วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สวัสดิการแรงงานนอกระบบ: กองทุนการออมแห่งชาติ

นางสมาพร นิลประพันธ์[1]

                   ปัจจุบันยอมรับกันเป็นสากลแล้วว่าพัฒนาการทางการแพทย์ทำให้อัตราการเกิดของประชากรเกือบทุกประเทศนั้นต่ำลงอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น ผลที่ตามมาก็คือเกือบทุกประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุช้าบ้าง เร็วบ้าง แตกต่างกันไป

                   จะว่าไป การเป็นผู้สูงอายุนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เนื่องจากเมื่อเรามีอายุยืนยาวมากขึ้น เราก็ต้องมีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอตามควรแก่อัตภาพด้วย ที่สำคัญคือค่ากินอยู่และค่ารักษาพยาบาลนั่นแหละ เพราะผู้สูงอายุก็จะมีโรคหลากหลายมารุมเร้าราวกับหนุ่ม ๆ รุมจีบสาวสวย

                   สำหรับผู้มีเงินเดือนประจำหรือแรงงานในระบบนั้นคงไม่มีปัญหาสักเท่าใดนัก เพราะคนกลุ่มนี้จะถูกบังคับให้ออมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินออกเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ ที่สำคัญก็คือในระบบการออมภาคบังคับนี้ รัฐหรือนายจ้าง แล้วแต่กรณี จะช่วยออกเงินออมสมทบให้ส่วนหนึ่งด้วย  นอกจากนี้ โดยที่คนกลุ่มนี้มีรายได้ประจำ จึงสามารถแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งสำหรับออมแบบสมัครใจเพิ่มได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินกับสถาบันการเงิน การลงทุนในตลาดทุน ตราสารหนี้ ทองคำ ฯลฯ

                   แต่ผู้ซึ่งไม่มีเงินเดือนประจำหรือแรงงานนอกระบบนั้นไม่อยู่ภายใต้ระบบบังคับออม การออมจึงเป็นการดำเนินการโดยใจสมัครของแต่ละคน ซึ่งแม้จะสามารถทำได้เช่นเดียวกับการออมแบบสมัครใจของผู้มีเงินเดือนประจำดังกล่าวข้างต้นก็ตาม แต่โดยที่ผู้ซึ่งไม่มีเงินเดือนประจำซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นคนหาเช้ากินค่ำและมีรายได้ไม่มากนัก ลำพังจะฝากเงินกับสถาบันการเงินก็ยากอยู่แล้ว แถมยังได้ผลตอบแทนต่ำเสียอีก ส่วนการลงทุนในตลาดทุน ตราสารหนี้ ทองคำ ฯลฯ นั้น ลืมไปได้เลย

                   ผู้เขียนเห็นว่าความแตกต่างดังกล่าวสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ซึ่งมีกับไม่มีเงินเดือนประจำ และช่องว่างนี้จะยิ่งกว้างมากขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายล่วงเข้าสู่วัยสูงอายุ และเป็นการยากที่ผู้ซึ่งไม่มีเงินเดือนประจำจะมีรายได้เพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสมในสังคมที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และยิ่งสภาพครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปเป็นครอบครัวเดี่ยวขนาดเล็กมากขึ้น ผู้สูงอายุที่มีพื้นฐานมาจากผู้ซึ่งไม่มีเงินเดือนประจำจึงมีความเสี่ยงที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้นและยากลำบากยิ่งขึ้น

                   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำนี้ จึงบัญญัติไว้ในมาตรา 84 (4) ว่ารัฐต้องจัดให้มี “การออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง” และต่อมา รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของมาตรา 84 (4) ของรัฐธรรมนูญ โดยกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 แล้ว 

                   หลักการสำคัญของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 นั้นเป็นการเพิ่มวิธีการออมให้แก่ผู้ซึ่งไม่มีเงินเดือนประจำและไม่อยู่ในระบบสวัสดิการใด ๆ โดยหากผู้ซึ่งไม่มีเงินเดือนประจำและไม่อยู่ในระบบสวัสดิการใด ๆ สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ก็จะต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเดือนละห้าสิบบาทแต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบตามระดับอายุของผู้เป็นสมาชิกและเป็นอัตราส่วนกับเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน และเมื่อมีอายุครบหกสิบปี สมาชิกผู้นั้นจะได้รับบำนาญจากกองทุนไปจนตลอดชีวิต สำหรับการบริหารกองทุนนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และการสมัครเป็นสมาชิกของกองทุนก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด

                   ผู้เขียนเห็นว่าหลักการสำคัญของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 นั้นเป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ซึ่งมีกับไม่มีเงินเดือนประจำ ประกอบกับข้อมูลจากสรุปผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2554 อันเป็นปีที่กฎหมายใช้บังคับ จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่าในจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.3 ล้านคน นั้นเป็นแรงงานนอกระบบ (หรือไม่มีเงินเดือนประจำ) ถึง 24.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 62.6 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด  ดังนั้น หากการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติเป็นไปอย่างจริงจัง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานนอกระบบซึ่งไม่มีเงินเดือนประจำกว่ายี่สิบล้านคนทีเดียว

                   อย่างไรก็ดี นับแต่วันที่กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับมาจนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลากว่าสองปีแล้ว แต่ยังไม่มีการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายเลย โดยเท่าที่ผู้เขียนทราบแม้แต่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสมัครเป็นสมาชิกของกองทุนก็ยังไม่มีเลย แรงงานนอกระบบกว่ายี่สิบล้านคนจึงยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายนี้แต่ประการใดจนมีการขึ้นโรงขึ้นศาลกันแล้ว

                   ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอโหนกระแสปฏิรูปประเทศไทยวิงวอนให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งรีบดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายนี้โดยเร็ว หากกฎหมายมีบทบัญญัติใดที่ไม่ชัดเจนหรือต้องปรับปรุงแก้ไขในเรื่องใดก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างจริงจังและจริงใจ

                   ไม่งั้นเดี๋ยวแรงงานนอกระบบจะออกมาเรียกร้องทวงสิทธิเหมือนชาวนาที่ยังไม่ได้เงินจำนำข้าว มันจะยุ่งไปกันใหญ่นะเออ.




[1]ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสวัสดิการสังคม กองกฎหมายสวัสดิการสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557)  อนึ่ง บทความนี้เป็นความเห็นทางวิชาการของผู้เขียน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น