วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

คอรัปชั่น: รัฐธรรมนูญ vs การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[1]

                   ในทรรศนะของผู้เขียนรัฐธรรมนูญไทยอาจเปรียบเทียบได้กับของสองสิ่ง คือ กระโถนท้องพระโรง กับแก้วสารพัดนึก ที่ว่าเป็นกระโถนท้องพระโรงก็เนื่องจากเวลามีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นไม่ว่าจะในประเด็นใด รัฐธรรมนูญจะตกเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวหาเสมอมาว่าเป็นต้นเหตุ ส่วนที่เปรียบเทียบว่ารัฐธรรมนูญเป็นแก้วสารพัดนึกก็เนื่องจากคนส่วนใหญ่เชื่อกันว่าถ้ารัฐธรรมนูญดีพร้อมแล้ว จะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกสรรพสิ่งได้ดังใจหมาย  ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่น่าสงสารของไทยจึงถูกฉีกทิ้งและร่างใหม่ขึ้นบ่อย ๆ จนผู้เขียนเองก็จำไม่ได้แล้วว่ารัฐธรรมนูญไทยถูกกระทำอย่างนี้มากี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว

                   สำหรับปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นอย่างรุนแรงดังปรากฏตามข้อเท็จจริงที่เห็น ๆ กันอยู่ พลันก็มีการพูดจากันขึ้นมาอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังดีไม่พอ เพราะไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐ หลายภาคส่วนจึงส่งเสียงเรียกร้องตรงกันให้มี “การปฏิรูป” ระบบการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการทุจริตในภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อน ระหว่าง หรือหลังการเลือกตั้งก็ตาม

                   ที่สะกิดใจผู้เขียนขึ้นมาก็คือหลายท่านเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการทุจริตในภาครัฐ หลายท่านถึงกับเสนอให้ใครก็ได้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ทิ้งเสีย แล้วเขียนขึ้นใหม่เพราะกลไกตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการทุจริตในภาครัฐได้

                   ผู้เขียนจึงสงสัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการทุจริตในภาครัฐได้อย่างไรกัน? เพราะเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับการทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าจริง ๆ แล้วการทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐนั้นไม่ได้มีที่มาจาก “ของใหญ่ ๆ” อย่างรัฐธรรมนูญ แต่เกิดขึ้นจาก “สิ่งเล็ก ๆ” ที่เรียกว่า “กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” (Government procurement) ต่างหาก เพราะรัฐธรรมนูญนั้นกำหนดเพียงรูปแบบและโครงสร้างของรัฐ ตลอดจนองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้เท่านั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับการจัดซื้อจัดจ้างเลย โดยการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ฝ่ายบริหารกำหนดขึ้น ที่รู้จักกันทั่วไปก็ได้แก่ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ” นั่นเอง

                   เมื่อลองสมมุติว่าตัวเองเป็นผู้มีเถยจิตคิดจะโกง เห็นแก่ตัว โลภโมโทสัน ฉลาด และทราบว่ารัฐเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในประเทศเพราะมีงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีหลายล้านล้านบาท แน่นอน-ผู้เขียนย่อมต้อง “ทุ่มเท” และพยายามหาทางเข้ามามีส่วนร่วม กำกับ หรือควบคุมการกำหนดนโยบาย การอนุมัติงบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ได้ เพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุดเพราะเป็นการหากินง่าย ๆ ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้เขียนก็ต้องอาศัยกลไกตามรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเพื่อเข้ามามีเอี่ยวในเรื่องดังกล่าว

                   เมื่อเข้ามามีเอี่ยวได้สมใจนึกแล้ว ผู้เขียนที่ฉลาดแต่ขี้โกงก็จะใช้กลไกการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในการดำเนินการที่เอื้อต่อการโกงของผู้เขียนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายให้เอื้อต่อการโกงโดยอ้างว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และโดยไม่สนใจว่าประชาชนจะต้องการโครงการนั้นจริงหรือไม่ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงหรือไม่ หรือส่งผลกระทบอย่างไร หลังจากนั้น ผู้เขียนก็จะใช้อำนาจที่มีอยู่สั่งการให้มีการจัดทำโครงการหรือแผนงานให้ตรงกับที่ผู้เขียนวางแผนไว้ และสั่งหรืออนุมัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เกี่ยวข้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามโครงการหรือแผนงานดังกล่าว

                   ถามว่าถ้าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีความชัดเจน เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ผู้เขียนซึ่งเป็นคนโลภโมโทสันอยากจะ “ทุ่มเท” ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเพื่อเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากกลไกการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือไม่ ตอบตรง ๆ ว่าผู้เขียนคงไม่อยากเสี่ยงเท่าใดนัก เว้นแต่ผู้เขียนจะกลับตัวเป็น “คนดี” ที่ต้องการเข้ามา “รับใช้” ประชาชนจริง ๆ

                   เมื่อเราทุกคนทราบกันดีอยู่ว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นต้นตอของการทุจริตคอรัปชั่น แต่แปลกใจไหมครับว่าเหตุใดจึงไม่ค่อยมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความชัดเจน เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ทั้งที่สามารถกระทำได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 นั้นเป็นระเบียบภายในของฝ่ายปกครองตามมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้นเอง แก้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญตั้งเยอะ

                   อ๊ะ ๆ ๆ อย่าตอบนะครับว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 นั้นดีอยู่แล้ว ก็ถ้าดีจริงจะมีปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไรกัน???? เอ๊ะ!!! ถ้ารู้กันมาตั้งนานแล้ว เหตุไฉนเมื่อทราบว่ามันมีปัญหา แล้วทำไมที่ผ่าน ๆ มาจึงไม่มีใคร “ปฏิรูป” มันเสียที จนกระทั่งฝีมาแตกเอาในวันนี้???

                   จะว่าไปรัฐนั้นเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในประเทศ การใช้จ่ายของภาครัฐ (Government spending) จึงมีผลโดยตรงต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP  ดังนั้น หากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างชัดเจน เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก และคงไม่มีใครอยากเสี่ยงทุ่มทุนมหาศาลเพื่อใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเข้ามามีเอี่ยวในเรื่องนี้หรอก หรือถ้าจะมีบ้างก็คงไม่มากมายนักหรอกนะ

                   หรือท่านผู้อ่านว่าอย่างไรครับ???



[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557)  อนึ่ง บทความนี้เป็นผลงานทางวิชาการส่วนบุคคลของผู้เขียน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น