ปกรณ์ นิลประพันธ์
เมื่อเช้ามีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาพบผมเรื่องเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายในการเพิ่มและการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียนในเขตชุมชนเมืองที่ผมเคยร่วมทำวิจัยกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไว้เมื่อเกือบสิบปีก่อน ทำให้จำได้ว่าผมเคยเขียนบทความในเรื่องนี้ไว้และเผยแพร่ในเว็ปไซต์ www'lawreform.go.th ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อปี ๒๕๔๖ จึงถือโอกาสนำมาเผยแพร่ใน Blog นักร่างกฎหมายนี้อีกครั้งหนึ่งครับ
ต้นไม้นั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
เพราะนอกจากจะทำให้สภาพภูมิทัศน์สวยงามแล้ว ยังช่วยลดระดับเสียงและปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
กันลม กันการพังทลายของดิน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ
ซึ่งเพิ่มความสมดุลของระบบนิเวศน์
นอกจากนี้ ดอก ใบ เปลือก หรือรากของต้นไม้หลายชนิด เช่น สะเดา ขี้เหล็ก ฯลฯ
สามารถนำมาใช้ทำอาหารและยาได้อีกด้วย
ชาวไทยสมัยก่อนรับรู้และเข้าใจในความสำคัญของต้นไม้เป็นอย่างดี
แม้ในสมัยโบราณจะมีป่าไม้อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ประชาชนก็ยังนิยมปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ในบริเวณบ้านด้วยเสมอในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แม้พระองค์จะทรงพัฒนาประเทศขนานใหญ่เพื่อให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ (Modernisation)
มีการก่อสร้างอาคาร ถนน และทางรถไฟขึ้นมากมาย
แต่พระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของต้นไม้เป็นอย่างมาก โดยเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
ฯ ให้สร้างถนนสายใดขึ้นใหม่ ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานกรมสุขาภิบาลจัดต้นไม้มาปลูกตามริมถนนเหล่านั้นด้วย
เมื่อปรากฏว่ามีผู้มาเด็ดใบหักยอดต้นไม้เหล่านี้ทำให้ต้นไม้ตายบ้าง
ไม่เจริญเติบโตบ้าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ให้ประกาศห้ามมิให้ผู้ใดทำอันตรายแก่ต้นไม้เหล่านี้
ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดต้องโทษปรับไม่เกิน ๑๐ บาท ซึ่งนับว่าสูงมากในสมัยนั้น และต้องชดใช้ราคาต้นไม้นั้นด้วย[๑]
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นและพัฒนาการของชุมชนเมืองของไทยที่ผ่านมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังจากที่มีการจัดทำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
แผนที่ ๑ ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ทำให้เจ้าของที่ดินในเขตเมืองมุ่งเน้นการพัฒนาที่ดินของตนให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจสูงสุดโดยละเลยความสำคัญของต้นไม้และสภาพแวดล้อม นอกจากนี้
หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาที่ดินบางส่วนในเขตเมือง เป็นต้นว่า กรมธนารักษ์
กรมที่ดิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ให้ความสำคัญกับต้นไม้น้อยลง กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่กรุงเทพมหานครซึ่งมีพลเมืองกว่า
๕ ล้านคน แต่มีพื้นที่ไม้ยืนต้นและพื้นที่สวนสาธารณะรวมกันเพียงร้อยละ ๓.๕๔
ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น[๒] ขณะที่ชุมชนเมืองแห่งอื่น
ๆ ก็กำลังประสบปัญหาเดียวกัน ดังนั้น
คุณภาพชีวิตของมนุษย์และคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมืองของไทยจึงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนเมืองของต่างประเทศที่ทั้งภาครัฐและเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้และการรักษาสภาพแวดล้อม
ดังนั้น กรณีจึงมีความจำเป็นต้องหามาตรการต่าง
ๆ ที่เป็นการเพิ่มจำนวนต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนอย่างรวดเร็วและยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชุมเกี่ยวพันกับกฎหมายหลายกลุ่ม
ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลรักษาและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน กฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะยกกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลรักษาและการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นกรณีศึกษา
โดยจะศึกษาว่าที่ดินในเขตชุมชนแบ่งได้เป็นกี่ประเภท ผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท
และมาตรการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทนั้นเอื้อต่อการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนหรือไม่
อย่างไร
โดยทั่วไปที่ดินแบ่งออกได้เป็น
๓ ประเภทใหญ่ ๆ ประเภทที่หนึ่งคือ “ที่ดินของรัฐ” ซึ่งได้แก่
(๑) ที่ราชพัสดุ (๒) สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองและที่ดินที่มีผู้ทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน
(๓) สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน และ (๔)
ที่ดินของรัฐวิสาหกิจและที่ดินมหาวิทยาลัยซึ่งมิใช่ที่ราชพัสดุ ประเภทที่สองคือ “ที่ดินของเอกชน” และประเภทที่สามคือ
“ที่ดินประเภทพิเศษ” ซึ่งได้แก่
ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ และที่ศาสนสถาน ส่วนปัญหาว่าที่ดินในเขตชุมชนมีกี่ประเภทนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของชุมชนที่เป็นวัตถุในการศึกษา
หากเป็นชุมชนขนาดเล็กก็อาจตั้งอยู่บนที่ดินเพียงประเภทเดียว แต่หากจำแนกชุมชนโดยยึดถือเขตการปกครอง
เช่น เขตเทศบาล เขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น ชุมชนนั้นอาจประกอบด้วยที่ดินทั้งสามประเภท
ที่ดินแต่ละประเภทนั้นมีผู้ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ในที่ดินแตกต่างกันไป
โดยกรณีที่ดินของรัฐ ถ้าเป็นที่ราชพัสดุจะอยู่ในความดูแลของ “กรมธนารักษ์”
กระทรวงการคลัง ตามมาตรา ๕[๓]
แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองและที่ดินที่มีผู้ทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดินจะอยู่ในความดูแลของ
“อธิบดีกรมที่ดิน” ตามมาตรา
๘[๔]
แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หากเป็นที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน[๕] จะอยู่ในความดูแลของ
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
หรือ “นายอำเภอท้องที่” ตามมาตรา
๑๒๒[๖]
แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗
(กรณีที่ที่ดินนั้นอยู่นอกเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) สำหรับที่ดินของรัฐวิสาหกิจและที่ดินของมหาวิทยาลัยซึ่งมิใช่ที่ราชพัสดุนั้นจะอยู่ในความดูแลของรัฐวิสาหกิจและมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง
กรณีที่ดินของเอกชนนั้น
การดูแลรักษาและใช้ประโยชน์เป็นเสรีภาพของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดิน
แต่มีกฎหมายหลายฉบับที่จำกัดเสรีภาพบางประการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองในการใช้ที่ดิน
ส่วนที่ดินประเภทพิเศษที่เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์อยู่ในความดูแลของ
“สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ตามมาตรา
๕[๗] แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์
พุทธศักราช ๒๔๗๙ ส่วนที่ศาสนสถานจะมีผู้ดูแลต่างกัน
ขึ้นอยู่กับว่าที่ศาสนสถานนั้นเป็นของศาสนาใด ถ้าเป็นที่วัดในศาสนาพุทธจะอยู่ในความดูแลของ
“วัด”
ถ้าเป็นวัดร้างจะอยู่ในความดูแลของ “กรมการศาสนา” (สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)ตามมาตรา
๒๓ ทวิ[๘]
แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ส่วนมัสยิดของศาสนาอิสลามจะอยู่ในความดูแลของ “คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด” ตามมาตรา
๓๕[๙] แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม
พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่หากเป็นวัดโรมันคาธอลิกจะอยู่ในความดูแลของ “บาดหลวง” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิกในกรุงสยามตามกฎหมาย
ร.ศ. ๑๒๘
๑. ที่ราชพัสดุ
กรณีที่ราชพัสดุซึ่งได้แก่ที่ดินที่ใช้หรือสงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ของทางราชการ
เช่น สถานที่ราชการ ค่ายทหาร เป็นต้นนั้น มีจำนวนประมาณ ๘.๖๔ ล้านไร่[๑๐]
ที่ราชพัสดุนี้แบ่งได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ
ประเภทที่ทางราชการเข้าใช้ประโยชน์แล้ว และประเภทที่ทางราชการยังไม่ได้เข้าใช้ประโยชน์หรือเลิกใช้ประโยชน์แล้ว
ที่ราชพัสดุประเภทแรกจะอยู่ในความดูแลรักษาของส่วนราชการที่ขอเข้าใช้ประโยชน์
แต่ประเภทที่ทางราชการยังไม่ได้เข้าใช้ประโยชน์หรือเลิกใช้ประโยชน์แล้วจะอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์
สำหรับการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้น
มาตรา ๖[๑๑]
แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ ให้เป็นหน้าที่ของ “คณะกรรมการที่ราชพัสดุ” ในการกำหนดนโยบาย
และออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปกครองดูแล บำรุงรักษา
ใช้และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ แต่กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปกครองดูแล
บำรุงรักษา ใช้และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุกำหนดเพียงหลักเกณฑ์การขออนุญาตใช้และการเลิกใช้ที่ราชพัสดุของกระทรวง
ทบวง กรม เท่านั้น ไม่มีเงื่อนไขให้ส่วนราชการต้องกันพื้นที่เป็นที่ว่างหรือที่ปลูกต้นไม้ไว้โดยเฉพาะ
การเว้นที่ว่างเพื่อปลูกต้นไม้ ขุดบ่อน้ำหรือทำที่จอดรถยนต์ จึงต้องเป็นไปตาม
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และข้อบัญญัติท้องถิ่น
ส่วนกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้นเป็นหลักเกณฑ์
ในการนำที่ราชพัสดุออกให้เอกชนเช่าหากไม่ได้ใช้ที่นั้นเพื่อประโยชน์ของทางราชการหรือทางราชการเลิกใช้ที่นั้นแล้ว
ซึ่งเอกชนผู้เช่ามีสิทธิใช้ที่ดินนั้นได้หากไม่ขัดต่อข้อสัญญาและกฎหมายอื่นจำกัดเสรีภาพของเอกชนในการใช้ที่ดิน อย่างไรก็ดี นอกจากนำที่ราชพัสดุที่ส่วนราชการไม่ได้ใช้หรือเลิกใช้ออกให้เช่าแล้ว
กรมธนารักษ์ได้ใช้ที่ราชพัสดุบางแปลงไปทำเป็นสวนสาธารณะขึ้น เช่น
เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ย้ายกรมอุตุนิยมวิทยาจากเขตคลองเตยไปเขตบางนา
กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการก่อสร้าง “อุทยานเบญจสิริ” ขึ้น
ณ สถานที่ตั้งเดิมของกรมอุตุนิยมวิทยา (เนื้อที่ ๒๙ ไร่)
และต่อมาได้มอบให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล
ผู้เขียนเห็นว่ามาตรการตามกฎหมายที่ราชพัสดุเอื้อต่อการเพิ่มพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น
โดยสามารถเพิ่มจำนวนไม้ยืนต้นจำนวนมากได้ทันทีและสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
เนื่องจากหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ควบคุมดูแลการใช้ที่ราชพัสดุ
หากรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนให้มีการปลูกไม้ยืนต้นในที่ราชพัสดุไม่ว่าจะเป็นที่ที่ส่วนราชการเข้าใช้ประโยชน์แล้วหรือไม่
ก็จะทำให้มีจำนวนไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น
คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้ส่วนราชการที่ดูแลที่ราชพัสดุอยู่ในปัจจุบันหรือที่จะขอเข้าใช้ที่ราชพัสดุ
ต้องปลูกไม้ยืนต้นในที่ราชพัสดุแปลงนั้นไม่น้อยกว่าอัตราส่วนที่กำหนด
หรืออาจกำหนดให้ใช้ที่ราชพัสดุแปลงที่ส่วนราชการยังไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือเลิกใช้ประโยชน์แล้วมาจัดทำเป็นสวนสาธารณะเช่นกรณีอุทยานเบญจสิริ
หรือสร้างเป็นสวนพฤกษศาสตร์ (Botanic Garden) เป็นต้น
แม้การดำเนินการประการหลังจะทำให้รัฐมีรายได้จากที่ราชพัสดุลดลง
แต่ผู้เขียนเห็นว่าการสร้างสวนสาธารณะหรือสวนพฤกษศาสตร์ดังกล่าวเป็นการลงทุนทางสังคมที่คุ้มค่าในระยะยาว
๒.
สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองและที่ดินที่มีผู้ทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน
และสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน
สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งไม่มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองและที่ดินที่มีผู้ทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดินซึ่งอยู่ในความดูแลของอธิบดีกรมที่ดินตามมาตรา
๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ซึ่งอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
หรือนายอำเภอท้องที่ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่
พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ (กรณีที่ที่ดินนั้นอยู่นอกเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) นั้น กระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
พ.ศ. ๒๕๔๔ ขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดูแลรักษาที่ดินดังกล่าวไม่ให้ผู้ใดมารุกล้ำหรือเบียดบังไปใช้ประโยชน์เฉพาะตน
โดยระเบียบนี้ว่าด้วยการดำเนินคดี การขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง
การตรวจสอบแนวเขต และการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการบุกรุกหรือเข้าไปครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การจัดทำและจำหน่ายทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์
และวิธีการขอใช้และเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการถอนสภาพที่ดินเท่านั้น
แต่ไม่มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้หรือให้มีพื้นที่สีเขียวในที่ดิน
ผู้เขียนเห็นว่ากฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับสาธารณสมบัติของแผ่นดินทั้งสองประเภทดังกล่าวข้างต้นนั้นมิได้เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
โดยกฎหมายกำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแลรักษาที่ดิน
ส่วนระเบียบก็ว่าด้วยการป้องกันมิให้มีการบุกรุกที่ดินดังกล่าวเท่านั้น อย่างไรก็ดี
โดยที่ผู้ดูแลรักษาที่ดินทั้งสองประเภทดังกล่าวเป็นหน่วยงานของรัฐ
หากรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนให้หน่วยงานผู้ดูแลที่ดินดังกล่าวปลูกและบำรุงรักษาไม้ยืนต้นในที่ดินที่ตนดูแลเช่นเดียวกับที่ผู้เขียนเสนอไว้ในกรณีที่ราชพัสดุก็น่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนได้อีกมาก
๓.
ที่ดินของรัฐวิสาหกิจและที่ดินมหาวิทยาลัยซึ่งมิใช่ที่ราชพัสดุ
กฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจต่าง
ๆ
รวมทั้งกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและสภามหาวิทยาลัยที่จะกำหนดนโยบายการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐวิสาหกิจและที่ดินของมหาวิทยาลัยซึ่งมิใช่ที่ราชพัสดุเอง
ซึ่งรัฐวิสาหกิจและมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มักจะมุ่งบริหารทรัพย์สินของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจมากกว่าประโยชน์ทางสังคม
เช่น การนำที่ดินออกให้เช่าทำศูนย์การค้าหรือก่อสร้างอาคารพาณิชย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี
กรณีรัฐวิสาหกิจนั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของรัฐบาล
หากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งเพิ่มพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินของตน
รัฐวิสาหกิจก็ต้องปฏิบัติตาม
ซึ่งรัฐวิสาหกิจหลายแห่งก็ได้ใช้ที่ดินของตนเพื่อทำเป็นสวนสาธารณะ เช่น
การรถไฟแห่งประเทศไทยสร้าง “สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ฯ”
ในที่ดินของการรถไฟฯบริเวณถนนกำแพงเพชร เนื้อที่ ๒๐๐ ไร่
และมอบให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล หรือการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมอบที่ดินประมาณ
๕๒ ไร่ บริเวณเชิงสะพานพระราม ๙ ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี
ให้แก่กรุงเทพมหานครเพื่อสร้าง “สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ
๖ รอบ พระชนมพรรษา” เป็นต้น
๔. ที่ดินเอกชน
แม้การใช้ประโยชน์ในที่ดินของเอกชนจะเป็นเสรีภาพของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน
แต่มีกฎหมายหลายฉบับที่จำกัดเสรีภาพดังกล่าวของเอกชน โดยในส่วนที่เกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียวมีดังนี้
(๑) พระราชบัญญัติการผังเมือง
พ.ศ. ๒๕๑๘
กฎหมายนี้กำหนดให้มีการจัดทำผังเมืองและกำหนดประเภทการใช้ที่ดินขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์
๕ ประการ คือ (๑) เพื่อทำให้ชุมชนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย (๒) เพื่อสร้างหรือพัฒนาเมืองหรือส่วนของเมืองขึ้นใหม่หรือแทนเมืองหรือส่วนของเมืองที่ได้รับความเสียหายเพื่อให้มีหรือทำให้ดียิ่งขึ้นซึ่งสุขลักษณะ
ความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน
ความปลอดภัยของประชาชน และสวัสดิภาพของสังคม (๓) เพื่อส่งเสริมการเศรษฐกิจสังคม
และสภาพแวดล้อม (๔) เพื่อดำรงรักษาหรือบูรณะสถานที่และวัตถุที่มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปกรรม
สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี หรือ (๕) เพื่อบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
ภูมิประเทศที่งดงาม หรือมีคุณค่าในทางธรรมชาติ โดยผังเมืองนั้นต้องแสดงวัตถุประสงค์ในการทำผัง
การใช้ประโยชน์ในที่ดินในเขตผังเมือง ที่โล่ง ระบบโทรคมนาคม และระบบสาธารณูปโภค ในเขตที่ได้มีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมและกำหนดประเภทการใช้ที่ดินแล้ว
บุคคลใดจะใช้ประโยชน์ที่ดิน ผิดไปจากที่กำหนดไว้ในผังเมืองหรือปฏิบัติการใด ๆ ซึ่งขัดกับข้อกำหนดของผังเมืองไม่ได้[๑๒] ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน
หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้เขียนเห็นว่าการจัดทำผังเมืองตามกฎหมายผังเมืองนี้เป็นมาตรการที่เอื้อต่อการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชน
และปัญหาในการจัดทำผังเมืองที่ผ่านมามิได้อยู่ที่กระบวนการหรือรายละเอียดของกฎหมาย
แต่อยู่ที่ว่า ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำผังเมืองจะกำหนดประเภทการใช้ที่ดินในบริเวณชุมชนต่าง
ๆ ให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร
