นางสมาพร นิลประพันธ์
ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสวัสดิการสังคม
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ในยุคแห่งการปฏิรูปนี้
ผู้เขียนพบว่ามีการกล่าวถึงคำว่า Social Enterprise กันอยู่เป็นระยะ
ซึ่งหากแปลคำว่า Social Enterprise เป็นภาษาไทยแบบตรง ๆ
ตามพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยที่มีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด ก็ออกจะชวนงงอยู่ไม่น้อย เพราะจะแปลได้ว่าธุรกิจหรือกิจการสังคม
ผู้เขียนเองเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในห้วงแห่งความพิศวงสงสัยในเรื่องดังกล่าว
เพราะเข้าใจมาโดยตลอดว่าการดำเนินธุรกิจนั้น ผู้ประกอบธุรกิจเขาก็มุ่งที่จะแสวงหากำไรเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
ขณะที่ผู้ประกอบกิจกรรมทางสังคมนั้นเขาก็มุ่งไปในทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคม
เรียกว่าทางใครทางมัน จะมีบ้างที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดกิจกรรมเพื่อสังคมที่เรียกว่า Corporate Social Responsibility หรือ CSR
แต่เขาก็ยังประกอบธุรกิจเพื่อมุ่งหากำไรสูงสุดเหมือนเดิม
เพียงแต่แบ่งรายได้หรือกำไรบางส่วนมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมบ้างเท่านั้น เมื่อ CSR
มีผลดีในตัวเองอยู่บ้าง หลายประเทศจึงส่งเสริมให้มีการทำ CSR
กันให้มากไว้ โดยมีแรงจูงใจสำคัญคือการให้ผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายที่ใช้ในกิจกรรม
CSR มาลดหย่อนภาษีได้ด้วย
ซึ่งย่อมทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรมากขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจจึงนิยมทำ CSR กันมาก แต่ก็เพื่อกระเป๋าของตัวเอง แถมพักหลัง ๆ นี้ CSR กลายเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์กิจการด้วยซ้ำไปว่ากิจการของฉันรักษ์โลก
รักษ์สังคม เหมือนน้องเนย รักโลก อะไรประมาณนั้น แต่สิ่งที่กิจกรรม CSR ไม่มีก็คือความต่อเนื่อง และเมื่อไม่ต่อเนื่อง การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
ก็ขาดความยั่งยืน ลงท้ายก็กลับไปเหมือนเดิม แต่ผู้ประกอบธุรกิจได้กำไรไปแล้ว
แล้วเจ้า Social Enterprise นี้คืออะไร?
จากการศึกษาเรื่องนี้ลึกลงไปจากข้อเขียนและตำราต่าง
ๆ (นอกจากใน Wikipedia ที่ปัจจุบันมีผู้อ้างเป็น
Reference ในเอกสารวิชาการกันแล้ว) ผู้เขียนพบว่าแนวคิดเรื่อง
Social Enterprise เป็นการดำเนินธุรกิจที่มุ่งให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมในด้านต่าง
ๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เช่น เพื่อให้คนในชุมชนดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนบ้าง
เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงในชุมชนอันเกิดจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
สังคม สิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพื่อสร้างงานหรือลดช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำในสังคมบ้าง
เป็นต้น จะเรียกว่าเป็นการประกอบธุรกิจเพื่อนำรายได้มาหมุนเวียนใช้เพื่อสร้างความวัฒนาผาสุกในชุมชนหรือสังคมก็ได้
เมื่อหลักการของ Social Enterprise มีความหลากหลายเช่นนี้
ตำรับตำราต่าง ๆ จึงให้นิยาม Social Enterprise แตกต่างกันไป
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนสังเกตว่า Social
Enterprise ตามตำราต่าง ๆ นั้นมีลักษณะร่วมกันสี่ประการด้วยกัน
ประการที่หนึ่ง
เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ
สังคม วัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อมของชุมชนหรือสังคมโดยรวมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำกันแบบฉาบฉวยเหมือน
CSR
ประการที่สอง องค์กรนั้นทำการค้า (Trade) เพื่อแสวงหารายได้หรือกำไร
