รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่ามุ่งหมายให้การดำเนินการต่าง
ๆ ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ รวมทั้งองค์กรอิสระเป็นไปอย่าง “รวดเร็ว” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการดำเนินการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
และการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติดังต่อไปนี้
(๑)
ได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๒)
เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว
(๓)
ฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ
พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ
(๑) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ
(๒) จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
สิ่งแวดล้อม
และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
(๓)
เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน
หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้
หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
(๔) จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน
สิทธิของบุคคลและชุมชนตามวรรคหนึ่ง
หมายความรวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
มาตรา ๖๘ รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ
เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว
และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร
รัฐพึงมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม
ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใด ๆ
รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
รวมตลอดถึงการจัดหาทนายความให้
มาตรา ๗๖ รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง
ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และงานของรัฐอย่างอื่น
ให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยหน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่
เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะ
และการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
รวมตลอดทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวก
รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ
และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐพึงดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ
ให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม
โดยกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม
เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น
ๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว
มาตรา ๑๘๘ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล
ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม
และปราศจากอคติทั้งปวง
มาตรา ๒๒๖ เมื่อมีการดำเนินการตามมาตรา ๒๒๕
หรือภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งหรือการเลือกแล้ว
มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกผู้ใดกระทำการทุจริตในการเลือกตั้งหรือการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น
การพิจารณาของศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง
ให้นำสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหลักในการพิจารณา
และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ให้ศาลมีอำนาจสั่งไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
ในกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลตามวรรคหนึ่งกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง
ให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลาสิบปี ทั้งนี้
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
แล้วแต่กรณี
เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว
ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา
ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด
และเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด
ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
มิให้นับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคสี่เป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา
แล้วแต่กรณี
ให้นำมาตรานี้ไปใช้บังคับแก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นด้วยโดยอนุโลม
แต่ให้อำนาจของศาลฎีกาเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์
และให้คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด
การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ตามมาตรานี้
ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาซึ่งต้องกำหนดให้ใช้ระบบไต่สวนและให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว
มาตรา ๒๓๔ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ
ดังต่อไปนี้
(๑)
ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่
หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๒) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ
กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๓) กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส
และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๔) หน้าที่และอำนาจอื่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) (๒) และ (๓)
ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่จะต้องจัดให้มีมาตรการหรือแนวทางที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพเกิดความรวดเร็ว สุจริต
และเที่ยงธรรม ในกรณีจำเป็นจะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรงหรือที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางระดับหรือกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยธุรการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนหรือไต่สวนเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์
วิธีการ
และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็ได้
มาตรา ๒๔๘ องค์กรอัยการมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว
เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ให้ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง
การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ
และการดำเนินการอื่นขององค์กรอัยการให้มีความเป็นอิสระโดยให้มีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมและการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับพนักงานอัยการต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการอัยการ
ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งต้องไม่เป็นพนักงานอัยการ
และผู้ทรงคุณวุฒิบรรดาที่ได้รับเลือกจากพนักงานอัยการ
ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบุคคลซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นพนักงานอัยการมาก่อนสองคน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
กฎหมายตามวรรคสาม
ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้พนักงานอัยการกระทำการหรือดำรงตำแหน่งใดอันอาจมีผลให้การสั่งคดีหรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามวรรคสอง
หรืออาจทำให้มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวต้องกำหนดให้ชัดแจ้งและใช้เป็นการทั่วไป
โดยจะมอบอำนาจให้มีการพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปมิได้
มาตรา ๒๕๘ ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง
ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้
ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม
(๑)
ให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า
และมีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้
รวมตลอดทั้งการสร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม
(๒)
ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม
กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ
และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา
รวมทั้งกำหนดให้การสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์
และจัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกันเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก
(๓) เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว
(๔) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม
และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ
มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง
และโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน
ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันเพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ
ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
การทำงานให้รวดเร็วนั้นที่จำเป็นก็คือต้องมี
“การกำหนดเวลา” สำหรับการดำเนินงานในกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ
ให้ชัดเจน แม้ที่ผ่านมาจะมีการกำหนดไว้ในกฎหมายอยู่บ้างว่าหน่วยงานต้องดำเนินการนั้นนี้ภายในระยะเวลาเท่าใด
แต่ก็มีกฎหมายลักษณะดังกล่าวจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นยี่ต๊อกในการดำเนินการของหน่วยงานซึ่งเป็นเรื่องภายในของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียมากกว่าซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องใดขั้นตอนใดจะใช้เวลาเท่าใด
จนกระทั่งรัฐบาลต้องเสนอให้ตรากฎหมายอำนวยความสะดวกในการอนุมัติอนุญาตของทางราชการขึ้น
เพื่อให้หน่วยงานนำยี่ต๊อกเหล่านี้จากในลิ้นชัก ออกมาวางให้ประชาชนเห็น
ข้อดีของการกำหนดเวลาการทำงานต่าง
ๆ
ไว้ในกฎหมายคือพี่น้องประชาชนจะได้รู้ชัดเจนว่าการดำเนินการของภาครัฐจะต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด
เขาต้องรอนานเท่าใด มีต้นทุนเท่าไร ภาครัฐเองก็จะได้ไม่มีเรื่องค้างให้เป็นภาระ
การดองเรื่องไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบก็จะลดลง ทั้งจะทำให้ประสิทธิภาพการบริหารราชการดีขึ้นด้วย
ไม่ชักช้าอืดอาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม การกำหนดเวลาทำงานแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนจะช่วยเร่งรัดการดำเนินคดีความต่าง
ๆ ความยุติธรรมจะบังเกิดโดยไม่ล่าช้า เพราะถ้าความยุติธรรมที่ล่าช้า เท่ากับไม่มีความยุติธรรม
ข้อไม่ดีของการกำหนดเวลาการทำงานต่าง
ๆ ไว้ในกฎหมายมีเพียงข้อเดียวคือมันจะกระทบการทำให้ทำงานแบบ “เคย ๆ” หรือ comfort zone ของผู้ปฏิบัติ เพราะจะเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะเหมือนเดิม หรือทำแบบที่พี่สบายใจอีกต่อไปไม่ได้
ต้องขยัน ต้องเอาจริงเอาจัง ต้องคิดวิธีทำงานใหม่ ๆ ให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น ฯลฯ
ทั้งยังทำให้เจ้าหน้าที่ผู้มีไถยจิตไม่สามารถดึงเรื่องเพื่อดำเนินการทุจริตได้อีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น