างก็พร้อมใจกันเบ้ปากมองบน เพราะทั้งระยะเวลาให้บริการที่ยาวนานข้ามวัน เจ้าหน้าที่ทำหน้าโหดเหมือนโกรธใครมา บางครั้งไปครั้งเดียวไม่จบ ต้องหอบเอกสารไป ๆ กลับ ๆ อยู่อย่างนั้น
แต่เดี๋ยวนี้
ภาครัฐเองก็มีการปรับตัวเพื่อพัฒนางานบริการให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบันที่มีวิกฤติการณ์ต่าง ๆ
รอบตัวทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 รวมถึงภัยธรรมชาติ
ภัยที่เกิดจากมนุษย์ต่างดาหน้ากันเข้ามาให้เราต้องใช้วิทยายุทธและทักษะที่มีในการอยู่รอด
ภาครัฐจึงไม่สามารถยืดหยัดด้วยการทำงานแบบเดิมๆ
การทำงานเพื่อให้ทันต่อโลกที่ปรับเปลี่ยน
สิ่งรอบตัวจะต้องถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น
การให้บริการของภาครัฐจึงต้องเน้นให้ประชาชนเกิดความสะดวก รวดเร็ว
โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและการให้บริการประชาชน
อย่างที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า
พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 นั้น
มีเจตนารมณ์ที่จะปลดล็อกความไม่สะดวกนานัปการของบริการภาครัฐ
ซึ่งในความเป็นจริงนั้นการดำเนินการจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ส่วน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐเองจะต้องมีความตั้งใจและมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนางานบริการของตนให้ตอบโจทย์ตรงใจประชาชนหรือผู้รับบริการได้มากที่สุด
โดยตลอดระยะเวลาที่พระราชบัญญัติฯ
มีผลใช้บังคับ หน่วยงานภาครัฐได้มีการปรับปรุงบริการด้านต่าง ๆ
ที่สามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวคิด เร็วขึ้น (Faster) ง่ายขึ้น (Easier) และถูกลง (Cheaper) ได้แก่
การให้บริการรวดเร็วขึ้น
(Faster) ด้วยการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการจากระยะเวลาเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ
30 - 50 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ
ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการ Redesign process ลด ละ
เลิก ขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่จำเป็นออก
พร้อมทั้งปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนในแต่ละบริการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
การปรับบริการให้ง่ายขึ้น
(Easier)
และทันสมัย (Smarter)
ด้วยการพัฒนาระบบการให้บริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) โดยปัจจุบันมีบริการภาครัฐกว่า 325 งานบริการ
ที่เป็น e-Service แล้ว อีกทั้งได้พัฒนาระบบ Biz
Portal พอร์ทัลกลางเพื่อภาคธุรกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมในการขออนุมัติ
อนุญาตกับหน่วยงานภาครัฐผ่านช่องทางออนไลน์ได้ถึง 25
ประเภทธุรกิจ 78 ใบอนุญาต
ขณะที่ผู้รับบริการสามารถใช้พอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันรวมงานบริการที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการ
พร้อมเปิดให้บริการแล้วกว่า 10 บริการ ซึ่งปัจจุบันพบว่างานบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐได้รับการตอบรับจากประชาชนผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการจองคิวรับบริการ
ที่ทำให้ไม่ต้องไปนั่งแออัดเสี่ยงโควิดกันตามสถานที่รับบริการต่าง ๆ
ช่วยลดการเดินทาง ทำให้การติดต่อราชการสามารถทำได้ง่ายๆ แค่เพียงปลายนิ้วคลิก
การลดค่าใช้จ่ายของประชาชน (Cheaper) ได้มีการส่งเสริมให้ภาครัฐไม่เรียกสำเนาเอกสาร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน เพราะถือว่าภาครัฐจะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางหลังบ้านระหว่างกัน
รวมทั้งหากประชาชนต้องการเอกสารราชการที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น
เอกสารการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล
เอกสารใบสมรส ก็สามารถขอพรินต์ออกมาได้ง่าย ๆ ที่สำนักงานทะเบียนอำเภอ สำนักงานเขต
ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ในการช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ประชาชนจะต้องนำเอกสารไปแปล ซึ่งถ้าดูจากจำนวนเอกสารภายในหนึ่งปีที่ประชาชนต้องขอแปล
ประมาณ 100,000 ฉบับ ก็ถือว่าสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนไปได้อย่างน้อย
40 ล้านบาท
ต่อปีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า
การบริการของภาครัฐเองก็ยังมีหลายส่วนที่ยังต้องปรับปรุง
ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาการให้บริการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่มีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง
รวมทั้งปัญหาวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
พร้อมทั้งยังต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งประชาชนและภาคเอกชน
เพื่อพัฒนางานบริการ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
และส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
โดยหวังว่าในทุกๆ ครั้งที่ประชาชนมารับบริการจากภาครัฐ
จะได้ของแถมกลับไป...คือรอยยิ้ม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น