วันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2560

การศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง 1 โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสไปสัมผัสระบบการพัฒนานักเรียนของนิวซีแลนด์ด้วยตนเอง เห็นว่าเป็นประโยชน์มาก ควรที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อใครสนใจจะนำมาใช้บ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่อนาคตของชาติ 

ผู้เขียนในฐานะผู้ปกครองได้รับเชิญไปพบกับคณะครูเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนานักเรียน การที่ผู้ปกครองพบครูที่นี่แตกต่างจากที่ผู้เขียนเคยพบในบ้านเราที่เป็นการพบครูประจำชั้น 1-2 คน และพบทีเดียวกันทั้งห้อง ไม่มีเวลาให้ถามไถ่อะไรนัก เน้นเก็บเงินห้องบ้าง ขายบัตรขายโต๊ะอะไรต่าง บ้าง แต่ครั้งนี้ผู้เขียนไปพบกับคณะครู 4-5 คน เพื่อพูดคุยถึงการพัฒนานักเรียนคนเดียว ใจงี้เต้นตึกตักว่านักเรียนของเราไปทำอะไรผิดหรือเปล่าหว่า 

ด้วยความสงสัยจึงแข็งใจถามว่าทำอย่างนี้เป็นปกติหรือเปล่า เขาตอบว่าเป็นปกติเพราะเด็กแต่ละคนมีบุคลิกภาพและความสามารถแตกต่างกัน การพัฒนานักเรียนจึงต้องทำเป็นรายบุคคล จะทำเป็นกลุ่ม ไม่ได้ ว่าแล้วเขาก็นำผลการเรียนของนักเรียนมาให้ดูตามด้วยการวิเคราะห์เจาะลึกโดยมีข้อมูลประจำตัวของนักเรียนมาประกอบละเอียดยิบ ทั้งข้อมูลในชั้นเรียน ข้อมูลนอกชั้นเรียน และข้อมูลที่เจ้าของบ้านที่นักเรียนพักอยู่ด้วยรายงานมา

สำหรับนักเรียนของผู้เขียน ครูดูจากวิชาบังคับคืออังกฤษ เลข และพละ กับวิชาเลือกอีกสามวิชาคือภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ประกอบกับการพูดคุยกับเด็กนักเรียนแล้ว เขาพบว่านักเรียนมุ่งเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยสายกฎหมาย รัฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ เขาจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเรื่องวิธีคิดและภาษาของนักเรียน แม้เขาเรียนวิชาเหล่านี้ร่วมกับนักเรียนสายวิทย์และใช้ข้อสอบอัตนัยชุดเดียวกันก็จริง แต่ครูบอกว่าเวลาให้คะแนนจะต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายหรือความตั้งใจของเด็กแต่ละคน ให้คะแนนมาตรฐานเดียวกันไม่ได้ เช่น ถ้านักเรียนไปสายวิทยาศาสตร์ เขาจะตรวจให้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษแบบทั่วไป แต่ถ้าเด็กคนไหนมุ่งจะไปเรียนในสาขาที่นักเรียนของผู้เขียนสนใจ เขาจะเคร่งครัดกับวิชาภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ เอาเป็นว่าถ้าทำได้พอ กัน เด็กวิทย์จะได้คะแนนเป็นตัวเลขสูงกว่าเด็กที่มุ่งไปเรียนสายอื่น เพราะการเรียนกฎหมายก็ดี รัฐศาสตร์ก็ดี เศรษฐศาสตร์ก็ดี ต้องใช้ภาษาในการเรียนและการทำงานมากกว่าเด็กวิทย์ 

ผู้เขียนฟังแล้วทึ่งกับวิธีคิดของเขามาก นี่เป็นการพัฒนานักเรียนให้ตรงตามศักยภาพแท้ ถึงครูจะมีภาระต้องมานั่งแยกแยะว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร เขาก็เลือกที่จะทำเพื่ออนาคตของเด็ก ผู้เขียนจึงถึงบางอ้อว่าการศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางจริง มันเป็นอย่างนี้นี่เอง และไม่แปลกใจที่ว่าทำไมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเขาจึงอยู่ในอันดับต้น ของโลก

นอกจากนี้ เขาไม่เน้นให้เด็กเอาแต่เรียน เขาว่าเด็กต้องอยู่ในสังคม ต้องมีสุขภาพแข็งแรงและเติบโตสมกับวัย รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่าง เขาจึงส่งเสริมให้เด็กใช้เวลาว่างนอกจากการเรียนในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นให้มาก เขาแนะนำให้ทุกคนเข้าชมรมอย่างน้อยคนละชมรมสองชมรม และเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ เด็กในชมรมจะเป็นตัวแทนโรงเรียนในรุ่นต่าง ไปแข่งขันกับโรงเรียนอื่นเสมอ   จึงต้องมีการฝึกซ้อมเป็นประจำ ซึ่งเป็นการสร้างวินัยและความรับผิดชอบให้เด็กโดยปริยาย ไม่ใช่อยู่แบบตัวใครตัวมัน หรือถือประโยชน์ส่วนตัวของกูมาก่อน ผลลัพธ์ที่ดีจึงตกแก่สังคมส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นการเคารพผู้อื่น การเคารพกฎเกณฑ์ของสังคม การคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว

บ้านเราท่องกันว่านักเรียนเป็นศูนย์กลาง แต่เป็นจริงหรือเปล่าไม่รู้ เพราะเด็กถูกส่งออกไปเรียนพิเศษตั้งแต่อนุบาลเพื่อให้สามารถสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้ หลายคนถึงขนาดยอมจ่ายค่าแปะเจี๊ยะจำนวนมากเพื่อให้ลูกได้เข้าโรงเรียนระดับท้อป แต่พอเข้าไปแล้วก็ยังไปเรียนพิเศษกันอีก กลายเป็นว่าเครื่องแบบนักเรียนเป็นชุดอันศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องมีของดีไว้ใส่ แต่ความรู้ต้องไปขวนขวายเอาจากการเรียนพิเศษ นับเป็นอะไรที่ประหลาดมาก เสียเงินสองต่อสามต่อ

ก็เล่าให้ฟังน่ะครับ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น