วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ตรรกะของการเลือกตั้ง

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[1]

                   ในช่วงนี้มีการถกเถียงกันหน้าดำหน้าแดงทั้งระหว่างนักกฎหมายด้วยกัน และระหว่างนักกฎหมายกับนักอะไรต่าง ๆ มากมายว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างตัวบทกฎหมายมาตรานั้นมาตรานี้ขึ้นมาอ้างเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของตนอย่างสนุกสนาน บางครั้งอ้างมาตราเดียวกันแต่พูดไปคนละทางก็มี จนประชาชีสับสนไปหมดแล้ว

                   แต่สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเฉพาะตรรกะ (Logic) ของการเลือกตั้งในทางวิชาการเท่านั้น เพราะเห็นว่าอำนาจในการวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้นอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามกฎหมายแล้ว การจะเข้าไปชี้ชัด ๆ จึงอาจไม่เหมาะสม และรับรองว่าจะไม่อ้างตัวบทกฎหมายใดให้ท่านผู้อ่านสับสนมากขึ้นไปอีก

                   การเลือกตั้ง (Election) ในทางวิชาการถือเป็นวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้กันทั่วโลกทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ผู้แทน” ที่ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากเห็นว่ามีความเหมาะสมที่สุด เพื่อให้ผู้แทนนั้นไปทำหน้าที่บางอย่างบางประการแทนหรือในนามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อไป

                   สำหรับนักกฎหมาย ธรรมชาติของการเลือกตั้งดังกล่าวข้างต้นดูออกจะคล้ายคลึงกับวิธีการแต่งตั้งตัวแทน (Agent) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่มาก เพียงแต่ว่าวิธีการตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ตัวการสามารถแต่งตั้งใครก็ได้ที่ตนเห็นว่ามีความเหมาะสมขึ้นเป็นตัวแทนของตน ขณะที่วิธีการเลือกตั้งนั้นจะเปิดโอกาสให้บุคคลต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเข้ามาสมัครเข้ามาเป็น “ผู้สมัครรับเลือกตั้ง” เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนได้พิจารณาความเหมาะสมของบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด และแสดงเจตนาเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งที่ตนสมควรเพื่อเป็นผู้แทนของตน และโดยที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก การตัดสินว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดจะได้รับเลือกเป็นผู้แทนนั้นตามหลักสากลจึงถือเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง “ซึ่งมาใช้สิทธิเลือกตั้ง” เป็นเกณฑ์ เพราะหากมีสิทธิเลือกตั้งแล้วไม่มาใช้สิทธิก็เท่ากับว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมาใช้สิทธิของเขา

                   เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงมีความสำคัญต่อวิธีการเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง

                   สำคัญอย่างไร?

                   สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีโอกาสได้ “รับรู้” ข้อมูลที่เป็นจริงและเพียงพอเกี่ยวกับตัวตน ความรู้ความสามารถ ความประพฤฒิ ตลอดจนคุณธรรมและจริยธรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกรายโดยละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบาย แนวคิดหรือสิ่งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละรายจะนำไปปฏิบัติในฐานะที่เป็นผู้แทนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรณีที่ตนได้รับเลือกเป็นผู้แทนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าถึงหรือรับรู้ข้อมูลดังกล่าว การตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจเบี่ยงเบนหรือผิดพลาดไปได้  ดังนั้น ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผู้จัดให้มีการเลือกตั้งจึงต้องคำนึงว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริงและเพียงพอเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกรายหรือไม่

                   นอกจากนี้ โดยที่ธรรมชาติของการใช้สิทธิเลือกตั้งนั้นเป็นการแสดงเจตจำนงเสรี (Free will) ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ หรือหากไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วจะเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงต้องมีอิสระอย่างสมบูรณ์ที่จะใช้หรือไม่ใช้สิทธิของตนโดยปราศจากการขัดขวาง รบกวน หรือครอบงำโดยบุคคลอื่น  ดังนั้น บรรดาการกระทำใด ๆ ที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อการแสดงเจตจำนงเสรีของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการขัดขวาง ข่มขู่ คุกคาม ให้หรือสัญญาว่าจะให้สิ่งจูงใจ ฯลฯ รวมทั้งการเปิดเผยผลการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงขัดต่อหลักการสำคัญของวิธีการเลือกตั้งทั้งสิ้น เพราะจะทำให้ผลการเลือกตั้งเบี่ยงเบนไป  ดังนั้น ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผู้จัดให้มีการเลือกตั้งจึงต้องคำนึงว่ามีการกระทำใด ๆ ที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อการแสดงเจตจำนงเสรีของผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวข้างต้นหรือไม่

                   กล่าวถึงผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นต้องแสดงข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับตัวตน ความรู้ความสามารถ ความประพฤฒิ ตลอดจนคุณธรรมและจริยธรรมของตน รวมทั้งต้องมีโอกาสอย่างเหมาะสมและเพียงพอที่จะแสดงนโยบาย แนวคิดหรือสิ่งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละรายจะนำไปปฏิบัติหากได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพิจารณาอย่างทั่วถึง โดยผู้สมัครแต่ละรายต้องมีโอกาสดังกล่าวเท่าเทียมกันในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกันด้วย

                   ทั้งนี้ การแสดงนโยบาย แนวคิดหรือสิ่งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละรายจะนำไปปฏิบัติหากได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น จะต้องมุ่งไปในการเสนอนโยบาย แนวคิดหรือสิ่งที่ตนจะนำไปปฏิบัติเท่านั้น และต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือแสดงทัศนะที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (Hate speech) ต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งรายอื่น เพราะเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมอันดี ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงระดับคุณธรรมและจริยธรรมของผู้สมัครรับเลือกตั้งรายนั้น  ดังนั้น ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผู้จัดให้มีการเลือกตั้งจึงต้องคำนึงว่ามีการกระทำใด ๆ ที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวข้างต้นหรือไม่

                   ในทัศนะของผู้เขียน การเลือกตั้งใดที่ไม่สอดคล้องกับตรรกะดังกล่าวมาแล้วข้างต้นย่อมมีกระทบต่อ “ผลของการเลือกตั้ง” โดยตรงและอาจถูกโต้แย้งได้ ส่วนจะเป็นโมฆะหรือไม่ ไม่ทราบครับ.


[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557) อนึ่ง บทความนี้เป็นความบทความทางวิชาการของผู้เขียน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น