(๒) พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ. ๒๕๒๒
พระราชบัญญัตินี้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมการก่อสร้างอาคาร
โดยมาตรา ๘ (๗)[๑๓]
ให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารในการออกกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียดในเรื่องต่าง
ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร เช่น รูปแบบและลักษณะของอาคาร การรับน้ำหนัก
ความต้านทานและความคงทนของอาคาร ระบบต่าง ๆ รวมทั้งการใช้พื้นที่เป็นที่ก่อสร้างอาคาร
ที่จอดรถ และ “ที่ว่าง” ภายนอกอาคารซึ่งต้องไม่มีหลังคาปกคลุม
ซึ่งที่ว่างนี้จะใช้เป็นที่ปลูกต้นไม้ บ่อน้ำ หรือที่จอดรถก็ได้ โดยมีการออกกฎกระทรวงกำหนดให้อาคารประเภทต่าง
ๆ ต้องมีที่ว่างตามอัตราส่วนที่กำหนด นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจตามมาตรา
๙[๑๔]
แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้อาคารแต่ละประเภทต้องมีที่ว่างตามอัตราส่วนที่กำหนดด้วย
เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นต้น
ผู้เขียนเห็นว่าการกำหนดให้มีที่ว่างภายนอกอาคารนี้เอื้อต่อการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่อยู่อาศัยมากพอสมควร
อย่างไรก็ดี โดยที่กฎกระทรวงและข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ว่างอย่างกว้าง
ๆ ว่าจะใช้เป็นที่ปลูกต้นไม้ ขุดบ่อน้ำ หรือทำเป็นที่จอดรถก็ได้
เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินจึงมีทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากที่ว่างดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องใช้ที่ว่างในการปลูกไม้ยืนต้น
ดังนั้น หากประสงค์จะให้มีการปลูกไม้ยืนต้นในบริเวณที่ว่าง
ก็จำต้องปรับเปลี่ยนมาตรการทางเลือกดังกล่าวเป็น “มาตรการบังคับ” โดยกำหนดให้ต้องใช้ที่โล่งนี้เป็นที่ปลูกไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าอัตราส่วนที่กำหนด
และจะใช้ขุดบ่อน้ำหรือทำเป็นที่จอดรถได้ไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนด
มีข้อสังเกตว่า อุปสรรคในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารส่วนใหญ่มิได้เกิดขึ้นจากกฎหมาย
แต่เกิดจากปัญหาอื่น เช่นกรณีที่ว่างนั้นมักปรากฏว่าในระหว่างการก่อสร้างอาคารจะมีการเว้นที่ว่างไว้อย่างถูกต้องเนื่องจากจะมีเจ้าพนักงานท้องถิ่นไปคอยตรวจตรา
แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จและเข้าใช้ประโยชน์ในอาคารไประยะหนึ่งแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะไม่ค่อยไปตรวจตราเนื่องจากอัตรากำลังไม่เพียงพอ
ทำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารจำนวนมากมักจะต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ว่างให้ผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย
(๓) พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน
พ.ศ. ๒๕๔๓
พระราชบัญญัตินี้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรที่ดิน
โดยให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางเป็นผู้กำหนดนโยบายและวางระเบียบเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเพื่อให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครและคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการออกข้อกำหนดและอนุญาตให้มีการจัดสรรที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครหรือในเขตจังหวัดแล้วแต่กรณี ในการนี้
คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางได้ออกประกาศกำหนด “นโยบายในการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและพาณิชยกรรม” ขึ้น
โดยในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวนั้น
คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนดว่าผู้จัดสรรที่ดินต้องกันพื้นที่ไว้เพื่อจัดทำสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะด้วย
โดยต้องมีพื้นที่สวน สนามเด็กเล่น และหรือสนามกีฬาไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕
ของพื้นที่จัดจำหน่าย และถ้าเป็นการจัดสรรที่ดินขนาดใหญ่กว่า ๑๐๐ ไร่ ขึ้นไปต้องกันที่ไว้ไม่น้อยกว่า
๒๐๐ ตารางวา เพื่อไว้ตั้งโรงเรียนอนุบาล ๑ แห่ง ถ้ากันที่ไว้แล้วแต่ตั้งโรงเรียนอนุบาลไม่ได้
จะนำที่นั้นไปทำเป็นสวน สนามเด็กเล่น หรือสนามกีฬาก็ได้ ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดินหรือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรต้องเป็นผู้ดูแลที่ดินที่เป็นสาธารณูปโภคดังกล่าวและจะนำที่ดินนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผู้อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรเสื่อมความสะดวกในการใช้มิได้
มาตรการตามกฎหมายนี้แม้จะเอื้อต่อการให้มีพื้นที่สีเขียวในที่ดินจัดสรร
แต่ผู้เขียนเห็นว่าการกันพื้นที่เพื่อจัดทำสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะนี้ทำให้ผู้จัดสรรที่ดินมีทางเลือกในการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่กันไว้เช่นเดียวกับการกำหนดให้มีที่ว่างตามกฎหมายควบคุมอาคารซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารอาจเลือกที่จะไม่ปลูกต้นไม้บนที่ว่างนั้นก็ได้
หากประสงค์ให้มีพื้นที่สีเขียวในที่ดินจัดสรรอย่างแท้จริง ผู้เขียนเห็นว่าอาจต้องเปลี่ยนมาตรการทางเลือกนี้ให้เป็นมาตรการบังคับซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย
เพียงแต่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางปรับปรุงนโยบายในการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและพาณิชยกรรมให้ชัดเจนว่า
ผู้จัดสรรที่ดินต้องกันพื้นที่เป็นพื้นที่สวนเพื่อปลูกไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าร้อยละเท่าใด
ขณะเดียวกันที่ดินจัดสรรนั้นต้องมีสนามเด็กเล่นและสนามกีฬาตามอัตราส่วนที่กำหนดด้วย
(๔) พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๑๑
กฎหมายนี้รอนสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเอกชนโดยมาตรา
๒๙[๑๕]
แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ในการประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยในการส่งกระแสไฟฟ้า
หากเขตปลอดภัยฯนี้ผ่านที่ดินแปลงใด
เจ้าของที่ดินจะถูกรอนสิทธิในการใช้ที่ดินโดยจะสร้างโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง
ต้นไม้หรือพืชผลในเขตปลอดภัยไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กฟผ.
