ผู้เขียนมีข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องทุจริตในการก่อสร้าง นั่นก็คือการก่อสร้างตาม “แบบมาตรฐาน” ที่หน่วยงานกลางกำหนด มักจะมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตมากกว่าเรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นราคา ประเด็นการก่อสร้างล่าช้า ประเด็นการตรวจรับงาน
ในเรื่องราคานั้น แน่นอนว่าเมื่อเป็นแบบมาตรฐาน ราคาค่าก่อสร้างจึงเป็นราคามาตรฐานไปโดยอัตโนมัติตามที่หน่วยงานกลางผู้ออกแบบเป็นผู้กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอิงตามราคาวัสดุอุปกรณ์ในกรุงเทพฯ
แต่การก่อสร้างจริงตามแบบมาตรฐานนั้น มิได้จำกัดเฉพาะในกรุงเทพฯ หากกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับค่าขนส่งวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง และกำไรของผู้ประกอบการ เข้าไปด้วย ยิ่งก่อสร้างในท้องที่ห่างไกล ต้นทุนนี้ก็จะเพิ่มสูงขึ้น ดังนี้ เมื่อมีการเสนอราคา ราคาที่เสนอจึงแตกต่างกันไป ผู้คนมากมายที่ไม่เข้าใจจึงถูกชักจูงให้เข้าใจผิดหรือเชื่อไปได้ง่าย ๆ ว่า แบบก็เหมือนกัน แต่ทำไมเสนอราคาถูกแพงต่างกัน มันต้องมีการทุจริตแน่ ๆ ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนทำให้ทราบว่าคนเชื่อแบบนี้กันเยอะนะครับ เอะอะก็ทุจริต ว่าไปนั่น
สังคมเรา "เชื่อง่าย" ครับ
สังคมเรา "เชื่อง่าย" ครับ
อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อราคาอย่างมีนัยสำคัญคือ “สถานที่ก่อสร้าง” เพราะแบบก่อสร้างที่กำหนดเป็นแบบกลาง แต่สถานที่ก่อสร้างนั้นมีสภาพที่แตกต่างหลากหลาย แม้กระทั่งในจังหวัดอำเภอเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน เมื่อประกอบกับไม่มี “กระบวนการตรวจสอบสถานที่ก่อสร้าง” ให้ละเอียดรอบคอบก่อนมีการเสนอราคา อย่างมากก็พาไปดูที่ ไม่มีการทดสอบสภาพดินสภาพชั้นดิน ต่อเมื่อทำสัญญาจ้างไปแล้วและลงมือก่อสร้างจริงนั่นแหละจึงจะทราบว่าต้องมีการปรับแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ก่อสร้างซึ่งโดยมากก็มักจะเพิ่มขึ้น ต้องมีการเจรจาต่อรองกันเพื่อปรับแบบและแก้ไขสัญญา เวลาก่อสร้างก็ขยายไป งานก็ล่าช้า และเมื่อมีการแก้ไขสัญญาและวงเงินเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้องาน จึงเกิดข้อครหาอยู่เนือง ๆ ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้คู่สัญญาหรือไม่ ตรวจสอบกันวุ่นวาย ผู้เกี่ยวข้องกินไม่ได้นอนไม่หลับ
มีไม่น้อยนะครับที่เมื่อมีการร้องเรียนว่าทุจริต จะหยุดการก่อสร้างไว้ก่อนกันเหนียว รอเขาตรวจสอบให้ยุติก่อนค่อยทำต่อ งานมันก็ล่าไปเรื่อย ๆ
จะว่าไป “การเลือกสถานที่ก่อสร้าง” ก็เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้ “การตรวจสอบสถานที่ก่อสร้าง” นะครับ มันกระทบหลายอย่าง เช่น ขวางทางน้ำไหลหรือไม่ สร้างแล้วจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ฯลฯ ไม่ได้กระทบเพียงราคาและเทคนิคการสร้าง การเลือกสถานที่ก่อสร้างจึงไม่ควรพิจารณาเพียงเพราะว่าเป็นที่ว่าง หากต้องพิจารณาด้วยว่าที่ว่างนั้นมันเหมาะสมที่จะสร้าง “อะไร” ลงไปหรือไม่
ยกตัวอย่างว่ามีที่ว่างอยู่แปลงหนึ่ง แต่สภาพดินอ่อน ก็ไม่ควรเอาไปสร้างสถานที่ที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ หรือมีผู้ไปใช้บริการมาก เพราะมันเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ต้องเสียค่าบำรุงรักษาสูง บางที่ก็ดินแข็งโป๊ก ตอกเข็มไม่ลง เป็นต้น
