วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ปราบโกงถูกกล่าวหาว่าทุจริต: ใครควรเป็นผู้ตรวจสอบ โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ในตอนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น กรธ. เปิดให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างหลากหลายทั้งทางไปรษณีย์ และวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของ กรธ. นอกจากนี้ เรายังออกเดินสายไปรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนหลากหลายจังหวัดในทุกภาค แถม กรธ. แต่ละท่านกับฝ่ายเลขานุการทุกคนต่างช่วยกันเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏในสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มาใช้ประกอบการพิจารณาด้วยนะครับ ไม่ใช่นั่งอยู่ในห้องแอร์รอข้อมูลวิ่งมาหาอย่างเดียว

เรียกว่า กรธ. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ มาตั้งแต่ยังไม่มีมาตรา 77 ด้วยซ้ำไป

ความคิดเห็นของพี่น้องนั้นหลากหลายมากครับ แต่เชื่อไหมครับว่าเรื่องที่พี่น้องประชาชนพูดตรงกันมากที่สุดห้าเรื่อง เรื่องทุจริตนำโด่งมาอันดับหนึ่งเลย เรื่องคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์เป็นอันดับสอง ตามมาด้วยลำดับสามเรื่องกระบวนการยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำนี่เข้าที่สี่ เรื่องการพัฒนาแบบไร้ทิศทางและไม่ยั่งยืนนี่มาที่ห้า

ทุกคนพูดตรงกันครับว่าการทุจริตนี่เป็นอะไรที่น่าขยะแขยงเป็นอย่างยิ่ง แต่กระนั้นก็ดันมีอยู่ในทุกวงการทั้งภาครัฐภาคเอกชน ฟอนเฟะมาก 

เมื่อประชาชนสะท้อนมาอย่างนี้ เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจึงมีความสำคัญอันดับต้น ๆ ของร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. จัดทำขึ้น จนใครต่อใครขนานนามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” กันทีเดียว และเรื่องนี้น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้รับความเห็นชอบจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในการลงคะแนนเสียงประชามติ

สิ่งที่พูดตรงกันมีอีกอย่างหนึ่งคือการปราบโกงไม่ใช่ตั้งองค์กรใหม่ ๆ มาปราบ เพราะตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาก็มีคนไม่กี่หยิบมือ คนโกงมันตั้งพะเรอเกวียน การโกงมันก็ลักลอบทำ แอบทำ เอาอย่างนี้ดีไหม พี่น้องเขาเสนอแนะว่าทำอะไรต่าง ๆ ก็บังคับให้มันต้องเปิดเผยและโปร่งใสเสีย พออะไร ๆ มันเปิดเผยเข้าแล้วมันก็จะโกงยากขึ้น แล้วพี่น้องประชาชน 65 ล้านคนจะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสแชร์ข้อมูลให้ แต่พอแจ้งข้อมูลไปแล้วองค์กรที่รับแจ้งต้องทำงานให้รวดเร็วขึ้นด้วยนะ เพราะที่ผ่าน ๆ มาแต่ละเรื่องมันนานเหลือเกิน บางเรื่องขาดอายุความไปก็มีซึ่งมันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เขาเสนอว่ากำหนดเวลาดำเนินการให้ชัดเจนได้ไหม

กรธ. ฟังแล้วคิดว่าเข้าท่าแฮะ จึงกำหนดในมาตรา 59 ว่า “รัฐมีหน้าที่” ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก  และกำหนดไว้ในมาตรา 77 ว่ารัฐพึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน

ผู้แสดงความเห็นหลายท่านที่เป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เล่าไปร้องไห้ไปด้วยความอัดอั้นถึงความทุกข์ระทมของผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวว่า ทันทีที่มีการกล่าวหา ทางปฏิบัติก็จะมีการประกาศชื่อผู้ถูกกล่าวหาและผู้เกี่ยวข้องลงเว็บไซต์ แล้วสื่อก็เอาไปลงเป็นข่าวครึกโครมทั้งที่ยังไม่มีการชี้มูลความผิดเลย แค่นี้พวกเขาและครอบครัวเหมือนตกนรกทั้งเป็นแล้วเพราะชาวบ้านร้านช่องก็ตราหน้าว่าเป็นคนโกง ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย แถมงานการที่ทำก็หยุดชะงักไปหมด อย่างมีการร้องเรียนว่าการประกวดราคาก่อสร้างถนนเข้าหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีการทุจริต โครงการก็ชะงักเลย ไม่มีใครกล้าทำอะไรต่อ คนเดือดร้อนคือชาวบ้านในหมู่บ้าน แต่พอผลออกมาไม่มีอะไร ถึงจะลงเว็บไซต์เผยแพร่ว่าไม่มีการทุจริต สื่อก็ลืมไปแล้ว ไม่ลงข่าวให้ พวกเขาเหมือนตายทั้งเป็นและทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ข้อนี้คงต้องปรับปรุงวิธีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง ของบุคคลตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ครับ

มีคำถามหนึ่งที่พบในแทบจะทุกเวทีก็คือ เราให้มีองค์กรปราบทุจริตแล้ว ใครจะเป็นคนตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของ “ผู้ดำรงตำแหน่ง” ในองค์กรเหล่านี้จะไม่ทุจริตเสียเอง ต้องตั้งซุปเปอร์องค์กรอะไรมาตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งไหม แล้วใครจะมาตรวจสอบซุปเปอร์องค์กรนั่นล่ะ ต้องตั้งซุปเปอร์ของซุปเปอร์องค์กรอีกไหม เรื่องนี้เดิมมีทางออกอยู่แล้วคือให้มีการตั้ง "ผู้ไต่สวนอิสระ" มาดำเนินการตรวจสอบ ได้ความว่าอย่างไรก็ว่ากันไป เคยใช้มาแล้วด้วย มีประสิทธิภาพดี อันนี้ กรธ. จึงกำหนดเป็นหลักประกันความเป็นอิสระขององค์กรปราบทุจริตไว้ในรัฐธรรมนูญเลย พี่น้องเขาก็เห็นด้วย

อย่างไรก็ดี พี่น้องประชาชนเขาก็ยังมีความข้องใจว่า แล้วถ้า “เจ้าหน้าที่” ขององค์กรปราบทุจริตถูกกล่าวหาว่าโกง ใครจะเป็นคนตรวจสอบ เพราะในหมู่คนดีก็ย่อมมีคนไม่ดีปะปนอยู่บ้างเหมือนกันทุกที่ แต่ถ้าให้องค์กรตรวจสอบเอง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ช่วยเหลือกัน อันนี้ก็น่าคิดนะครับ เกิดข้อครหานินทาแน่ ๆ ทำอย่างไรจะจึงจะป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาเช่นนี้

ในประเด็นนี้ กรธ. ก็เลยเสนอว่าถ้าเจ้าหน้าที่ขององค์กรปราบทุจริตถูกกล่าวหาว่าโกง ก็ให้องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเหมือนกันมาเป็นคนตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่กระบวนการตรวจสอบ ปรากฏผลอย่างไรก็แจ้งให้องค์กรปราบทุจริตดำเนินการต่อไปเอง ผิดถูกก็ว่ากันไปตามหลักเกณฑ์

ประเด็นสุดท้ายก็มีเท่านี้แหละครับ กรธ. ไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งอะไรกับใครตามที่มีการลงข่าวหรอกครับ คิดจะทะเลาะยังไม่เคยเลย เพียงแต่พี่น้องประชาชนเขาสะท้อนความคิดเห็นมา เราก็พยายามหาวิธีคลายความกังวลของพี่น้องเขาโดยวิธีการที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง

ถ้าใครคิดวิธีอะไรที่มีเหตุผลหนักแน่นมากกว่านี้ได้ก็ลองช่วยกันเสนอครับ สนช. เขากำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่

การพัฒนาบ้านเมืองให้เกิดความเจริญพี่น้องประชาชนมีความผาสุก เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนทุกฝ่ายครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น