วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

เล่าสู่กันฟัง โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์


                   ในยุค Disruptive Technology เช่นนี้ การทำธุรกิจหรือกิจการแบบเดิม ๆ ดังเช่นที่ทำ ๆ กันมาหลายสิบปีเห็นทีจะไปต่อได้ยาก การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก มิฉะนั้นจะย่ำแย่ไปตาม ๆ กัน

                   ไม่ใช่ภาคเอกชนเท่านั้นที่ต้องปรับตัวให้เร็ว ภาครัฐเองก็ต้องปรับตัวให้เร็วไปพร้อม ๆ กันด้วย เพราะรัฐมีหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติให้มีความรู้และทักษะเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รวมทั้งมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวก และกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน

                   ถ้าภาคเอกชนไปเร็วแต่ภาครัฐยังยึดติดอยู่กับวิธีคิดและวิธีทำงานแบบเดิม ๆ  ประเทศในภาพรวมก็ยากที่จะเดินต่อไปได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น หรือถ้าไปเร็วแบบไม่คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ การเดินไปข้างหน้าก็จะไม่ยั่งยืน และกลายเป็นภาระแก่ลูกหลานในอนาคต

                   ด้วยเหตุนี้ มาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญ จึงให้ความสำคัญแก่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องพัฒนามนุษย์ให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ และสามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน เพื่อให้ลูกไทยหลานไทยมีคุณลักษณะของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 คือ ใฝ่รู้ มีความสามารถในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นซึ่งแตกต่างได้อย่างเข้าอกเข้าใจ

                   นอกจากนี้ มาตรา 258 ข. ยังได้กำหนดให้ต้องมีการดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วยเพื่อให้ภาครัฐสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว สามารถเดินคู่ขนานไปพร้อมกับภาคเอกชนได้อย่างรวดเร็ว
·     นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
·     บูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นระบบข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน
·     ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารงานของรัฐและแผนกำลังคนภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ โดยต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับภารกิจของหน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกัน
·     ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐเพื่อจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ และสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของงานของแต่ละบุคคล มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีความคิดสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้การปฏิบัติราชการและการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการคุ้มครองป้องกันบุคลากรภาครัฐจากการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมของผู้บังคับบัญชา
·      ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัว เปิดเผย ตรวจสอบได้ และมีกลไกในการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน

                   ผู้เขียนขอยกสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนเป็นตัวอย่างในการพัฒนาแบบคู่ขนานนี้นะครับ จะได้เห็นภาพว่ามังกรหลับกลับมาผงาดอย่างยิ่งใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร

                   เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 สภาแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนเขาประชุมกันเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ เขามองเห็นว่าในยุค Disruptive Technology นั้น “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence หรือ AI) จะมีบทบาทมากและจะสร้างรายได้มากในราว 147 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งรายเล็กรายใหญ่ได้อีกในราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย เขาจึงให้ความสำคัญแก่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI และตั้งเป้าหมายว่าในปี 2030 เขาจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมด้าน AI ของโลกให้ได้

                   เขาไม่ได้ตั้งเป้าเฉย ๆ ครับ แต่กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันเดินไปข้างหน้าไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน AI ทั้งความรู้พื้นฐาน เช่น big data intelligence, multimedia aware computing, human-machine hybrid intelligence, swarm intelligence และความรู้ชั้นสูงที่จะนำมาพัฒนาต่อยอด เช่น brain-like computing, quantum intelligent computing การพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ด้าน AI การพัฒนา Open-source computing ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรองการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ผ่าน Hardware, Software และ Clouds ที่มีความแตกต่างหลากหลายภายใต้มาตรฐานทางเทคโนโลยีที่ชัดเจน

                   ในแง่กฎบัตรกฎหมาย เขากำหนดให้มีพัฒนากฎหมายเพื่อให้สะดวกแก่ผู้ประกอบการทุกขนาด ทั้งเล็กทั้งใหญ่ และไม่ต้องเป็นนิติบุคคลก็ได้เพราะการพัฒนา AI ต้องใช้สมองคิดซึ่งไม่จำกัดเฉพาะนิติบุคคลเท่านั้นที่จะทำได้ นั่งถอดเสื้อเกาพุงกินโอเลี้ยงไปคิดไปก็ทำได้ นี่รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งข้อกำหนดทางจริยธรรมในการพัฒนา AI ด้วยครับ เขาไปไกลแล้ว เพราะ AI นี่ถ้าใช้ผิดทางมันเกลือกไปในทางผิดศีลธรรมได้เหมือนกันต้องดูแลกันดี ๆ

                   สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ดังกล่าวข้างต้นนั้น รัฐจะเป็นผู้ลงทุนเองเป็นหลัก แต่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนได้ด้วยแบบเดินไปด้วยกัน และจะมีการตั้งกองทุน AI Fund ขึ้นเพื่อระดมทุนมาใช้จ่ายในการพัฒนาและส่งเสริม AI เป็นการเฉพาะด้วย เพราะลำพังงบประมาณอย่างเดียวคงไม่พอ  

                   นี่เขาเริ่มดำเนินการไปครึ่งปีแล้วครับ. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น