และตามเงื่อนไขที่ กฟผ.กำหนด แต่จะได้ค่าชดเชยจากการถูกรอนสิทธิ หากฝ่าฝืน
กฟผ.มีอำนาจรื้อถอน ทำลายหรือตัดฟันโดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน นอกจากนี้ มาตรา ๓๓[๑๖] ให้อำนาจ
กฟผ.ทำลายหรือตัดฟันต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้ที่อยู่ใกล้ระบบไฟฟ้า
แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้ทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร
และหากต้นไม้นั้นมีอยู่ก่อนการสร้างระบบไฟฟ้า กฟผ. ต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้เท่าที่ต้องเสียหายเพราะการกระทำนั้นด้วย
(๕) พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง
พ.ศ.๒๕๐๑
มาตรา ๓๕[๑๗]
แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในการเดินสายส่งหรือปักเสาไฟฟ้าผ่านที่ดินของบุคคลใด
ๆ ได้แต่ต้องจ่ายค่าทดแทน และมาตรา ๓๖[๑๘] ให้อำนาจ
กฟน.ทำลายหรือตัดฟันต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้ ที่อยู่ใกล้ระบบไฟฟ้า
แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้ทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร
และหากต้นไม้นั้นมีอยู่ก่อนการสร้างระบบไฟฟ้า กฟน. ต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้เท่าที่ต้องเสียหายเพราะการกระทำนั้นด้วย
(๖) พระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
พ.ศ. ๒๕๐๓
มาตรา ๓๖[๑๙]
แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการเดินสายส่งหรือปักเสาไฟฟ้าผ่านที่ดินของบุคคลใด
ๆ ได้แต่ต้องจ่ายค่าทดแทน และมาตรา ๓๗[๒๐] ให้อำนาจ
กฟภ.ทำลายหรือตัดฟันต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้ ที่อยู่ใกล้ระบบไฟฟ้า
แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้ทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร
และหากต้นไม้นั้นมีอยู่ก่อนการสร้างระบบไฟฟ้า กฟภ. ต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้เท่าที่ต้องเสียหายเพราะการกระทำนั้นด้วย
(๗) พระราชบัญญัติทางหลวง
พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา ๖๒[๒๑] แห่งพระราชบัญญัติทางหลวงฯบัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินติดเขตทางหลวงต้องรักษาต้นไม้ในความครอบครองของตนไม่ให้กีดขวางทางจราจรหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวง
หากผู้อำนวยการทางหลวงหรือเจ้าพนักงานที่ได้รับมอบหมายแจ้งให้เจ้าของหรืผู้ครอบครองที่ดินนั้นทราบแล้วไม่แก้ไข
ผู้อำนวยการทางหลวงหรือเจ้าพนักงานที่ได้รับมอบหมายสามารถตัดฟันต้นไม้นั้นได้โดยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย
(๘) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ
พุทธศักราช ๒๔๙๗
มาตรา ๕๘[๒๒]
แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้พื้นที่บริเวณใกล้เคียงสนามบินเป็น
“เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ”
ซึ่งเจ้าของที่ดินภายในเขตปลอดภัยนี้ จะก่อสร้างหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง
หรือปลูกไม้ยืนต้นไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕๙[๒๓]
หากมีผู้ฝ่าฝืน พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามมาตรา ๖๐[๒๔]
ที่จะรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือตัดโค่นต้นไม้นั้นได้
(๙) พระราชบัญญัติการประปานครหลวง
พ.ศ. ๒๕๑๐
กฎหมายนี้ให้อำนาจแก่การประปานครหลวงในการเดินท่อส่งน้ำเข้าไปหรือผ่านที่ดินของบุคคลใด
ๆ โดยต้องจ่ายค่าทดแทนการใช้ที่ดินและค่าทดแทนในการตัดฟันต้นไม้ในบริเวณดังกล่าวด้วย
และห้ามผู้ใดปลูกสร้างโรงเรือนหรือต้นไม้ในบริเวณดังกล่าวด้วย[๒๕]
พระราชบัญญัติ ๖
ฉบับหลังนี้เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยของระบบส่งกระแสไฟฟ้าและระบบประปาอันเป็นบริการสาธารณะ
รวมทั้งการให้ความปลอดภัยแก่การสัญจรทางบกและทางอากาศ
จึงมีความจำเป็นต้องจำกัดสิทธิในการใช้ที่ดินของเอกชนบางส่วน
ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเขตปลอดภัยและพื้นที่ให้บริการสาธารณะเหล่านี้ไม่เหมาะกับการปลูกไม้ยืนต้นเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ระบบต่าง
ๆ ดังกล่าวได้ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมากและในวงกว้าง
๕. ที่ดินประเภทพิเศษ
(๑) ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์
ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์สนับสนุนให้มีการใช้ที่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนโดยการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่าที่ดินไปใช้ทำสวนสาธารณะหลายแห่ง
เช่น ให้กรุงเทพมหานครเช่าที่ดินบริเวณบางมดเนื้อที่
๖๓ ไร่เศษ เพื่อสร้างเป็นสวนธนบุรีรมย์ ให้เช่าที่ดินใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
เนื้อที่ ๒๐ ไร่เศษ เพื่อสร้างสวนสันติภาพ เป็นต้น
(๒) ที่ศาสนสถาน
กฎหมายต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับศาสนสถานมิได้วางข้อกำหนดในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ใน ที่ของศาสนสถานไว้โดยเฉพาะเนื่องจากเป็นเรื่องของศาสนจักรที่ต้องบริหารจัดการเอง
เพียงแต่กำหนดชัดเจนว่าผู้ใดมีหน้าที่ดูแลรักษาศาสนสถานของแต่ละศาสนาเท่านั้น
การดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ที่ดินของศาสนสถานต่าง ๆ จึงเป็นไปตามนโยบายของผู้ดูแลศาสนสถานแต่ละแห่ง
ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าในแต่ละชุมชนจะมีศาสนสถานเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดในศาสนาพุทธ
อีกทั้งที่ดินของศาสนสถานต่างๆ ก็มีจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้น
หากศาสนสถานแต่ละแห่งเห็นความสำคัญกับต้นไม้และหันมาปลูกต้นไม้แทนการก่อสร้างถาวรวัตถุหรือการนำที่ดินของศาสนสถานออกหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ก็จะสามารถเพิ่มต้นไม้ในชุมชนได้จำนวนมาก