เผลอ ๆ ไม่ต้องสร้างอะไร แค่ไปจัดภูมิทัศน์ให้ดี ปลูกต้นไม้ต้นไร่เข้าไปให้เป็นระบบระเบียบ ไม่สกปรกรกรุงรัง ไม่มีหาบเร่แผงลอยไปยึดหัวหาดทำมาค้าขายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะมีประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมโดยรอบมากกว่า อันนี้คิดเป็นตัวเงินไม่ได้ แต่เป็นผลที่พึงประสงค์มากกว่าตัวเงิน มันคือ "ความอยู่เย็นเป็นสุข"
สังเกตไหมเล่าครับว่าคนโบราณท่านพิถีพิถันกับการเลือกสถานที่ก่อสร้างมาก ว่ามี “ชัยภูมิ” ที่เหมาะสมกับสิ่งที่จะสร้างหรือไม่ ไม่ใช่คิดเพียงว่าที่ตรงนั้นว่างอยู่ นึกอยากสร้างอะไรก็ของบประมาณมาเตรียมไว้เพื่อก่อสร้าง หลายกรณีนะครับที่คิดเพียงเท่านี้แล้วของบประมาณมาดำเนินการ ถึงเวลาเข้าทำไม่ได้ ต้องขอยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงโครงการก็มี เสียเวลามาก
การตรวจรับงานก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีข้อครหาอยู่เสมอว่าทุจริต งานตรวจรับนี่เสี่ยงจริงไรจริงครับพี่น้อง ใครไม่เคยเป็นกรรมการตรวจรับไม่รู้หรอก เหตุผลก็คือเกณฑ์การตั้งกรรมการตรวจรับนี่เขาใช้ "ตำแหน่ง" เป็นหลักครับ ไม่ใช่ "ความรู้ความสามารถในเรื่องที่ตรวจรับ" แปลกแต่จริง ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน หรือเคยทำ ๆ กันมา ก็จงทำต่อไปก็ไม่รู้ได้
ยิ่งคนตรวจรับไม่ได้มีความรู้ในเรื่องที่ตรวจรับนี่ยิ่งน่าสงสาร พลาดพลั้งได้ง่ายมาก เพราะไหนจะต้องทำงานประจำ แล้วต้องปลีกไปตรวจงาน จึงยากครับที่จะตรวจละเอียด บางทีไปดูเขาเทปูนไปแล้ว จะไปรู้ได้อย่างไรว่าเหล็กครบหรือเปล่า ครั้นจะให้เขาทุบก็เกรงว่างานจะล่าช้า เขาก็จะฟ้องร้องเอา ท่อระบายน้ำมีอะไรอุดไหมก็ไม่รู้ ตอนแรก ๆ ใช้ไปก็ไม่รู้หรอกครับ จนมันตันแล้วทุบจะซ่อมนั่นแหละจึงจะรู้ กรรมแท้ ๆ
ส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่าแบบก่อสร้างมาตรฐานนั้นควรเลิกไปได้แล้ว ควร outsource ให้ภาคเอกชนเป็นผู้ออกแบบเป็นแห่ง ๆ มากกว่า เพราะตอนนี้เรามีคนเรียนจบทางนี้มามากมาย ฝีมือก็เยี่ยม ๆ ไอเดียดี ๆ ทั้งนั้น ไม่งั้นไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพมาหรอก ถ้า outsource ได้ ก็น่าจะจ้างงานได้มาก อีกทั้งแบบอาคารสถานที่ต่าง ๆ นั้น ไม่ต้องเหมือนกันก็ได้ หลักคิดคือสร้างอะไรขึ้นมานี่มันจะมีอายุการใช้งานหลายสิบปี บางทีเป็นร้อยปี สิ่งเหล่านี้จึงควรมีความเป็นเอกลักษณ์ (iconic) ของพื้นที่ ยิ่งถ้าผูกโยงกับอัตลักษณ์ของท้องที่ ท้องถิ่น หรือชุมชนด้วยก็จะยิ่งงดงาม แบบมาตรฐานในทัศนะของผู้เขียนจึงไม่ส่งเสริมให้มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) มาพัฒนานวัตกรรม (innovation)
เรื่องการคัดเลือกสถานที่ก่อสร้างก็สำคัญ เพราะรัฐสามารถใช้การก่อสร้างสถานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐเป็นตัวนำการพัฒนาพื้นที่ได้ ส่วนการจัดให้มีการทดสอบสภาพพื้นที่จริงก่อนการเสนอราคานั้น นอกจากจะทำให้การเสนอราคาใกล้เคียงกับความเป็นจริงยิ่งขึ้นแล้ว ยังทำให้การก่อสร้างต่าง ๆ ไม่ต้องล่าช้าเพราะต้องแก้ไขสัญญากันตลอดเวลาด้วย
การควบคุมงานก็น่าจะ outsource ให้เอกชนทำได้เช่นกันเพราะมีสภาวิชาชีพควบคุมอยู่แล้ว ถ้าทำได้ก็จะมีการจ้างงานมากขึ้น ทั้งจะทำให้การควบคุมงานถูกต้องแม่นยำขึ้น เผลอ ๆ คุมงานเก่งเข้าก็ไปรับจ้างคุมงานในต่างประเทศได้ด้วย อีกทั้งข้าราชการก็ไม่ต้องมาพะวักพะวงกับเรื่องที่ตัวเองไม่รู้ และจะได้ไม่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต
ชวนคิดครับ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น