พลเอก กฤษณะ
บวรรัตนารักษ์
ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๐ ของประเทศไทย ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๖
เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ มี ๑๖ หมวด กับบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น ๒๗๙ มาตรา ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีบางประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจเกี่ยวข้องกับทางราชการทหาร
ที่สมควรนำมาสรุปเพื่อเป็นการเผยแพร่ให้กับส่วนราชการทหารและเจ้าหน้าที่ทหารได้ทราบประกอบการปฏิบัติราชการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ได้ผลดีต่อไป
ดังนี้
๑. การปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการทหารด้วย
ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวมตามมาตรา ๓ วรรคสอง กล่าวคือ ส่วนราชการทหารต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญ
หรือกฎหมายบัญญัติ มิใช่ปฏิบัติหน้าที่ตามอำเภอใจ ทุกปฏิบัติการหรือภารกิจจะต้องมีกฎหมายรองรับ
เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจใช้อำนาจได้ หากไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
โดยกฎหมายที่บัญญัติขึ้นนั้นต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม กล่าวคือ ทันสมัย เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของสังคม
ดังนั้น การบริหารราชการแผ่นดินและราชการทหารต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐ
กล่าวคือ ต้องบริหาราชการแผ่นดินและราชการทหารตามกฎหมาย จะดำเนินการใดได้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจชัดแจ้ง ในเรื่องใดที่กฎหมายมิได้ให้อำนาจไว้
จะกระทำการนั้นมิได้ และในเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจดำเนินการแล้ว
ต้องใช้อำนาจนั้นในทางที่เป็นประโยชนต่อประชาชนมากที่สุด โดยจำกัดสิทธิและเสรีภาพหรือสร้างภาระแก่ประชาชนน้อยที่สุดด้วย
๒. ทหารย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป
เว้นที่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย
หรือจริยธรรมตามมาตรา ๒๗ วรรคห้า
ซึ่งหมายความว่าในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรมของข้าราชการทหารสามารถแตกต่างจากของประชาชนทั่วไปได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
เนื่องมาจากภารกิจหน้าที่ของข้าราชการทหารจำเป็นจะต้องเข้มข้นหรือเคร่งครัดในบางเรื่องมากกว่าที่ใช้กับบุคคลธรรมดา
เช่น ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๙ พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๖ และระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยประมวลจริยธรรม
พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้น
๓. บุคคลและชุมชนมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของส่วนราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ และสามารถเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อส่วนราชการทหารและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ตลอดจนฟ้องส่วนราชการทหารให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของข้าราชการทหาร
พนักงาน หรือลูกจ้างของส่วนราชการทหาร ตามมาตรา ๔๑ โดยรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองที่ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ
และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก ตามมาตรา ๕๙
ซึ่งเรื่องข้อมูลข่าวสารของราชการจะเปิดเผยได้หรือไม่เพียงใดเป็นไปตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ
พ.ศ. ๒๕๔๐ และเมื่อมีการร้องทุกข์ส่วนราชการทหารจะต้องรีบตรวจสอบแล้วแจ้งผลการตรวจสอบให้บุคคลหรือชุมชนที่ร้องทุกข์ทราบโดยเร็ว
และหากมีการปฏิบัติหน้าที่โดยกระทำหรืองดเว้นการกระทำอาจถูกฟ้องร้องทั้งทางปกครอง
อาญา หรือแพ่งได้
๔. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
สามารถจำกัดเสรีภาพการชุมนุมข้างต้นได้ตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ตามมาตรา ๔๔ กฎหมายที่เกี่ยวข้องในที่นี้โดยตรง
คือ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ
พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบหลักโดยทั่วไป แต่ในบางกรณีส่วนราชการทหารอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้
๕. การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวด
๕ ตั้งแต่มาตรา ๕๑ ถึงมาตรา ๖๓ ประชาชนและชุมชนมีสิทธิที่จะติดตามและเร่งรัด
รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในทุกมาตราดังกล่าวบัญญัติใช้คำว่ารัฐ "ต้อง" ดำเนินการ
ซึ่งจะแตกต่างจากหมวด ๖ แนวนโยบายแห่งรัฐ ตั้งแต่มาตรา ๖๔ ถึงมาตรา ๗๘ ซึ่งในทุกมาตราดังกล่าวใช้คำว่ารัฐ"พึง"ดำเนินการ
ประชาชนและชุมชนไม่อาจมีสิทธิที่จะติดตามและเร่งรัด รวมตลอดทั้งไม่อาจฟ้องร้องได้เช่นที่บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งในหมวด ๕ นี้มีมาตราที่สำคัญยิ่งที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมและส่วนราชการทหาร
คือ มาตรา ๕๒ ที่บัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์
เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย
เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
โดยรัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้กำลังทหารเพื่อพัฒนาประเทศได้
การที่รัฐต้องจัดให้มีการทหารที่มีประสิทธิภาพนั้นหมายความรวมถึงรัฐต้องจัดให้มีกำลังทหาร
อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยี ที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ
เพื่อสามารถพิทักษ์รักษาตามที่กล่าวข้างต้นด้วย รวมทั้งในการพิทักษ์รักษาดังกล่าวไม่อาจใช้เฉพาะการทหารเพียงอย่างเดียว
ต้องใช้หรือคำนึงถึงการทูตและการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วย
และมีบทบัญญัติชัดเจนให้ใช้กำลังทหารเพื่อพัฒนาประเทศได้
กฎหมายที่มีบทบัญญัติโดยตรงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม คือ
พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑
ส่วนการใช้กำลังทหารเป็นไปตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการใช้กำลังทหาร
การเคลื่อนกำลังทหาร และการเตรียมพร้อม พ.ศ. ๒๕๔๕
๖. รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นเป้าหมายพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล
เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน
ซึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ตามมาตรา ๖๕
ซึ่งต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศหรือยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ
๗. รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินและงานของรัฐให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
การใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด
รวมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และให้บริการแก่ประชาชนให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว
ไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งรัฐพึงดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม ป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือการกระทำโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ตามมาตรา ๗๖ ซึ่งหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมีบัญญัติในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้แก่ การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังต่อไปนี้
(๑)
เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
(๒) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
(๓) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
(๔) ไม่มีขั้นตอนปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
(๕)
มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
(๖)
ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ และ
(๗)
มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนคุณธรรมหมายถึง
การยึดมั่นในความถูกต้องดีงามของศีลธรรม จริยธรรม
และวัฒนธรรมที่สังคมยอมรับว่าพึงปฏิบัติ
ที่ควรรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม
โดยรวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้มีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ส่วนจริยธรรมหมายถึงข้อควรประพฤติปฏิบัติ
อะไรเป็นสิ่งดี อะไรเป็นสิ่งไม่ดี อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ สำหรับการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามระบบคุณธรรมหมายถึงการพิจารณาที่เสมอภาค
เที่ยงธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส พิจารณาจากความสามารถโดยยึดผลงานและสมรรถนะเป็นหลัก
นอกจากนั้น สามารถชี้แจงเหตุผลกับอธิบายตอบประเด็นข้อสงสัยให้เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในองค์กรนั้นได้อย่างแท้จริง
๘. คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด
หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในกิจการที่กำลังกระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้
และให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบที่จะต้องสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหรือ
ในกำกับ ไปให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียก
ตามมาตรา ๑๒๙ ในกรณีดังกล่าวคณะกรรมาธิการจะมีหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทุกครั้ง
ซึ่งมีการกำหนดขั้นตอนในพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
พ.ศ. ๒๕๕๔ และพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทกำหนดโทษอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืนด้วย
๙. การห้ามไม่ให้กระทำการใดๆ
อันเนื่องมาจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายอันมีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย ตามมาตรา ๑๔๔ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรงบประมาณ
โดยรู้ว่ามีการแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการ
หรือมีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ
ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา
หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือหรือมีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบ
ให้พ้นจากความรับผิด
๑๐. พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ตามมาตรา ๑๗๖
ซึ่งกฎหมายดังกล่าวหมายถึงพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ สรุปได้ว่า
การประกาศใช้กฎอัยการศึกและการเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่คณะรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายมีประกาศพระบรมราชโองการ ซึ่งการประกาศใช้กฎอัยการศึกดังกล่าว เนื่องมาจากมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัยซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักร
ส่วนผู้บังคับบัญชาทหารซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพันสามารถประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน
เนื่องมาจากมีสงครามหรือจลาจลขึ้นในพื้นที่ที่รับผิดชอบเท่านั้น
โดยผู้บังคับบัญชาทหารที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งไม่อาจประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งดังกล่าวได้เอง
ต้องเสนอเรื่องตามสายงานไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อมีประกาศพระบรมราชโองการเลิกใช้ต่อไป
๑๑. หนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่คณะรัฐมนตรีต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ
มี ๔ ประเภท ได้แก่ ๑) หนังสือสัญญาทีมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ
๒) หนังสือสัญญาทีมีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา
หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ๓)
หนังสือสัญญาที่รัฐบาลจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา และ
๔) หนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า
หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี
เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน
หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
ตามมาตรา ๑๗๘ ซึ่งบทบัญญัติในมาตรานี้มีผลให้กระทรวงกลาโหมและคณะรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าต้องเสนอหนังสือสัญญาระหว่างประเทศจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล
(G
to G) ให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อไป หรือไม่
เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีบทบัญญัติให้หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาซึ่งเดิมถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ฉบับพุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ รวมทั้งบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไประหว่างราชอาณาจักรไทยกับมิตรประเทศก็ไม่จำเป็นต้องเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกต่อไปเช่นกัน
สรุป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบและแนวทาง การปกครองประเทศ มีบทบัญญัติในบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการทหารและเจ้าหน้าที่ทหาร
ที่จะต้องยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติราชการ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย
จึงจำเป็นที่ส่วนราชการทหารและเจ้าหน้าที่ทหารควรมีความรู้ความเข้าใจบทบัญญัติดังกล่าวเป็นอย่างดี
ซึ่งการที่กำลังพลของกองทัพทุกนายทุกระดับชั้นมีความรู้ความเข้าใจในรัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบันเป็นอย่างดี
จะมีส่วนส่งเสริมให้การปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมและทางราชการทหารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น