โดยสรุป ผู้เขียนเห็นว่ากฎหมายระดับพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นเอื้อต่อการเพิ่มพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นในชุมชนแล้ว
แต่รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนเพื่อให้หน่วยงานต่าง
ๆ รับไปปฏิบัติ ทั้งยังต้องมีแผนงานและดัชนีชี้วัดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มจำนวนไม้ยืนต้นในที่ดินที่รัฐดูแลได้จำนวนมาก
ส่วนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ดินเอกชนนั้นสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการจัดทำผังเมืองให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ
และอาจต้องปรับปรุงกฎกระทรวงที่ว่างตามกฎหมายควบคุมอาคาร
ข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับที่ว่าง
และนโยบายในการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและพาณิชยกรรมของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง
โดยนำระบบบังคับมาใช้แทนระบบเดิมที่มีอยู่เพื่อให้มีการปลูกไม้ยืนต้นในที่ว่างและที่จัดสรรอย่างแท้จริง
สำหรับที่ดินประเภทพิเศษ คงต้องขอความร่วมมือจากผู้ดูแลรักษาเป็นสำคัญ.
*บทความนี้เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียน แม้ผู้เขียนจะทำงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่หน่วยงานต้นสังกัดของผู้เขียนไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย และไม่ถือเป็นความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา*
[๑]ประกาศห้ามไม่ให้ทำอันตรายต้นไม้ริมถนนหลวง,
๒๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๒)
[๒]รายงานฉบับสมบูรณ์
แผนแม่บทพื้นที่สีเขียวกรุงเทพมหานคร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๕.
บรรดาที่ราชพัสดุที่กระทรวง ทบวง
กรมใดได้มาโดยการเวนคืนหรือการแลกเปลี่ยนหรือโดยประการอื่น ให้กระทรวงการคลังเข้าถือกรรมสิทธิ์ในที่ราชพัสดุนั้น
ทั้งนี้ยกเว้นที่ดินที่ได้มาโดยการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
[๔]มาตรา ๘
บรรดาที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น
ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้อธิบดีมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษา
และดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณี อำนาจหน้าที่ดังว่านี้
รัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้
ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ
หรือเป็นที่ดินที่ได้หวงห้ามหรือสงวนไว้ตามความต้องการของทบวงการเมือง
อาจถูกถอนสภาพหรือโอนไปเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นหรือนำไปจัดเพื่อประชาชนได้
ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑)
ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ถ้าทบวงการเมือง รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนจัดหาที่ดินมาให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทนแล้ว
การถอนสภาพหรือโอนให้กระทำโดยพระราชบัญญัติแต่ถ้าพลเมืองได้เลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น
หรือที่ดินนั้นได้เปลี่ยนสภาพไปจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
และมิได้ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใดตามอำนาจกฎหมายอื่นแล้ว การถอนสภาพให้กระทำโดย พระราชกฤษฎีกา
(๒)
ที่ดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ
หรือที่ดินที่ได้หวงห้ามหรือสงวนไว้ตามความต้องการของทบวงการเมืองใด
ถ้าทบวงการเมืองนั้นเลิกใช้
หรือไม่ต้องการหวงห้ามหรือสงวนต่อไปเมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพแล้ว
คณะรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ใช้หรือจัดหาประโยชน์ก็ได้
แต่ถ้าจะโอนต่อไปยังเอกชน ให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ และถ้าจะนำไปจัดเพื่อประชาชนตามประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
การตราพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองให้มีแผนที่แสดงเขตที่ดินแนบท้ายพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกานั้นด้วย
[๕]เป็นต้นว่าที่ชายตลิ่ง
ทางบก ทางน้ำ สวนสาธารณะ ที่เลี้ยงสัตว์ และที่สาธารณะประจำตำบลและหมู่บ้าน
[๖]มาตรา
๑๒๒ ที่อันเป็นสาธารณประโยชน์ คือ
ที่เลี้ยงปศุสัตว์ที่จัดไว้สำหรับราษฎรไปรวมเลี้ยงด้วยกัน เป็นต้น
ตลอดจนถนนหนทางและที่อย่างอื่นซึ่งเป็นของกลางให้ราษฎรใช้ได้ด้วยกัน
เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอจะต้องคอยตรวจตรารักษาอย่าให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว
[๗]มาตรา
๕
ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บรรดาที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค
ให้อยู่ในความดูแลรักษาของสำนักพระราชวัง
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นอกจากที่กล่าวในวรรคก่อน ให้อยู่ในความดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้น
การดูแลรักษาและการจัดหาผลประโยชน์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
[๘]มาตรา ๓๒ ทวิ วัดใดเป็นวัดร้างที่ไม่มีพระภิกษุอยู่อาศัย
ในระหว่างที่ยังไม่มีการยุบเลิกวัด ให้กรมการศาสนามีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาวัดนั้น
รวมทั้งที่วัด ที่ธรณีสงฆ์และทรัพย์สินของวัดนั้นด้วย
การยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
(๑)
บำรุงรักษามัสยิดและทรัพย์สินของมัสยิดให้เรียบร้อย
(๒)
วางระเบียบปฏิบัติภายในของมัสยิดเพื่อให้การดำเนินงานของมัสยิดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
[๑๑]มาตรา ๖
ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการที่ราชพัสดุ” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน
ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมที่ดิน
ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองเป็นกรรมการ อธิบดีกรมธนารักษ์เป็นกรรมการและเลขานุการ
และผู้อำนวยการกองรักษา ที่หลวง กรมธนารักษ์เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย
หลักเกณฑ์และวิธีการในการปกครองดูแลบำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์
เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ
หลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ให้ตราเป็นกฎกระทรวง
[๑๒]มาตรา
๒๗ ในเขตที่ได้มีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมแล้ว
ห้ามบุคคลใดใช้ประโยชน์ที่ดินผิดไปจากที่ได้กำหนดไว้ในผังเมืองรวม
หรือปฏิบัติการใด ๆ ซึ่งขัดกับข้อกำหนดของผังเมืองรวมนั้น
ฯลฯ ฯลฯ
[๑๓]มาตรา ๘
เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข
การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม
และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร ตลอดจนการอื่นที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนด
ฯลฯ ฯลฯ
(๗) ลักษณะ ระดับ ความสูง เนื้อที่ของที่ว่างภายนอกอาคาร
หรือแนวอาคาร
ฯลฯ ฯลฯ
[๑๔]มาตรา ๙
ในกรณีที่ได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดเรื่องใดตามมาตรา ๘ แล้วให้ราชการส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงนั้น
เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา ๑๐
ในกรณีที่ยังมิได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดเรื่องใดตามมาตรา ๘
ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดเรื่องนั้นได้
ฯลฯ ฯลฯ
(๑) เดินสายส่งไฟฟ้าหรือสายจำหน่ายไฟฟ้าไปใต้ เหนือ
ตามหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ปักหรือตั้งเสา สถานีไฟฟ้าย่อยหรืออุปกรณ์อื่น
ลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใดซึ่งมิใช่เป็นที่ตั้งโรงเรือน
(๒) ประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าเพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยในการส่งพลังงานไฟฟ้า
โดยประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่
และจัดทำเครื่องหมายแสดงไว้ในที่ที่ประกาศกำหนดเขตนั้นตามสมควร
(๓) รื้อถอนโรงเรือนหรือทำลายสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้น หรือ ทำลาย
หรือตัดฟันตัดต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้หรือพืชผลในเขตเดินสายไฟฟ้า
ก่อนที่จะดำเนินการตาม (๑) หรือ (๓) ให้ กฟผ.
แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทราบ
เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้น
ไปยังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
[๑๖]มาตรา
๓๓ เพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยให้ กฟผ.
มีอำนาจทำลายหรือตัดฟันตัดต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้ ที่อยู่ใกล้ระบบไฟฟ้า
แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้ทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร
ในกรณีที่ต้นไม้นั้นมีอยู่ก่อนการสร้างระบบไฟฟ้า ให้ กฟผ.
จ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้เท่าที่ต้องเสียหายเพราะการกระทำนั้น
[๑๗]มาตรา ๓๕
ให้การไฟฟ้านครหลวงมีอำนาจเดินสายส่งศักย์สูงย่อยหรือสายส่งศักย์ต่ำไปใต้ เหนือ
ตามหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ๆ หรือปัก หรือตั้งเสา สับสเตชั่นหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ
ลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใด ๆ
ในเมื่อพื้นดินนั้นไม่ใช่พื้นดินอันเป็นที่ตั้งโรงเรือน
ในกรณีที่ต้องใช้ที่ดินตอนใดตอนหนึ่ง
เพื่อกระทำการดังกล่าวในวรรคก่อน ให้การไฟฟ้านครหลวงจ่ายค่าตอบแทนในการใช้ที่ดินนั้นแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยจำนวนเงินอันเป็นธรรม
เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ได้รับประโยชน์คุ้มค่าในการกระทำนั้นอยู่ด้วย
ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าวข้างต้น
ให้การไฟฟ้านครหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทราบ
เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้นไปยังคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
[๑๘]มาตรา ๓๖
เพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยในการส่งพลังงานไฟฟ้าให้การไฟฟ้านครหลวงมีอำนาจตัดต้น
กิ่ง หรือรากของต้นไม้ซึ่งอยู่ใกล้สายส่งศักย์สูงย่อยหรือสายส่งศักย์ต่ำ เสา
สับสเตชั่นหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ
ได้แต่ต้องแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้ได้ทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร
ในกรณีที่ต้นไม้นั้นมีอยู่ก่อนเวลาเดินสายส่งศักย์สูงย่อยหรือสายส่งศักย์ต่ำ
หรือปัก ตั้งเสาสับสเตชั่น หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ
ให้การไฟฟ้านครหลวงใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในต้นไม้เท่าที่ต้องเสียหายเพราะการกระทำนั้น
[๑๙]มาตรา ๓๖ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีอำนาจเดินสายส่งศักย์สูงหรือสายส่งศักย์ต่ำไปใต้
เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ๆ หรือปัก หรือตั้งเสาสถานีไฟฟ้า
หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใด ๆ
ในเมื่อพื้นดินนั้นไม่ใช่พื้นดินอันเป็นที่ตั้งโรงเรือน
ในกรณีที่ต้องใช้ที่ดินตอนใดตอนหนึ่งเพื่อกระทำการดังกล่าวในวรรคหนึ่ง
ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจ่ายเงินค่าทดแทนในการใช้ที่ดินแก่เจ้าของ
หรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นโดยจำนวนเงินค่าทดแทนอันเป็นธรรม
เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นเป็นผู้ได้รับประโยชน์คุ้มค่าในการกระทำนั้นและให้ความยินยอมด้วย
ก่อนที่จะดำเนินการตามวรรคหนึ่ง
ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิที่เกี่ยวข้องทราบภายในเวลาอันสมควร
เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นนั้นอาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้นไปยังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
[๒๐]มาตรา ๓๗
เพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยในการส่งพลังงานไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีอำนาจตัดต้น
กิ่ง หรือรากของต้นไม้ซึ่งอยู่ใกล้
สายส่งศักย์สูงหรือสายส่งศักย์ต่ำ เสา สถานีไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้
แต่ต้องแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้ได้ทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร
ในกรณีที่ต้นไม้นั้นมีอยู่ก่อนเวลาเดินสายส่งศักย์สูงหรือสายส่งศักย์ต่ำหรือปักหรือตั้งเสา
สถานีไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ
ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้เงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในต้นไม้เท่าที่ต้องเสียหายเพราะการกระทำนั้น
[๒๑]มาตรา
๖๒
เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ริมทางหลวงต้องรักษาต้นไม้ เหมือง
ฝาย หรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่อยู่ในความครอบครองของตนไม่ให้กีดขวางทางจราจรหรือเกิดความเสียหายแก่ทางหลวง ทั้งนี้
ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือเจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นจัดการแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวภายในกำหนดเวลาอันสมควร
ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับแจ้งแล้วไม่ปฏิบัติตาม
ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือเจ้าพนักงานซึ่งผู้อำนวยการทางหลวงแต่งตั้งให้ควบคุมทางหลวงมีอำนาจเข้ารื้อถอน
ทำลาย หรือตัดฟัน โดยผู้นั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น
[๒๒]มาตรา
๕๘
ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตบริเวณใกล้เคียงสนามบิน
หรือสถานที่ตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศเป็นเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ
[๒๓]มาตรา
๕๙ ภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศตามมาตรา
๕๘ ห้ามมิให้บุคคลใดก่อสร้างหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น
หรือปลูกต้นไม้ยืนต้น
เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ในการให้อนุญาตตามมาตรานี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดๆ
ตามที่เห็นสมควรก็ได้
[๒๔]มาตรา
๖๐ ถ้าปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนต่อมาตรา ๕๙
วรรคหนึ่ง หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขตามมาตรา ๕๙ วรรคสอง
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ฝ่าฝืนจัดการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง
หรือตัด หรือย้ายต้นไม้นั้นภายในเวลาที่กำหนด
[๒๕]มาตรา
๓๘ ในการส่งและการจำหน่ายน้ำ
ให้การประปานครหลวงมีอำนาจเดินท่อน้ำและติดตั้งอุปกรณ์ไป ใต้ เหนือ
ตามหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ๆ
ในเมื่อพื้นดินนั้นไม่ใช่พื้นดินอันเป็นที่ตั้งโรงเรือน
ให้การประปานครหลวงมีอำนาจกำหนดบริเวณที่ดินที่เดินท่อน้ำและติดตั้งอุปกรณ์
โดยมีความกว้างจากท่อน้ำด้านละไม่เกินสองเมตรห้าสิบเซนติเมตร สำหรับท่อน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่แปดสิบเซนติเมตรขึ้นไป
ในบริเวณที่กำหนดนี้ให้การประปานครหลวงมีอำนาจตัดฟันต้น กิ่งหรือรากของต้นไม้หรือพืชผลอย่างใด ๆ ได้
โดยต้องจ่ายค่าทดแทนในการที่ใช้ที่ดิน และในการตัดฟัน แล้วแต่กรณี
ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองด้วยจำนวนเงินอันเป็นธรรม เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ได้รับประโยชน์คุ้มค่าในการกระทำนั้นอยู่ด้วย
ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในจำนวนเงินค่าทดแทน ให้นำมาตรา ๓๖ วรรคสอง
มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อได้มีการชดใช้ค่าทดแทนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวแล้วหรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองเต็มใจไม่รับหรือไม่มีสิทธิรับค่าทดแทน
ต่อไปในภายหน้าผู้ใดจะมาเรียกร้องค่าทดแทนอีกมิได้
ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าวข้างต้น
ให้การประปานครหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทราบ
เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอาจยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้นไปยังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
มาตรา ๓๙ ในบริเวณที่กำหนดตามมาตรา
๓๘ ให้การประปานครหลวงจัดทำเครื่องหมายแสดงเขตไว้ และห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือปลูกต้นไม้ขึ้น
เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากการประปานครหลวงเป็นหนังสือ
ในการอนุญาตนั้นจะอนุญาตโดยมีเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือต้นไม้ที่ปลูกขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการประปานครหลวง
การประปานครหลวงมีอำนาจรื้อถอนหรือตัดฟันโดยไม่จำต้องชดใช้ค่าทดแทน
ขอบคุณมาก สำหรับ บทความดีๆ และ มีประโยชน์ กับส่วนรวม
ตอบลบถ้าเราสามารถ นำความเห็น เหล่านี้ ไป ปฎิบัติ ทำให้ เกิด ผล ได้ จริง ประเทศไทยของเรา คงจะมี พื้นที่สีเขียวและ ต้นไม้ใหญ่ มากกว่า ในปัจจุบัน นี้ อย่างแน่นอน