แต่มิได้มุ่งที่จะนำรายได้หรือกำไรนั้นมาแบ่งปันกันในระหว่างสมาชิกหรือผู้ถือหุ้น
แต่เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่กล่าวแล้ว
ประการที่สาม รายได้หลัก (substantial income) ขององค์กรนั้นได้มาจากการทำการค้า
ประการที่สี่ องค์กรนั้นนำกำไรหรือรายได้ส่วนเกิน
(profit or surplus) ส่วนใหญ่มาลงทุนอย่างต่อเนื่อง
(reinvest) ในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะหรือที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน
สำหรับวัตถุประสงค์หลักของ Social Enterprise นั้น ได้แก่ การสร้างงาน (Employment)
หรือการประกอบกิจการที่สร้างงานสร้างรายได้ในชุมชนโดยใช้คนในชุมชน
และมีการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนผ่านการศึกษาฝึกอบรมให้มีทักษะ ฝีมือ
หรือความคิดสร้างสรรค์ การให้บริการแก่ชุมชน (Service Delivery) หรือการประกอบธุรกิจที่ก่อให้เกิดหรือรักษาไว้ซึ่งบริการอันเป็นที่ต้องการของชุมชน
และการสร้างรายได้แก่ชุมชน (Income generation)
สำหรับหน้าตาของ Social
Enterprise ตามหลักการดังกล่าวสำหรับคนที่ยังนึกภาพไม่ออกนั้น เช่น
การประกอบธุรกิจรับเลี้ยงเด็กเล็กในชุมชน
และนำรายได้ที่ได้รับจากกิจการดังกล่าวมาพัฒนาคุณภาพอาหารเด็ก หรือจัดกิจกรรมต่าง
ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้เด็กมีความใกล้ชิดกับครอบครัว
หรือการประกอบธุรกิจโรงงานโดยใช้วัตถุดิบและแรงงานในชุมชน เพื่อนำเงินรายได้วนกลับมาพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบหรือทักษะฝีมือแรงงานในชุมชน
หรือให้ค่าจ้างเพิ่ม เป็นต้น
ผู้เขียนเห็นว่าการประกอบธุรกิจแบบ Social Enterprise นี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างมากเนื่องจากเป็นการประกอบธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของสังคม
(Social Value) มากกว่าผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล (Individual
Benefit) ตามแนวทางประกอบธุรกิจกระแสหลักของโลกยุคบริโภคนิยม (Consumerism) ที่ใครมือยาวสาวได้สาวเอาในปัจจุบัน อีกทั้งการประกอบธุรกิจแบบ Social
Enterprise นี้ยังสอดรับได้เป็นอย่างดีกับการดำรงชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานไว้
ดังนั้น
ผู้เขียนจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอเรื่อง
Social Enterprise เมื่อวันจันทร์ ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558
อย่างไรก็ดี
ผู้เขียนมีข้อกังวลประการหนึ่งที่ขอฝากไว้ โดยจากการศึกษาแนวทางของต่างประเทศนั้น
ทุกประเทศเขาให้ความสำคัญกับพิจารณาเรื่องต่าง ๆ (รวมทั้งเรื่อง Social Enterprise ด้วย)
ในแง่เนื้อหาหรือเจตนารมณ์ที่แท้จริงมากกว่ารูปแบบที่ปรากฏ
ขณะที่คนไทยคุ้นชินกับการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในแง่ของรูปแบบมากกว่าเนื้อหา
ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่าอนาคตของ Social Enterprise ของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป
เพราะแว่วว่ามีการเสนอให้มีการออกกฎหมายเพื่อจัดตั้ง Social Enterprise ขึ้นเป็นการเฉพาะ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เราอาจได้ Social
Enterprise ในทางรูปแบบมากกว่าเนื้อหาอย่างที่เราต้องการ
เพราะกฎหมายเป็นเรื่อง “การบังคับ” แต่ Social Enterprise
เกิดขึ้นจาก “ความมุ่งมั่น” หรือ
“ความรู้สึกรับผิดชอบ” ของผู้ประกอบธุรกิจที่เห็นความสำคัญคุณค่าของสังคม (Social
Value) มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว ผู้เขียนจึงเห็นว่าการพัฒนา Social
Enterprise ควรใช้มาตรการส่งเสริมมากกว่าการกำกับหรือควบคุม
การบังคับโดยกฎหมายจึงอาจขัดขวางการพัฒนา Social Enterprise รวมทั้งนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องได้
จึงขอฝากประเด็นนี้ไว้เป็นข้อคิดด้วย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น