วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

ว่าด้วยจิตวิญญาณ โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

เห็นจั่วหัวเรื่องมาอย่างนี้อย่านึกว่าผู้เขียนจะเปลี่ยนแนวไปเขียนเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องหลอน ๆ อะไรนะครับ แนวนั้นผู้เขียนไม่สันทัด จริง ๆ ออกจะกลัว ๆ ด้วยซ้ำไปเพราะตอนเด็ก ๆ ดูละครผี ๆ สาง ๆ มากจนขี้ขึ้นสมอง ต่อเมื่อโตขึ้นจึงรู้ว่าผีไม่น่ากลัว คนเป็น ๆ นี่น่ากลัวกว่าเยอะ ยิ่งเดี๋ยวนี้ผีไทยวิวัฒนาการไปทางฝรั่งและเอเชียตะวันออกมาก ยิ่งไม่น่ากลัว เพราะจากที่เคยมาแบบแลบลิ้นปลิ้นตาหรือแหวะอกหลอกหรือลอยมาแค่หัวกับเครื่องในอย่างผีกระสือนั้นแทบไม่มีแล้ว ไปแนวผีพอกหน้าขาวผมยาวปิดหน้ามาแบบนิ่ง ๆ เสียหมด สูญเสียอัตลักษณ์และเสน่ห์ของผีไทยไปอย่างน่าเสียดาย

จะว่าไป เรื่องวิวัฒนาการของผีข้างต้นก็เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นว่า "จิตวิญญาณแบบไทย ๆ" (Spirit of Thais) ของเรานั้นถูกกัดกร่อนไปมากจนน่ากลัว เพราะลุกลามไปถึงวงการผีแล้ว

ในทัศนะของผู้เขียน จิตวิญญาณ (Spirit) เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของความสำเร็จและเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนา

จริงอยู่ครับว่าการทำการทำงานต่าง ๆ นั้น เพียงทำตามระเบียบแบบแผนธรรมดาที่กำหนดมันก็เสร็จ มันก็เกิดผล ตามหลัก input > process > output แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียง "ผลธรรมดา" ที่ต้องเกิดขึ้น มันไม่ต่างจากการผลิตด้วยเครื่องจักร แต่การงานใดที่ทำด้วยใจ มันจะทำให้เกิด "ผลที่มีคุณค่า" ผลที่ว่านี้มันทำให้คนทำสุขใจ คนรอบกาย(หรือสังคม)ก็สุขสม

ช่วงสงกรานต์จะเป็นช่วงที่คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมาก เมื่อก่อนไปเพราะหนีร้อน แต่พอทางการญี่ปุ่นเขาโปรโมทการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เลยเลิกการขอวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวไทย คนไทยก็เลยแห่ไปกันเพราะจะไปดูซากุระบานแทนที่จะเล่นน้ำสงกรานต์

ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่าเขียนถึงจิตวิญญาณในการทำงานอยู่ดี ๆ ไหงเลื้อยมาซากุระกับสงกรานต์ได้

จะว่าไปซากุระนั้นเป็นสัญลักษณ์ของชาวญี่ปุ่น มีคุณตาคนหนึ่งชื่อ Toemon Sano อายุเกือบเก้าสิบปีแล้ว ท่านเป็นภูมิสถาปนิกและหลงใหลซากุระมาก คุณตาและบรรพบุรุษสองรุ่นก่อนต้องต่อสู้กับนักพัฒนาที่ดินมาตลอดชีวิตเพื่อให้คงพื้นที่ซากุระไว้เป็นมรดกของชาติและเป็นปอดของเมือง ดูแล บำรุงรักษา และตัดแต่งต้นซากุระอย่างถูกวิธีเพื่อให้ซากุระเบ่งบานในฤดูใบไม้ผลิ รวมทั้งคอยย้ำเตือนถึงขนบประเพณีที่ถูกต้องและเหมาะสมในการชื่นชมซากุระ  ขอบอกนะครับ ซากุระต้นใหญ่ยักษ์ทั้งหลายตามปราสาทต่าง ๆ ของญี่ปุ่นที่เรา ๆ ไปถ่ายรูปมาอวดกันล้วนเกิดจากฝีมือคุณตาทั้งนั้นครับ

ท่านบอกว่าท่านไม่ได้ปกป้อง (protect) ต้นซากุระ แต่ดูแล (take care) มัน ท่านเห็นว่าการปกป้องทำเพื่อให้มันคงอยู่ แต่การดูแลต้องใส่ใจลงไป ไม่ใช่แค่ทำให้ผ่าน ๆ ไป หากต้องเข้าถึงและเข้าใจมัน ท่านยกตัวอย่างการปูพื้นทางเดินว่าต้องห่างจากโคนต้นพอที่จะทำให้ระบบรากของต้นไม่กระจายได้ตามธรรมชาติ และเพื่อให้น้ำไหลลงไปถึงรากไม้ได้สะดวก ไม่ใช่สักแต่ปูพื้นหรือเทคอนกรีตจนทับระบบรากของต้นไม้อย่างที่ไหน ๆ เขาทำกัน การตัดแต่งก็ต้องคำนึงถึงรูปทรงและการรักษาชีวิตของต้นไม้ด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าตัด ๆ ให้มันด้วน ๆ ไป

การทำงานที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของคุณตาท่านนี้และบรรพบุรุษ ทำให้คนแห่กันไปดูซากุระบานที่ญี่ปุ่นปีละหลายสิบล้านคน สร้างความสุขให้แก่ผู้คน สร้างรายได้ให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมหาศาล และเผยแผ่ศิลปะวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วโลก

นี่คือผลของการทำงานที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ มันสร้างผลงานที่มีคุณค่า

ทำเรื่องธรรมดาให้กลายเป็นความมหัศจรรย์.














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น