ช่วงนี้ดูเหมือนคำว่า Big Data จะฮอตฮิตติดลมบนมาก ใคร ๆ ก็พูดถึงกันทั้งนั้น แต่ไม่แน่ใจว่าแต่ละคนเข้าใจตรงกันหรือเปล่าว่ามันคืออะไร
ตอนแรก ๆ ผู้เขียนก็เหมือนกับหลายต่อหลายคนที่เข้าใจเอาเองว่าเจ้า Big Data คือการรวบรวมและการบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลที่มีอยู่อย่างเป็นระบบ เราจะได้นำข้อมูลเหล่านี้มาใช้งานได้อย่างเหมาะสม
แต่เมื่อไม่กี่วันนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสดูข่าวต่างประเทศข่าวหนึ่ง ทำให้เกิดพุทธิปัญญาว่าที่เข้าใจเอาเองมานานเกี่ยวกับ Big Data นั้นมันถูกนิดเดียว
ข่าวที่ว่านี้เขารายงานว่าเมื่อเดือนก่อนการท่องเที่ยวในประเทศหนึ่งบูมมาก คนแห่ไปดูดอกไม้บานกันใหญ่ ถ้าเป็นบ้านเราก็คงปลื้มกับตัวเลขนักท่องเที่ยวแล้ว แต่ประเทศนี้เขาไม่หยุดอยู่แค่นั้นครับ เขาบอกว่าเมื่อเขาวิจัย Big Data แล้วพบว่ามันกระจุกตัวอยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังไม่กี่แห่งเท่านั้น คำถามที่ตามมาก็คือทำอย่างไรจึงจะทำให้นักท่องเที่ยวกระจายไปทั่ว ๆ ได้เพื่อให้เงินของนักท่องเที่ยวกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึงอันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ทั่ว ๆ กัน เขาว่าผลจากการวิจัย Big Data ทำให้รู้ด้วยว่าเขาคงต้องปลูกต้นไม้ในเมืองอื่น ๆ เพิ่มเติมให้คนไปดูกันตามเมืองต่าง ๆ จัดเมืองให้สวยงาม สะอาด ส่งเสริมให้มีตลาดชุมชน ขายของดีของชุมชน รวมทั้งจัดสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย และจะทำอย่างไรไม่ให้การท่องเที่ยวกระทบวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นมากเกินไป เรียกว่ามองแบบครบวงจร
สิ่งที่เขาอธิบายต่อไปก็คือการวิจัย Big Data ของเขานั้น เขาไม่ได้ไปรวบรวมข้อมูลมากองในถังข้อมูลเหมือนธนาคารข้อมูล (Data Bank) ให้เมื่อยตุ้มเพราะมันเป็นไปไม่ได้ในโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มันมหาศาลมากและเกิดขึ้นทุกเสี้ยววินาที เช่น ใครไปเที่ยวไหนแล้วอัปโหลดรูปลงสื่อโซเชียลก็เป็น Data แล้ว หรือเล่นไลน์จากตรงไหนมันก็เป็น Data แล้ว แต่เขาใช้เทคนิคการตรวจสอบสัญญาณไวไฟครับเพราะเดี๋ยวนี้ใครจะไปเที่ยวประเทศเขา จะมีการเช่าพ็อกเก็ตไวไฟไปใช้กันด้วย และนักท่องเที่ยวแต่ละชาติก็มีช่องสัญญาณไม่ปะปนกัน เขาตรวจสอบจากการใช้ไวไฟครับว่านักท่องเที่ยวในภาพรวมแห่ไปตรงไหนกันบ้าง ในช่วงเวลาใด และนักท่องเที่ยวแต่ละชาติชอบไปที่ไหนกันในช่วงเวลาไหน ที่ละเอียดยิบย่อยลงไปอีกคือไปเฮกันอยู่ที่ร้านไหนอย่างไร เห็นที่เขาถ่ายภาพจอแสดงผลการใช้ไวไฟแล้วต้องยกนิ้วว่าเขาสุโค่ยจริง ๆ ขอบอก และเมื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูลรายได้ของผู้ประกอบการ ข้อมูลปริมาณขยะ ข้อมูลการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ข้อมูลสถิติอาชญากรรม ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ ก็จะยิ่งทำให้การวางแผนต่าง ๆ อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่แม่นยำ ไม่ใช่มโนเอาเองซึ่งมีโอกาสผิดพลาดสูงมาก แถมต่างคนต่างมโนนี่ยิ่งจะทำให้เลอะเทอะไปกันใหญ่ อย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่
ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า Big Data ไม่ใช่ Data Bank แต่เป็น "วิธีการใช้ประโยชน์" จากข้อมูลมากมายมหาศาลที่มันมีอยู่แล้วนี่แหละ โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ แล้วนำมาวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล แล้วนำผลการวิเคราะห์ที่ว่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการต่าง ๆ ไม่ใช่แค่การรวบรวมและการจัดระบบฐานข้อมูลเฉย ๆ
น่าสนใจมากนะครับเรื่องนี้ เป็นประโยชน์กับชาวบ้านร้านตลาดโดยตรงด้วย ผมว่าดีกว่าหาเรื่องทะเลาะกันเยอะแยะ
อย่ามัวนึกถึงแต่ตัวเอง นึกถึงสังคมส่วนรวม นึกถึงลูกหลาน นึกถึงคนยุคถัดไปบ้างเถิดครับ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น