รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปลี่ยนแปลงหลักการเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปมากมาย ไม่ใช่เพียงแค่ “กระจายอำนาจ” แต่มุ่งเป้าไปที่ “การพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้เข้มแข็ง จะได้เป็นเรี่ยวแรงพัฒนาชาติ”
เหตุที่เปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับ อปท. เป็นเช่นนี้ก็เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. ไม่ได้คิดว่า อปท. เป็นเรื่องของ "การปกครอง" แต่เป็นเรื่อง "การบริหารจัดการท้องถิ่นโดยผู้คนในท้องถิ่นนั้นเอง"
เหตุที่คิดเช่นนี้ก็เพราะเชื่อว่าคนในท้องถิ่นย่อมรักท้องถิ่นของตัวเอง เชื่อว่าไม่มีใครต้องการให้บ้านของตัวเองหายนะ แต่เชื่อว่าคนในแต่ละท้องถิ่นล้วนต้องการให้ท้องถิ่นของตนเองมีความเจริญ และไม่ใช่เจริญแบบฉาบฉวย หรือแบบที่เหมือน ๆ กับบ้านอื่นเมืองอื่น หากเป็นการเจริญอย่างมีอัตลักษณ์ เจริญอย่างยั่งยืน มีรากฐานการพัฒนาที่ดีเพื่อลูกหลานของคนในท้องถิ่นในอนาคต จะได้ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นไปทำมาหากินที่อื่นจนละเลยถิ่นฐานรากเหง้าของตนเอง ทั้งต้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกับ อปท. อื่น ๆ และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในภาพรวมด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ กรธ. จึงเห็นว่าแนวทางการบริหารจัดการ อปท. ไม่ใช่การมุ่งเน้นไปที่การปกครองอันเป็นเรื่องของการใช้อำนาจ แต่เน้น "การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น"
หลักการสำคัญที่วางไว้ก็คือ อปท. จะทำกิจใด ๆ ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนในท้องถิ่นประกอบด้วย มีการคิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างเพียงพอและรอบด้าน ไม่ใช่ทำตามแต่เฉพาะนโยบายหรือความคิดของท่านนายก อปท. เหมือนเคย ๆ ซึ่งทั้งหลายทั้งมวลนี้เป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ที่สำคัญ อปท. ต้องมีอิสระในการดำเนินการ ไม่ใช่ต้องทำตามคำสั่งของส่วนกลางหรือตามคำสั่งหรือหนังสือสั่งการของอค์กรกำกับดูแล อปท. ทุกเรื่อง เพราะหากเป็นเช่นนั้น อปท. ก็คงเป็นเพียงกลไกของราชการที่อยู่ในท้องถิ่นเท่านั้น รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติว่าการกำกับดูแล อปท. พึงกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และโดยที่ อปท. แต่ละท้องถิ่นมีอัตลักษณ์แตกต่างกัน มีบริบทแตกต่างกัน การกำกับดูแล อปท. โดยใช้หลักการเดียวกันทั้งประเทศหรือ one size fits all จึงไม่เหมาะสมอีกต่อไป
การให้ อปท. มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการนั้น รัฐต้องเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาให้ อปท. มีความเข้มแข็งในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเงินการคลังและการงบประมาณ ในระหว่างที่ อปท. ยังไม่เข้มแข็งจนหารายได้ได้มากพอที่จะใช้จ่ายในการบริหารจัดการตนเอง รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณให้แก่ อปท.
แต่ที่สำคัญ อปท. เองต้องไม่คอยแต่งบประมาณจากรัฐ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ยากที่ อปท. จะมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการท้องถิ่นได้เอง เพราะต้องใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับจากรัฐ ซึ่งนั่นไม่ต่างจากหน่วยงานของรัฐเลย
แต่ที่สำคัญ อปท. เองต้องไม่คอยแต่งบประมาณจากรัฐ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ยากที่ อปท. จะมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการท้องถิ่นได้เอง เพราะต้องใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับจากรัฐ ซึ่งนั่นไม่ต่างจากหน่วยงานของรัฐเลย
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังได้เพิ่มบทบาทของ อปท. ไว้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยได้เพิ่มบทบาทในการจัดทำ “กิจการอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” ขึ้นจากเดิมที่กำหนดให้จัดทำบริการสาธารณะอย่างเดียว ทั้งในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หมวดหน้าที่ของรัฐ และหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ก็ยังมีการกำหนดภารกิจของ อปท. แทรกไว้ด้วย
ในช่วงนี้มีข้อเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และกฎหมายจัดตั้ง อปท. อยู่มาก แต่ทั้งหมดก็เป็นขัอเสนอจากส่วนราชการหรือองค์กรอิสระที่มุ่งเน้นในเรื่องที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล อปท. กับการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แต่ยังไม่มีข้อเสนอที่เกี่ยวกับการพัฒนา อปท. ให้เป็นการบริหารจัดการท้องถิ่นโดยผู้คนในท้องถิ่นนั้นเองที่มีความเป็นอิสระตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเลย
ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าไหน ๆ ก็จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแล้ว สมควรที่ อปท. ทั้งหลายจะได้ร่วมกันมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ อปท. เป็นการบริหารจัดการท้องถิ่นโดยผู้คนในท้องถิ่นนั้นเองที่มีความเป็นอิสระตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริงไปเสียในคราวเดียวกันด้วย เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ “ชุมชนและท้องถิ่นเข้มแข็ง จะได้เป็นเรี่ยวแรงพัฒนาชาติ” ได้อย่างแท้จริง เพราะคงไม่มีใครที่รู้เรื่องนี้ดีไปกว่า อปท. เอง
ฝากไว้ท้ายนี้นิดนึงว่าอย่าทำแบบ one size fits all อีกล่ะ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น